ความจริงในภาพชนบท

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย: ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

ภาพชนบท ประดิษฐกรรมเชิงสุนทรียะเพื่อเป้าหมายทางอุดมการณ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองวัฒนธรรม ภายใต้นิยามของ กรัมซี่ มันคือกิจกรรมของการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด (war of position) ผ่านละมุนภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างโลกทัศน์ทางสังคมการเมืองขึ้นมา

คนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะในชนบท ล้วนมีภาพจำภาพวาดชนบทไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาค ภาพวาดชนบทสำหรับคนชนบทกลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งอย่างที่สุดเมื่อพิจารณาภาพวาดในฐานะ Representation หรือนิยามของสัญญะภาพตัวแทน

ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 ภาพชนบทเป็นภาพวาดที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และทุกๆวัน ภาพวาดชนบทแทรกซึมอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วไป เมื่อออกจากบ้านการรับชมผลงานภาพชนบทก็มากขึ้น ในทุกๆทุกเช้าขณะโดยสารรถสองแถวออกจากบ้านในตำบลเล็ก ๆ ไปโรงเรียนในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด และกลับบ้านในตอนเย็น

ภาพชนบทได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน เจ้าของรถแต่ละคันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการหอศิลป์เคลื่อนที่ และภัณฑารักษ์ด้วยตนเอง ต่างสรรหาผลงานภาพวาดชนบทโดยช่างศิลป์ยอดฝีมือตามหัวเมืองมาจัดแสดงในรถของตน นอกจากรถสองแถวยังรวมถึงบรรดารถสิบล้อซึ่งนิยมจัดแสดง (exhibiting) ภาพชนบทที่ตัวรถไม่แพ้กัน

พื้นที่การจัดแสดงผลงานภาพวาดชนบท

การวิเคราะห์ภาพชนบทในเชิงสุนทรียะด้วยหลักการทางทัศนธาตุของเส้น สี รูปทรง แสงเงา เป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ยากนักเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ความจริงในภาพวาดซึ่งสลับซับซ้อนมากกว่า  ในความเป็นจริงภาพวาดชนบทดังกล่าว อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาทางสุนทรียศาสตร์เสียด้วยซ้ำ ความจริงในภาพวาดอาจหมายถึงพยานหลักฐานที่ตอกย้ำและยั่วยุสุนทรียสนทนา เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการโต้แย้งถกเถียง

ตัวอย่างของการโต้แย้งระหว่าง เมเยอร์ ชาพิโร (Meyer Schapiro 1904-1996) นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่เห็นด้วยกับ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger b.1889-1976) ในการแยกแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ออกจากประเด็นทางประวัติศาสตร์ของภาพวาด เนื่องจากบทความที่ชื่อ The Origin of the work of Art ตีพิมพ์ในปี 1950 เสนอว่าผลงานจิตรกรรม A Pair of Shoes (1886) ซึ่งวาดโดย Vincent van Gogh คือภาพรองเท้าของหญิงชาวนา

A Pair of Shoes (1886)

จากการศึกษาและตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ ชาพิโร ในบทความที่ชื่อว่า The Still Life as a Personal Object – A note on Heidegger and van Gogh ตีพิมพ์ในปี ‎1968 ได้พยายามอธิบายถึงที่มาหรือสภาพดั่งเดิมของภาพวาด และเชื่อว่าภาษาเป็นที่มาของภาพวาดเหล่านั้น และระบุว่ารองเท้าในภาพนั้นเป็นของ van Gogh เอง

ในมุมมองของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930- 2004) การอธิบายคุณสมบัติของภาพวาด (painting)ราวกับว่าสิ่งที่เราเห็นในภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามความเห็นของ ชาพิโร เป็นการอธิบายเชิงภาษาในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์ แดร์ริดาเห็นว่าเราไม่สามารถอธิบายคุณสมบัติ (attribution) บางประการของภาพวาดได้ด้วยภาษา

แดร์ริดา ชี้ให้เห็นว่าบทความของชาพิโรได้ทำให้เกิดการสร้างคำอธิบายแบบใหม่ ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง (appropriation) ความหมายที่ไม่หยุดนิ่งของภาพวาด การผลิตซ้ำความหมายที่ไม่หยุดนิ่งเช่นนี้ ได้ส่งผลต่อความคิดด้านคุณสมบัติของภาพวาดไม่มากก็น้อย

การอธิบายชนบทในฐานะเป็นหน่วยของการศึกษาวิเคราะห์ความด้อยพัฒนา จากสายตาของรัฐและปฏิบัติการของนักมานุษยาวิทยาทำให้ความหมายที่ไม่หยุดนิ่งในภาพวาดชนบท เชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์ของสงครามเย็นและปฏิบัติการของ CIA ในหมู่บ้านชนบทของไทยได้อย่างเนียนประณีต

A Great Place to have a war: The Birth of a Military CIA

ในหนังสือ ‘เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น’ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (1975-) ได้ตั้งสมมติฐานไว้อย่างน่าสนใจภายใต้เงื่อนไขเชิงโครงสร้างและบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจในช่วงเวลาหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวกำหนดกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

เป็นที่ทราบดีว่างานศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ของ เก่งกิจ มิได้ไขปัญหาหรือข้อสงสัยเชิงสุนทรียศาสตร์ของจิตรกรรมภาพชนบท ความพยายามในการเชื่อมโยงข้อมูลและพยานหลักฐานของเขา ได้เผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดของมานุษยวิทยาในประเทศไทยช่วงยุคสงครามเย็น ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลายด้านจาก CIA

แนวคิดที่น่าทึ่งในสงครามเย็นใต้กรอบคิดของสำนักคอร์เนล (Cornell school of thought) คือ การทำสงครามโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมากกว่าเพื่อเอาชนะข้าศึกที่มีจำนวนน้อยกว่า และเชื่อว่านักมานุษยวิทยาเพียง 1 คนกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็สามารถเอาชนะข้าศึกจำนวนเป็นร้อยได้

Lauriston Sharp คณบดี คณะมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล หลักศูตร. Southeast Asian studies Charles F. Keyes นักมานุษยวิทยา นักศึกษาปริญญาเอกสำนักคอร์เนล

มานุษยวิทยาสำนักคอร์เนลภายใต้การดูแลของ Lauriston Sharp (1907- 1993) คณบดีคณะมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 ได้ริเริ่มโครงการ Cornell Thailand Project ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยา และสังคมชนบทไทยกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี พวกเขาส่งนักมานุษยวิทยามาฝังตัวในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตทางทฤษฎีและผลงานทางวิชาการให้แก่รัฐบาล

เนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือ เขียนชนบทให้เป็นชาติฯ ของเก่งกิจ ระบุถึง Charles F. Keyes (1937-) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งมีความเห็นแย้งในแง่วิธีวิทยาของงานวิจัยและสารัตถะที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ด้วยความคิดเห็นที่ต่างไปจากสำนักคอร์เนล Keyes มองว่านักมานุษยวิทยาควรทำการวิจัยที่มุ่งเน้นวิธีการในแบบชาติพันธุ์วรรณนา

Keyes เชื่อว่าฐานทางเศรษฐกิจการเมืองและโลกทัศน์ของชีวิตทางสังคมคือปมปัญหาสำหรับการศึกษาวิจัย และไม่ควรสนใจเพียงเรื่องความสงบสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คนเท่านั้น งานวิจัยของ เขาชี้ให้เห็นว่าปมปัญหาหลักของประเทศไทยช่วงทศวรรษที่ 1960- คือปัญหาความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันทางสังคม และปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงดำรงอยู่มาจวบจนปัจจุบัน การมองข้ามปัญหาความขัดแย้งในทัศนะของ Keyes คือการสร้างวาทกรรมย้อนแย้งตัวมันเองที่ว่า ‘สังคมชนบทไทยมีความสุขสงบ พอเพียง และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจริงหรือ’

สำหรับนักมานุษยวิทยา เทคโนโลยีอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศที่นำเข้าโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น คือเครื่องมือสมัยใหม่อันทรงพลัง สามารถผลิตสร้างแผนที่มาตรฐานของไทยฉบับ L 708 ที่มีความละเอียดสูงถึง 1:50,000 สามารถให้รายละเอียดการโยกย้ายและตั้งถิ่นฐานของผู้คน ซึ่งรัฐไทยไม่เคยรับรู้ หรือไม่สามารถมองเห็นมาก่อน แผนที่ชุดนี้จึงเปรียบเสมือนกลไกสำคัญที่ช่วยในการมองเห็นของรัฐ และที่สำคัญนักมานุษยวิทยาก็คือผู้เติมช่องว่างลงในแผนที่นั้นเอง

แน่นอนว่าแผนที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือพิเศษ ให้แก่ฝ่ายความมั่นคงในปฏิบัติการต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศ การต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสอดแทรกนโยบายที่ซ้อนสร้างความเป็นไทยให้แก่ผู้คนที่ไม่เคยเป็นคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก

สหรัฐอเมริกาและหน่วยงานที่ชื่อว่า USIS ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการนิยามความเป็นไทยด้วยชุดความหมายใหม่ วิธีใหม่ๆ และสื่อชนิดใหม่ๆ และการพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมให้เป็นสินค้ายังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โฆษณาช่วงสงครามเย็น

ในประเด็นภาพวาดชนบทและความจริงในภาพวาดชนบท อาจเป็นเพียงร่องรอยพับที่ซ้อนทับกันโดยมิอาจแบ่งแยกจากกัน ตามทัศนะของริชาร์ด โวลล์ไฮม์ (Richard Wollheim 1923-2003) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่เสนอว่าพื้นฐานทางพันธุกรรมของมนุษย์ ได้มอบความสามารถพิเศษในการมองเห็นรูป หรือสิ่งต่างๆ ปรากฏอยู่ในก้อนเมฆ กำแพง ผนัง ฯลฯ

โวลล์ไฮม์ อธิบายว่าในขณะที่เรากำลังมองภาพวาดอย่างตั้งใจอยู่นั้น เราสามารถเห็นสีที่แต้มแต่งอยู่บนพื้นผิวที่แบนราบของภาพวาดในขณะเดียวกัน เราก็สามารถมองเห็นความลึกของภาพวาดไปพร้อมๆกัน  การมองเห็นความลึกและความลึกกว่ามิใช้ปัญหาเชิงสุนทรียศาสตร์โดยตรง แต่เป็นหน้าที่เชิงภาษาที่จะอธิบายความจริงในภาพวาดด้วยประวัติศาสตร์ พยานหลักฐานต่างๆ

หากผลงานศิลปะเปรียบได้กันสนามหรือสถานที่ซึ่งความจริงถูกเปิดเผยตามที่ไฮเดกเกอร์กล่าว ผลงานจิตรกรรมภาพชนบทย่อมบรรจุชุดความจริงบางอย่างภายใน หนังสือ ความจริงในภาพวาดฯ และ เขียนชนบทให้เป็นชาติฯ อาจช่วยพัฒนาเครื่องมือหรือแนวทางเชิงสหศาสตร์ในการวิเคราะห์ การตัดสินทางสุนทรียะในพื้นที่ศิลปะและนอกพื้นที่ศิลปะ ของภาพวาดชนบทได้อย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญ

หนังสือ : ความจริงในภาพวาด บทวิจารณ์ว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ของไฮเดกเกอร์ และแดร์ริดา  ผู้เขียน  : พิพัฒน์ พสุธารชาติ ISBN:  978-974-16-3790-4    พิมพ์ครั้งแรก 2553. สำนักพิมพ์วิภาษา                                                                                                                    
หนังสือ : เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น ผู้เขียน  : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ISBN:  978-974-02-1654-4 พิมพครั้งแรก 2562. สำนักพิมพ์มติชน                                                                                                                            

เอกสารและภาพอ้างอิง

https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&CONID=2797&SCID=242

https://books.google.co.th/books/about/Art_and_Its_Objects.html?id=NBmYGQDjM6sC&printsec=frontcover&source=kp_read_button&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false

https://db.sac.or.th/anthropologist/anthropologist/34

https://prachatai.com/journal/2018/04/76515

https://www.facebook.com/1218915061455151/photos/a.1920374477975869/2324870750859571/?type=1&theater

https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%97+%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94&tbm=isch&hl=en&ved=2ahUKEwj62oiThe_oAhXDHysKHYtvDQoQrNwCKAB6BAgBEDM&biw=1583&bih=789#imgrc=6yJfISZIJ7q08M

Tags: No tags

Comments are closed.