baannoorg publication
บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)
การแฝงฝัง “ความเป็นไทย” ในจิตไร้สำนึกทางสังคมของ ”คนดี” ผ่านตัวบทรามเกียรติ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า “ชาติ” ไทย เป็นจินตนากรรมของชนชั้นนำทางการเมืองที่ยัดเยียดลงไปให้คนอื่น ตลอดเวลาที่ผ่านมาชนชั้นนำใช้ “ชาติ” และ “ความเป็นไทย” เป็นเครื่องมือในการรักษาโครงสร้างอภิสิทธิ์ในทุกทางไว้ในมือของตนเอง (นิธิ เอียวศรีวงศ์, 2542: 9-10) ด้วยอิทธิพลทางความคิดจากรามเกียรติ์ และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังคงตกค้าง ได้สร้างความปรารถนาแบบหนึ่งให้กับคนในสังคมไทย ให้กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ และการเมือง ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน (ธนศักดิ์ สายจำปา. 2557: 525)
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีความมั่นคงได้ โดยการรักษาโครงสร้างทางสังคมที่แบ่งคนออกตามระเบียบจักรวาลว่าด้วยเรื่องลำดับชั้น และสิ่งที่มีบทบาทอย่างหนึ่งในการสร้างนิยามความหมายของชาติไทยและความเป็นไทยได้แก่ วรรณกรรม ที่ประพันธ์โดยพระมหากษัตริย์และชนชั้นปกครอง การนำมุมมองของชีลส์ เดอเลิซ กับเฟลิกส์ กัตตารี (Gilles Deleuze & Félix Guattari) มาเป็นกรอบในการอธิบายถึงการผลิตความปรารถนา (desiring-production) เพื่อไม่ให้มีความปรารถนาที่ผิดแผกแตกต่างจากความปรารถนาที่สังคมไทยกำหนด หรือเป็นการเมืองของความปรารถนาแบบเก่า ที่ชนชั้นปกครองไทยใช้เป็นกลไกในการเก็บกดปิดกั้นความปรารถนา ด้วยการนำ “ความเป็นไทย” (Thainess) มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนดังกล่าว
รามเกียรติ์แม้จะเป็นวรรณกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย แต่เมื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมในการปกครองแบบเทวราชแบบไทย ได้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในที่สุด แม้ว่าการสร้างความเป็นไทยจะเป็นประดิษฐ์กรรมทางสังคมที่รัฐไทยสมัยใหม่สร้างขึ้น แต่กระนั้นก็ต้องตระหนักว่ารัฐไทยสมัยใหม่กำเนิดขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานโครงสร้างสังคมและการเมืองตั้งแต่ระยะแรกเริ่มครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ดังนั้นเมื่อรัฐไทยสมัยใหม่ต้องการสร้างความเป็นไทย จึงยังคงดำเนินไปภายใต้อิทธิพลทางความคิดตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Streckfuss. 2011: 58)
แม้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อิทธิพลทางความคิดเรื่องลำดับชั้นทางสังคมยังคงถูกนำมาเป็นฐานในการสร้างความเป็นไทยอย่างต่อเนื่อง ความปรารถนาของคนในสังคมไทยได้ถูกใช้เป็นกลไกหลักในการควบคุมคนในสังคม ให้มีความปรารถนาไปในทิศทางที่ชนชั้นนำและรัฐไทยกำหนด เพื่อประโยชน์ต่อการปกครองในแต่ละช่วงเวลา ความน่าสนใจในประเด็นนี้อยู่ที่ว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่ความปรารถนาของคนในสังคมไทยกลับไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ (ธนศักดิ์ สายจำปา. 2557: 525)
การผลิตซ้ำและตอกย้ำให้ความปรารถนาที่ถูกแฝงฝังเข้าสู่จิตไร้สำนึกทางสังคม ของคนในสังคมไทยอย่างแนบเนียนมาเป็นเวลาช้านานนั่นก็คือ “ความเป็นไทย” จนกระทั่งคนในสังคมไทยตระหนักว่าความปรารถนาในลักษณะดังกล่าวเป็นความปรารถนาของตนเอง มิได้ถูกผลิตสร้างโดยชนชั้นปกครองหรือรัฐไทยแต่อย่างใด อีกทั้งยังมิได้ตระหนักรู้ว่าการมีความปรารถนาในลักษณะดังกล่าวมีลักษณะคับแคบตายตัว (ธงชัย วินิจจะกูล, 2556, น. 206)
“ความเป็นไทย” ได้ก่อให้เกิด “แบบ” (form) อย่างที่ดีงามของสังคมไทย ซึ่งกำหนดให้คนในสังคมไทยทุกคนต้อง “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” “ประพฤติปฏิบัติตนตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมไทย” และ “ธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติไทย” ดังนั้นหากใครสามารถดำรงตนตามแบบอย่างที่ดีงามของสังคมไทยได้ ก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็น “คนดี” ของสังคม และหากใครไม่สามารถประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีงามได้ก็จะกลายเป็น “คนไม่ดี” หรือ “ไม่ใช่คนไทย”
อีกทั้งการนำแนวคิดธรรมราชาตามคติพุทธและเทวราชาตามคติพรามณ์ ที่เน้นพลังอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระราชาผู้ทรงทศพิธราชธรรมและปฏิบัติธรรมขั้นสูง (ธงชัย วินิจจะกูล. 2556: 13) มาเป็นฐานในการสร้างภาพลักษณ์ของกษัตริย์ผู้ธำรงไว้ซึ่งความเป็นนารายณ์อวตาร ที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกร หรือเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง (Connors. 2003: 131) ได้สร้างความชอบธรรมต่อกษัตริย์ในฐานะผู้นำทางโลกและผู้นำทางธรรมในเวลาเดียวกัน
ชาติ ศาสน์ กษัตริย์: ศูนย์กลางจักรวาลของสังคมไทย
หากกล่าวในทรรศนะของเดอเลิซกับกัตตารีแล้ว กระบวนการสร้างความเป็นไทยก็คือกลไกการทำงานหลักของจักรกลทางสังคมที่พยายามสร้างการเชื่อมต่อระหว่างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ที่ก่อให้เกิดการไหลเวียนของความปรารถนาในแบบที่รัฐไทยปรารถนา หาได้เป็นความปรารถนาของคนในสังคมไทยแต่อย่างใด หากแต่รัฐไทยสามารถทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าความปรารถนาดังกล่าว เกิดขึ้นจากจิตไร้สำนึกทางสังคมของตนเอง และเชื่อว่าตนเองมีความปรารถนาที่จะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ได้ด้วยตนเองหาได้เกิดจากการบังคับ และตระหนักว่าความจงรักภักดี และการประพฤติปฏิบัติตนตามหลักความเป็นไทยเป็นจารีตประเพณีที่ดีงาม และต้องสงวนรักษาให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป (ธนศักดิ์ สายจำปา. 2557: 523)
การทำให้ชาติ ศาสน์ กษัตริย์กลายเป็นเสาหลักและเป็นที่เคารพเทิดทูนของคนในชาติเกิดขึ้นผ่านกระบวนการต่างๆ หลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดอย่างมากคือกระบวนการในการสร้าง “ความทรงจำร่วม (collective memory)” ที่ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำลงไปในจิตไร้สำนึกทางสังคมอย่างต่อเนื่องผ่านงาน ประวัติศาสตร์นิพนธ์ หรือวรรณกรรมนิพนธ์ ซึ่งก่อให้เกิด “ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมแบบราชาชาตินิยม” โดยมองว่าราชาชาตินิยมเป็นโครงเรื่อง (plot) ทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมแบบหนึ่ง และโครงเรื่องเน้นเนื้อหาที่ว่าชาติไทยถูกคุกคามจากฝ่ายอธรรม แต่ทว่ามีกษัตริย์หรือนารายณ์อวาตารคอยปกป้อง ประวัติศาสตร์และวรรณกรรมแบบราชาชาตินิยมเช่นนี้ มีความสอดคล้องกับแนวคิดการเชิดชูพระราม ในฐานะผู้นำในการปราบมารหรือลงโทษ “คนไม่ดี” ด้วยมาตรการทางสังคมและกฎหมาย นาฏวิภา ชลิตานนท์ ระบุว่าโครงเรื่องเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการเขียนประวัติศาสตร์ไทยในรูปพงศาวดาร โดยเฉพาะพงศาวดารอยุธยาที่มีการเรียบเรียงขึ้นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (เสาวณิต จุลวงค์. 2001: 73)
ภายใต้กรอบแว่นแนวคิดจิตไร้สำนึกของเดอเลิซกับกัตตารี แสดงให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยปัญหาที่ทำให้สังคมและการเมืองไทยมิอาจนำพารัฐนาวาไปสู่เสรีประชาธิปไตยได้อย่างสมบูรณ์ สืบเนื่องจากคนในสังคมไทยยังมีความปรารถนาที่ต้องการเก็บกดปิดกั้นตัวเองภายใต้กรอบของความเป็นไทย โดยให้ความสำคัญกับความสูงต่ำหรือชนชั้นทางสังคม ทำให้คนในสังคมไทยส่วนมากเชื่อว่าชนชั้นนำไทย คนที่มีการศึกษา มียศฐาบรรดาศักดิ์ หรือคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า ควรมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่าคนจน คนไร้การศึกษา ชาวนาชาวไร่ หรือผู้ใช้แรงงาน
ความเป็นไทยในจิตไร้สำนึกทางสังคมของ ”คนดี” จึงเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นจากสัญญะต่างๆ ทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจทางสังคมของชนชั้นนำและชนชั้นปกครอง ด้วยเหตุดังกล่าววาทกรรมความเป็นไทยจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่ความจงรักภัคดีต่อสถาบันกษัตริย์ เป็นอำนาจที่ก่อให้เกิดการควบคุม(procedures of mastery) ทางสังคม เป็นการใช้อำนาจในลักษณะที่เรียกว่า ชีวอำนาจ(biopower) ซึ่งมันได้สร้างเอกลักษณ์ให้แก่ร่างกายทางสังคม(social body) และการใช้อำนาจในแบบชีวการเมือง(biopolitics) ผ่านการสร้างความปกติ(normalization) ให้กลายเป็นรูปแบบการปกครองซึ่งใช้ชีวอำนาจควบคุมชีวิตของผู้อยู่ใต้การปกครอง (governmentality) (วรเทพ ว่องสรรพการ. 2561: 125)
การเมืองในรามเกียรติ์/รามเกียรติ์ใน documenta fifteen
Churning Milk: The ritual of things (2022) A collaborative and participatory art project ได้หยิบยกประเด็นทางการเมืองที่แฝงอยู่ในรามเกียรติ์ฉบับภาษาไทยที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ระบุว่านอกจากรัชกาลที่ 1 ได้ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์แล้วพระองค์ได้ทรงให้จารึกโคลงภาพรามเกียรติ์ ติดตั้งบนฝาพนังระเบียงคดวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในปี พ.ศ. 2325 อีกด้วย
การนำเสนอภาพแทนองค์อวตารของพระนารายณ์ โดยคำนึงถึงลักษณะเชิงอุดมคติและพิธีกรรม รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเรื่องราวของรามเกียรติ์ในพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 1 คือตัวบทที่สำคัญอันแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเชิงสหบท (intertextuality) ที่ผสานเข้ากับตัวบทอื่นในลักษณะเป็นพหุสัญญะ (multi-semiotic) ในรูปของสื่อที่หลากหลาย (media) เช่น บทละคร วรรณกรรม นาฎกรรม จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างจักรวาลวิทยาในอุดมคติแบบใหม่ขึ้น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง จึงเป็นเสมือนภาพจำลองจักรวาลจากปรัมปราคติแบบไตรภูมิ และจัดวางอยู่ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ (ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. 2563) เพื่อเผยแพร่อำนาจทางสังคมที่ถูกจัดเรียงเป็นระบบระเบียบ และเป็นลำดับชั้น
รามเกียรติ์ตอนกวนเกษียรสมุทร ที่กลุ่มศิลปิน Baan Noorg Collaborative Arts and Culture นำเสนอในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ documenta fifteen ในปี ค.ศ. 2022 ณ ห้องจัดแสดงบริเวณโถงชั้นล่างอาคาร Documenta Halle เป็นการนำตัวบทรามเกียรติ์ที่มีอยู่ก่อนผสานกับตัวบทจากนิทานพื้นบ้านของพี่น้องตระกูลกริมม์ ในเทพนิยายเรื่อง “กระท่อมกลางป่า” (forest house) ตัวบททั้งสองได้ถูกตัดต่อดัดแปลงขึ้นใหม่ให้เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน (heteroglossia) เพื่ออธิบายรูปสัญญะต่างๆ ที่สัมพันธ์กับสังคม ความคิดเชิงอำนาจ อุดมการณ์ และประเด็นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ด้วยการผลิตซ้ำและสร้างความกลายสู่ (becoming) ของตัวบทขึ้นในรูปแบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน
กลุ่มศิลปิน Baan Noorg Collaborative Arts and Culture ได้ออกแบบพื้นที่จัดแสดงในรูปแบบ Multimedia installation เพื่อเป็นพื้นที่ทางศิลปะเชิงปฏิบัติการ(Activities base art) และอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ชมเป็นตัวขับเคลื่อนให้องคาพยพหรือส่วนต่างๆ ของผลงานศิลปะได้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นผลวัตตลอดระยะเวลาจัดแสดง 100 วัน และเพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมกัน(Experience sharing) ระหว่างชิ้นผลงานศิลปะ กลุ่มศิลปินฯ และผู้ชม ฯลฯ
ในทัศนะของ John Dewey (b. 1859 – 1952) การทำความเข้าใจถึงแก่นสาระและลักษณะพิเศษของกระบวนการที่ผลงานศิลปะได้สำแดงออก คือหลักการขั้นพื้นฐานที่พัฒนาไปสู่ประสบการณ์และการรับรู้ของมนุษย์ ผ่านการสำแดงออกของผลงานศิลปะ การผลักดันและแรงกระตุ้นจากศิลปินรวมถึงความตื่นตัวของผู้ชม ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงแบบด้นสดสนับสนุนกันไปมาระหว่าง material and mental environments, and their culture at large ในพื้นที่จัดแสดง เพื่อให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อตัวบทไปพร้อมๆ กัน โดยอาศัยประสบการณ์ร่วมเหล่านั้นปะติดปะต่อภาพ เพื่อการตีความหรือให้ความหมายใหม่ เป็นสิ่งที่เปิดกว้างสำหรับผู้ชมหรือผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยคำนึงถึงความเป็นจริงที่ว่าสหบท(intertextuality) คือตัวแปรสำคัญด้วยความคิดพื้นฐานที่ว่าการผลิตตัวบท (text) ในผลงานครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากตัวบทที่มีมาก่อนหน้า (pre-text)
ด้วยเหตุนี้ผลงาน Churning Milk: The ritual of things ก็คือตัวบทที่ผลิตซ้ำจากตัวบทรามเกียรติ์ตอนกวนเกษียรสมุทรร่วมกับตัวบทอื่น ที่มีมาก่อนแล้วนำมาถ่ายถอดในรูปแบบของตัวบทใหม่ที่มีลักษณะเป็นพหุสัญญะ (multi-semiotic)โดยใช้สื่อที่หลากหลาย (multimedia) เพื่อเน้นย้ำถึงบริบทใหม่ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคมการเมืองไทย ณ ปัจจุบันที่ตัวบทนี้ถูกผลิตขึ้นนั้นเอง