พื้นที่และการเล่นแร่แปรธาตุ: Simon Starling
“The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, With The Chinese Shoemakers in Working Costume, CA. 1875)”
บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)
ผลงานวิจัยที่ใช้ชุดความรู้ด้านทัศนศิลป์เป็นแกนหลัก ในกระบวนการสร้างสรรค์โดยมีวัตถุประสงค์เชิงทัศน์ศิลป์ มิใช่งานวิจัยที่เป็นงานเขียนเล่มหนาๆอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากเป็นงานวิจัยฯ ที่ศิลปินทำหน้าที่เป็นวาทยกร หรือผู้กำกับดูแลในขั้นตอนของการได้มาซึ่งชุดความรู้ และผลงานที่ผลิตสร้างขึ้นโดยอาศัยวิธีวิทยาจากองค์ความรู้ข้ามศาสตร์(cross-disciplinary) เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯ ประยุกต์กระบวนการต่างๆ ไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายและนำเสนอออกมาในรูปนิทรรศการโดยอาจมีการผสมผสานเข้ากับสื่อ (media) หรือ art form หรือแม้แต่ตัวบท (textural) ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างและการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้คนประกอบสร้างความหมายได้ด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญ
ความหมายเกี่ยวกับ ที่ตั้ง สถานการณ์ และประสบการณ์ (Site, situation and experience) มีความสำคัญอย่างมากในงานศิลปะร่วมสมัยปัจจุบัน การรับรู้เชิงภูมิศาสตร์มีผลต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ต่อที่มาและพัฒนาการของสถานที่หรือเทศะนั้นๆ ว่าให้ความหมายแก่มนุษย์อย่างไร พื้นที่และสถานที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่หรือสถานที่อย่างท้องสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ ที่เคยเป็นพื้นที่โบราณราชประเพณีมีความเกี่ยวข้องตามธรรมเนียมโบราณในการปลงพระศพเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กลับถูกใช้เป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับเผาศพราษฎรเป็นครั้งแรกหลังการปราบกบฏบวรเดช
เป็นความจงใจที่คณะราษฎรต้องการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่เฉพาะหวงห้าม ให้มีบทบาทและเป็นการรื้อสร้างความหมายเชิงพื้นที่เสียใหม่ การให้นิยายและความหมายใหม่ได้กลายสภาพพื้นที่ให้เป็นสาธารณะ และเมื่อ 20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่งพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นที่ถกเถียงและถูกตีความอีกครั้ง และมันได้ขยายตัวไปสู่พื้นที่ในรูปแบบที่สามรถแปรเปลี่ยนได้ จากพื้นที่หมุดหมายไปจนถึงพื้นที่บนเตาหมูกระทะ เป็นพื้นที่เชิงจินตภาพที่สามารถผลิตซ้ำและบรรจุความหมายซ้อนลงไปในสำนึกของผู้คนจำนวนมาก
การทำความเข้าใจต่อศิลปะกับพื้นที่ มีความจำเป็นต้องศึกษาสภาพของพื้นที่ในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ด้วยการศึกษาพื้นที่และสถานที่ในฐานะประสบการณ์ทางทัศนียภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ในแบบที่มีอคติหรือไม่ เวลาและประสบการณ์ซึ่งเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมต่อสถานที่นั้นจะเป็นกรอบพื้นฐานทางสังคมเสมอ พฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์จึงเป็นตัวกำหนดให้สถานที่ต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
เรามาทำความเข้าใจบทบาทและแนวคิดวิธีวิทยาที่เชื่อมโยงกับประเด็นที่เกร่นมาข้างต้น ผู้เขียนหยิบยกผลงานที่มีชื่อยาวเหยียด The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, With The Chinese Shoemakers in Working Costume, CA. 1875) ศิลปินโดย Simon Starling เป็นผลงานที่น่าสนใจและสามารถอธิบายเชื่อมโยงเรื่องพื้นที่และสถานที่เชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ
Starling เป็นศิลปินชาวอังกฤษ เกิดในปี 1967 ที่เมือง Epsom ทางตะวันออกเฉียงตอนใต้ของกรุงลอนดอน จบการศึกษาจาก Glasgow School of Art ในปี 1992 และได้รับรางวัล Turner Prize ในปี 2005 ผลงานของเขาถูกจัดแสดงอยู่ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ อาทิ Solomon R. Guggenheim Museum, Museum of Contemporary Art Chicago, San Francisco Museum of Modern Art, Kroller Muller Museum Netherlands ฯลฯ ปัจจุบันเขาพำนักและปฏิบัติงานอยู่ที่ Copenhagen และ Berlin
ผลงาน The Nanjing Particles ชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2008 ถือได้ว่าเป็นงานสื่อผสมจัดวางขนาดใหญ่ ซึ่งปกติและผลงานอื่นๆของ Starling ก็มักจะเป็นงานในลักษณะเช่นนี้ เขาเป็นศิลปินที่ทำงานโดยนำเอาสิ่งต่างๆทั้งด้านข้อมูลเนื้อหาและสื่อ ผสมกันในลักษณะปะติดปะต่อเชื่อมโยงร้อยเรียงจนกลายเป็นชิ้นงานที่สามารถอ่านได้ในหลายมิติทั้งเชิงบริบทของพื้นที่ประวัติศาสตร์ และตั้งคำถามปลายเปิดให้ผู้ชมสามารถตีความผ่านสุนทรียะที่ศิลปินวางไว้
ผลงาน The Nanjing Particles เป็นผลงานสื่อผสมจัดวาง(multimedia installation) ประกอบด้วยประติมากรรมโลหะสแตนเลส ขนาด 200 x 420 x 150 cm และ 200 x 450 x 170 cm จำนวน 2 ชิ้น ติดตั้งภายในห้องจัดแสดงรวมถึงภาพถ่ายขาวดำ Inkjet print ขนาด 6 x 13 m ติดตั้งบนพนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นสองส่วน และภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็กอีกหนึ่งชุดรวมกับสื่ออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผลงานชุดนี้เป็นงานที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อย้อนภาพประวัติศาสตร์การใช้แรงงานเชิงอุตสาหกรรมแห่งเมือง North Adams มลรัฐ Massachusetts
North Adams ในอดีตเมื่อปี คศ. 1870 เคยเป็นชุมชนที่มีประชากรชาวจีนอพยพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดย Calvin T. Sampson ได้คิดริเริ่มนำเข้าแรงงานชาวจีนหนุ่มสาวเพื่อมาทดแทนลูกจ้างเดิมซึ่งนัดหยุดงานประท้วงโดยสหภาพแรงงาน ส่งผลให้โรงงานผลิตรองเท้า Sampson ต้องหยุดชะงัก และยังได้สร้างความหวังให้กับเจ้าของกิจการรายอื่นๆ ในมลรัฐ Massachusetts ให้หันมาใช้แรงงานชาวจีน แรงงานชาวจีนจำนวน 75 คนแรกเดินทางโดยรถไฟใช้เวลา 2 สัปดาห์ ข้ามฝั่งมาจาก San Francisco รายงานข่าวจากทาง Boston ระบุว่าเมื่อพวกแรงงานชาวจีนมาถึงผู้คนในเมือง North Adams ต่างรู้สึกถึงความไม่พอใจ พวกเขาถ่มน้ำลายใส่แรงงานกลุ่มนี้ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ศิลปินได้สืบค้นข้อมูลและค้นพบภาพถ่ายซึ่งกลายเป็นสารตั้งต้นในงานสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผ่านภาพถ่ายและบันทึกเพื่อหาความสัมพันธ์ของการเคลื่อนย้ายแรงงาน และเหตุปัจจัยในการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่เมือง North Adams เพื่อรื้อสร้าง(Deconstruction) ประวัติศาสตร์ของพื้นที่เสียใหม่ด้วยขนวนการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์
โดยการสืบค้นจากภาพถ่าย เราสามารถเชื่อมต่อประเด็นเรื่องของที่ตั้ง สถานการณ์ และประสบการณ์ร่วมในพื้นที่ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง (Site, situation and experience) ซึ่งปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ไม่สามารถนิยามสถานที่ในอดีตแห่งนี้ได้หากปราศจากชุดข้อมูลใดๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าพื้นที่และสถานที่ซึ่งถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ๆ ซึ่งสามารถถูกยึดครอง มีตัวตนและถูกรับรู้ได้ เป็นพื้นที่ยึดครองโดยคุณค่าของวัตถุหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาผลงาน The Nanjing Particles ในฐานะภาพถ่ายตามแนวคิดของ Susan Sontag สามารถกล่าวได้ว่า Document หรือภาพถ่ายต่างๆ ในอดีตก็คือบันทึกประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ในอดีตของผู้คนที่มีความน่าพิศวงต่อเราในปัจจุบันและอนาคต
Sontag มองว่าภาพถ่ายได้มอบสิทธิพิเศษแห่งจินตภาพของอดีตที่น่าสงสัยแก่เรา มันได้ช่วยให้เรามีสิทธิในพื้นที่ซึ่งดูแล้วไม่มั่นคงและไม่แน่ใจ หรือแม้แต่การเกิดคำถามมากมายต่อภาพถ่ายภาพหนึ่ง สถานที่มากมายแสดงถึงความทรงจำต่อปัจเจกและสาธารณะ บางครั้งสถานที่สามารถสร้างให้เกิดความทรงจำที่ดีหรือเลวร้ายได้เช่นเดียวกับอนุสรณ์สถาน
เมื่อใดที่มนุษย์เริ่มรู้สึกมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ขึ้นมาไม่ทางใดทางหนึ่ง เมื่อนั้นพื้นที่จะถูกหลอมรวมกลายเป็นสถานที่ การเคลื่อนย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสถานที่ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ในการปรากฏแสดง พื้นที่และสถานที่จึงเป็นสิ่งที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้สถานที่จึงเป็นประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์นั้นเอง
ผลงาน The Nanjing Particles มีประเด็นเรื่องพื้นที่-สถานที่และมิติของเวลาในด้านรูปแบบและเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการๆ แรกกับคำถามที่ว่าภาพถ่ายนี้ถ่ายที่ไหน และผู้คนในภาพถ่ายนั้นคือใคร ตามบันทึกและข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงหลักฐานระบุว่า คือภาพถ่ายบริเวณหน้าโรงงานทำรองเท้า Sampson ถ่ายไว้ในปี คศ. 1875 ปรากฏภาพกลุ่มคนที่ถูกจัดให้ออกมายืนอยู่หน้าอาคาร และช่างภาพได้ถ่ายภาพนี้ไว้ในช่วงที่สหภาพแรงงานนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อกดดันให้แรงงานชาวอเมริกันออกมาชุมนุมเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและสิทธิแรงงานในมลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา ในภาพที่ปรากฏคือแรงงานชาวจีนที่นำเข้ามาผลิตรองเท้าทดแทนสายการผลิตเดิมที่หยุดชะงักไป พวกเขาเป็นแรงงานข้ามชาติราคาถูก ภาพถ่ายชิ้นนี้ยังยืนยันได้ว่าโรงงานแห่งนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของกลุ่มสหภาพแรงงานในขณะนั้น และยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ร่วมลงทุนในกิจการอีกด้วย
ประการต่อมาศิลปินได้นำภาพถ่ายสองภาพซึ่งค้นพบในอัลบั้มเก็บภาพเก่าจากห้องสมุดสาธารณะที่ North Adams เป็นภาพถ่ายขนาดเล็ก 3×3 นิ้ว นำมาวางคู่กัน เพื่อสร้างให้เกิดภาพในลักษณะ 3 มิติ โดยเทคนิคการสร้างภาพที่เรียกว่า Acoucryptophone เป็นวิธีสร้างภาพ 3 มิติในยุคแรกๆ ประดิษฐ์คิดค้นโดย เซอร์ ชาร์ล วีตสโตน ในปี ค.ศ. 1838 ด้วยการถ่ายภาพ 2 ภาพในลักษณะเดียวกัน แต่เยื้องตัวกล้องขณะถ่ายภาพแต่ละภาพให้ภาพมีระยะห่างออกจากกันเล็กน้อยประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำสองภาพที่ได้มาวางเคียงกัน โดยให้ดวงตาแต่ละข้างของผู้มองๆ สองภาพที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย เพื่อปรับระยะห่างให้เหมาะสมกับขนาดของภาพ สมองของเราจะนำสองภาพมารวมกันแล้วแปรผลออกมาเป็นภาพเดียวที่มีมิติตื้นลึก เสมือนกับการที่สองตาของเรามองเห็นวัตถุจริงตามธรรมชาติ ศิลปินเลือกใช้วิธีนี้เพื่อนำเสนอภาพถ่ายสองมิติในลักษณะสามมิติ
ที่สำคัญเราจะสังเกตเห็นว่าภาพถ่ายในผลงาน The Nanjing Particles ทั้งสองภาพถูกเจาะให้เป็นรูขนาดใหญ่ภาพละหนึ่งรู ความน่าสนใจอยู่ที่ศิลปินมิได้ใช้ภาพถ่ายในเชิงประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่หากมีเป้าหมายในการขุดค้นลงลึกไปในมวลสารและของเหลวที่ได้จากภาพถ่ายขาวดำแบบดังเดิมซึ่งใช้วิธีอัดภาพด้วยขบวนการ silver printing ในประเด็นนี้ศิลปินทำงานไม่ต่างจากนักขุดเจาะเหมือง ที่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อแยกเอาแร่ธาตุที่ปนเปื้อนอยู่ในมวลสารออกจากกัน
ในขั้นตอนนี้ศิลปินได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ที่เมือง Albany มลรัฐ New York เพื่อแยกสารประกอบแร่ธาตุออกจากภาพถ่ายด้วยเครื่องขยายที่เรียกว่า electron microscope ด้วยขนาด 1 ล้าน volt เพื่อเป็นการส่องกล้องขยายสัดส่วนสิ่งต่างๆ ที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้วขยายให้สามารถมองเห็นภาพ 3 มิติของเกล็ดของเหลวสีเงินที่แยกตัวออกจากพื้นผิวที่เคลือบอยู่บนกระดาษอัดภาพ ในฐานะเป็นจิตนการแห่งความจริง (imagined reality) เพื่อแกะเอาสิ่งที่ซ้อนอยู่ภายในพื้นผิวกระดาษอัดรูปออกมาให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่ง Starling ได้อธิบายว่าผลงาน The Nanjing Particles คือตัวอย่างผลการทำงานแบบ hybrid ระหว่างข้อมูลกับสสาร และความเป็นจริงจากสิ่งที่ผสมปนเปกันระหว่างเคมีกับดวงตา
ขั้นตอนต่อไปศิลปินได้เรนเดอร์รูปทรงผลึกของเหลวแล้วขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในอัตราส่วน 1 ล้านเท่าจากขนาดดั้งเดิมแล้วนำไปสแกนเป็นรูปทรง 3 มิติ ของสสารซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับภาพ Biomorphic ขนาดใหญ่ จากนั้นศิลปินได้ส่งภาพสแกน 3 มิติไปยังเมือง Nanjing ประเทศจีน เพื่อให้แรงงานชาวจีนทุบขึ้นรูปทรงด้วยมือ (Forged stainless steel) ด้วยวัสดุโลหะสแตนเลส จากนั้นช่างผู้ชำนาญชาวจีนได้ทำการประกอบรูปทรงแต่ละส่วนเข้าด้วยกันและขัดเงาจนแวววาวเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะนำส่งกลับมาที่เมือง North Adams อีกที เพื่อนำมาจัดแสดงใน Mass MOCA’s (Massachusetts Museum of Contemporary Art) ที่ซึ่งครั้งหนึ่งก็คือโรงงานผลิตรองเท้า Sampson นั้นเอง
ส่วนสุดท้ายที่อยากพูดถึงในผลงาน The Nanjing Particles เห็นจะเป็นส่วนขยายภาพถ่ายจากภาพต้นฉบับทั้งสองภาพในขนาด 6 x 13 m ติดตั้งลงบนพนังขนาดใหญ่เกือบจรดเพดาน และรูที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นตามสัดส่วนเพื่อเปิดช่องให้ผู้ชมที่เดินเข้ามาจากด้านหน้าสามารถมองทะลุเห็นประติมากรรมตั้งอยู่เบื้องหลัง สะท้อนความมันวาวปรากฏอยู่กลางรูที่เจาะออก การที่ศิลปินนำภาพถ่ายต้นฉบับมาขยายคล้ายจะบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร เป็นการเชื่อมโยงพื้นที่จากอดีตในฐานะโรงงานทำรองเท้า Sampson’s Shoe Manufactory และพื้นที่ปัจจุบันในฐานหอศิลปะร่วมสมัย MASS MoCA (Massachusetts Museum of Contemporary Art) ให้มาบรรจบกันอย่างมีนัยสำคัญ
นิทรรศการ The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, with the Chinese Shoemakers in working costume, North Adams and vicinity, ca. 1875), ครั้งนี้ถูกจัดแสดงขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันต่างเฝ้ามองการเติบโตของจีนในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ศิลปินอธิบายข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่และจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ระบุว่า ชาวจีนที่มายังเมือง North Adams ในเวลานั้นเป็นกลุ่มแรงงานที่รับจ้างเพื่อมาสร้างทางรถไฟ แต่หลังจากศึกษาอย่างละเอียดศิลปินกลับพบข้อมูลที่สำคัญอันบ่งชี้ว่าพวกเขาคือแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่เดินทางไกลจากเวสต์โคสต์(West Coast) มาสู่ฝั่งอีสโครต์(East Coast) เพื่อเป็นลูกจ้างในโรงงานทำรองเท้าซึ่งห่างจากสถานีรถไฟไปเพียงฝั่งถนน
ที่สำคัญข้อมูลระบุว่า นี้คือการโต้ตอบของผู้ประกอบการที่พยายามหาทางออกในเรื่องของวิกฤตการขาดแคลนแรงงานในขณะนั้น ด้วยการจ่ายค่าแรงที่ถูกกว่า และไม่ต้องกังวลถึงปัญหาที่มีกับกลุ่มสหภาพแรงงาน แรงงานชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางถึงเมือง North Adams ในทศวรรษที่ 1870’s จึงมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจการค้าเป็นอย่างมาก พวกเขาเข้ามาพยุงเศรษฐกิจของเมือง สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน และยุติความเสียหายของสายการผลิตอันเกิดจากการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานชาวอเมริกัน ในขณะเดียวกัน Starling มองว่าชีวิตของกลุ่มแรงงานชาวจีนกลุ่มแรกนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงมิใช้น้อย จากการดูถูกเหยียบหยามเพราะสำหรับชาวอเมริกันฝั่งทะเลตะวันออกในเวลานั้น การมาถึงของชาวจีนกลุ่มแรกเป็นเรื่องไม่ปกติ
สำหรับกลุ่มแรงงานชาวจีนอพยพกลุ่มนี้ พวกเขาคือแรงงานราคาถูกที่ต้องทำงานวันละ 7 ชั่วโมงโดยมีสัญญาว่าจ้าง 3 ปี โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในโรงงานเพื่อความปลอดภัยจากกลุ่มสหภาพแรงงานที่ไม่พอใจ หลังหมดสัญญาจ้างหลายคนเดินทางกลับไปยังฝั่งอีสต์โคสต์ บางคนเดินทางกลับไปจีนแต่อีกหลายคนตั้งรกรากอยู่แถบ New England ในเมือง Maine, Vermont, New Hampshire, Massachusetts และ Boston แรงงานชาวจีนทั้ง 75 คนนั้นมีอายุระหว่าง 16 ถึง 22 ปี มีเพียงคนเดียวที่สามารถฟังและพูดภาษาอังกฤษได้ เขาชื่อ Charles Sing และคนที่มีอายุน้อยที่สุดคือ Ah Ling อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งพวกเขากลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ภาพถ่ายเพียงภาพเดียวจากการที่พวกเขาได้ถ่ายภาพร่วมกันในวันนั้น ได้กลายเป็นวัตถุพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการระบุถึงความมีตัวตนของพวกเขาทั้งในเชิงพื้นที่และสถานที่โดยมิอาจลบเลือนเป็นอื่นไปได้
หากเราใช้แนวคิดเรื่องโมนาด (monad) ของไลบ์นิช (Gottfried Wilhelm Leibniz, 1646–1716) เพื่อเป็นกระจกที่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในจักรวาล ในกรณีนี้ภาพถ่ายแรงงานชาวจีนที่ออกมายืนถ่ายภาพหน้าโรงงาน ภาพเดียว ได้กลายเป็นหลักฐานที่ไม่ได้มีแค่ประวัติศาสตร์อัดแน่นอยู่เท่านั้น แต่ยังถูกฝังไว้ซึ่งประวิติศาสตร์ของสิ่งอื่นๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับโลกที่กองอยู่ตรงหน้าของเราอีกด้วย หลักฐานนี้ทำหน้าที่เหมือนฮาร์ดิสก์ซึ่งไลบ์นิชมองว่ามนุษย์ไม่สามารถอ่านความคลุมเครือของโมนาดได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีการค้นพบภาพถ่ายชิ้นนี้คือร่องรอยบันทึกที่ควบแน่นการสังเกตการณ์ที่ทำให้มันกลายเป็นวัตถุระดับปัจเจกที่คงทนถาวรเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
อ้างอิง:
https://www.museumangewandtekunst.de/en/home/print/?id=98&images=1
http://paulwmarino.org/incident-at-union-depot.html