มุมมองของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในภาคอีสานผ่านเพลง: ผู้ใหญ่ลี

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย : ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

อำนาจและนโยบายของภาครัฐดูเป็นเรื่องขบขันในสายตาชาวบ้านอย่างเราๆเสมอ อาจเป็นไปได้ที่รัฐไม่เคยสนใจว่าชาวบ้านต้องการอะไร  เพราะรัฐไทยไม่เคยยึดโยงตนเองเข้ากับประชาชนซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างของพวกเขา ไม่ว่าจะออกคำสั่งให้ผู้ใหญ่ลีจะตีกลองสักกี่ครั้งเราก็ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจรัฐได้เลย

ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ‎– CTR 547, Crown Records (18) ‎– CTR 547 Format: Vinyl, LP, Album

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548) เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง เกิดขึ้นเมื่อครูพิพัฒน์คิดแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีให้เธอร้องบนเวทีเพื่อเล่นกับตลกสี่สี ได้แก่สีเผือก สีสุริยา สี หมึก สีเทพ (เทพ เทียนชัย 2480- 2537)

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาประกาศนียบัตร ปก.ศ.ต้นจากอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้เดิมทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่งเมื่อได้ข่าวมีการประกาศรับสมัครนักร้องของครูไพบูลย์ บุตรขัน  เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู และได้บันทึกเสียงในที่สุด

ในทศวรรษที่ 1960 ผู้ใหญ่ลี (2504) หนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และมีเพลงที่แตกออกไปหรือนำมาทำใหม่อีกหลายครั้ง เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงหมอลำในจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อหาเกี่ยวกับต้นแบบของรัฐไทยและระบบราชการในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยกลาง และมักจะสับสนกับคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาล

ที่สำคัญเนื้อร้องยังสะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร ตลอดจนความเข้าใจที่ต่างกันระหว่าง อำนาจรัฐ ผู้นำชุมชน และ ชาวบ้าน อย่างลึกซึ้ง ยอกย้อนและงดงาม อีกทั้งยังสะท้อนความผิดพลาดในการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้มุมมองของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในภาคอีสานอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพตัวแทนรัฐตามแบบต้นฉบับ(stereotype) ถูกนำเสนอเชิงส่อเสียดในรูปลักษณ์ผิดที่ผิดทางและอุปลักษณ์สิ่งต่างๆข้ามมาบรรจบกันเชิงอ้วนกลมไร้คอหล่อและดำ ในท่อนที่ว่า “คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์ รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา” ในท่อนสุดท้ายนั้นเป็นภาษาอีสาน เสียงตัว ช.ช้าง จะออกเสียงเป็นซ.โซ่ เวลาเขียนเลยเขียนเป็น ซ.โซ่ ไป “เขียงน้อย” คือเขียงขนาดเล็กใช้สำหรับซอยกัญชา ในประเด็นนี้ตัวบทคำร้องไม่น่าจะหมายถึงหน้าเหมือนเขียงกัญชา ด้วยอุปมาใบหน้ากับรูปทรงสัณฐานที่กลม แบน มีรอยบุ๋มกลางเขียง แต่น่าจะเป็นภาพตัวแทนภาครัฐสายเขียวขำๆ ควันๆ

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548)

สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ไม่ใช่เพียงถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอกเท่านั้น หากเป็น “ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์” ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทที่ล้มเหลวของรัฐ และกลไกอำนาจที่ดูน่าขันแต่ไม่ขันของภาครัฐอีกด้วย

เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell) กล่าวไว้ในงานวิจัยของเขาว่า วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างเฟื่องฟูมากหากแต่รัฐบาลตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมามีแนวโน้มปราบปรามวัฒนธรรมอีสานในหลายรูปแบบ เช่น กีดกันไม่ให้มีการใช้ภาษาอีสานในโรงเรียนต่างๆ ทั้งในรูปแบบการพูดและการเขียน ซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน รวมถึงก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3/2845 ให้เปลี่ยนคำเรียกไท-ลาว เป็น ไทยอีสาน ในคราวเดียวกันกับคำว่าไท-มาลายู ให้เปลี่ยนการเรียกเสียใหม่ว่า ไทยมุสลิม

เพื่อปรับความสัมพันธ์ภายในสังคมผ่านการสร้างจินตนากรรมทางสังคม ที่ก่อกำเนิดและขยายแนวคิดชาตินิยมขึ้นมา หรือที่ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson 1936- 2015) เรียกว่า ชุมชนจินตกรรม คำว่าอีสานในฐานะประดิษฐกรรมของรัฐไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ หากเป็นพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ในจินตนาการเท่านั้น ในเวลาเดียวกันมันได้ทำการลบข้อมูลหรือสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาคและชาติพันธ์ุไท-ลาวอีกด้วย

ส่วนอีสานในมุมมองนักมานุษยวิทยาอย่าง ชาร์ลส์ เอฟ คายส์(Charles Keyes 1937-) มันคือ ภาพสะท้อนถึงการดำรงอยู่ของความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐไทยและอีสาน แนวคิดทางรัฐศาสตร์การเมืองปกครองในสไตล์โคโลเนียลของรัฐไทยจึงไม่อนุญาตให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุไท-ลาวเรียกตนเองว่า ลาว ในฐานะกลุ่มชาติพันธ์ุและพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุนี้เรียกตนเองว่าเป็นคนชาติพันธ์ุไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ

ภาพอุปมาในตัวบทเพลงซึ่งนำเสนอความเปราะบางในเชิงโครงสร้างของรัฐ และห่วงโซ่อำนาจที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ย้อนกลับแบบไม่เป็นโล้เป็นพายของผู้ใหญ่ลีตัวแทนภาครัฐที่ไม่สามารถสื่อสารไขข้อสงสัยหรือแม้แต่สร้างความเข้าใจให้แก่ชาวอีสาน อย่างขบเขี้ยวและแสบสัน นับประสาอะไรกับสุกรและหมาน้อยแตกต่างกันอย่างไรรัฐยังไม่สามารถอธิบายได้ “ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล” อะไรจะขนาดนั้น

เพลง ผู้ใหญ่ลี

ขับร้องโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

เนื้อร้องโดย ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ (อิง ชาวอีสาน)

ทำนองดัดแปลงมาจาก รำโทน

พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม

ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี

ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว

ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา

ทางการเขาสั่งมาว่า

ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร

ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร

ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด

สุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา

หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา

สายัณห์ตะวันร้อนฉี่

ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน

แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ

ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ

ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง

ฟ้าแจ้งฟ้าแจ้งจางปาง

คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง

เอวบางเหมือนยางรถยนต์

รูปหล่อเหมือนตอไฟลน

หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา

เขียงน่อย เขียงน่อย ซอยซา

เขียงน่อย เขียงน่อย ซอยซา

อ้างอิง

ผู้ใหญ่ลี (วาทูซี่) https://www.youtube.com/watch?v=Qfzd2q8fTy8

เอกสารอ้างอิง

https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/700840/from-the-field-to-the-protest

https://www.isangate.com/new/15-art-culture/artist/468-saksri-sri-akson.html

http://oknation.nationtv.tv/blog/komchadluek/2013/01/23/entry-1

Tags: No tags

Comments are closed.