บทสนทนาโต้แย้งกรณีไท-ยวนพลัดถิ่นต่อบทความ

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย บ้านนอกฯ

บทสนทนาโต้แย้งกรณี ไท-ยวนพลัดถิ่นต่อบทความ

ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน: บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น ในเว็บไซต์ คนล้านนา: เรื่องโดย นวลคำ ขะยอมแดง

ก่อนที่จะเข้าประเด็นเนื้อหาหลัก ขอกล่าวขอบคุณทาง “คนล้านนา” (lanner) ที่ได้เขียนบทความลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2024 ในหัวข้อ ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน:  บทสนทนาต่อ “ปฏิบัติการด้านศิลปะ” และ “ประวัติศาสตร์” ยวนย้ายถิ่น ซึ่งมีเนื้อหาในสองประเด็นด้วยกันกล่าวคือ 1. ปฏิบัติการด้านศิลปะ และ 2. ประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้มีจุดเชื่อมที่บรรจบกันระหว่างแง่ศิลปะและมุมประวัติศาสตร์ เป็นความพยายามของ”คนล้านนา” ที่จะสะท้อนผลงานสร้างสรรค์ศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม-จัดวางเฉพาะพื้นที่ (collaborative and participatory site-specific installation art) ที่สร้างขึ้นในเทศกาลศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 โดยมีกลุ่มศิลปินบ้านนอก(BNCAC) ซึ่งมีฐานปฏิบัติการที่ตำบลหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี และเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไท-ยวนพลัดถิ่นในพื้นที่ลุ่มภาคกลางตอนล่างกลุ่มเล็กๆ ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงาน  

บทความใน “คนล้านนา” มีทั้งประเด็นที่น่าสนใจและประเด็นที่สามารถนำไปต่อยอดความรู้ทั้งในเชิงศิลปะร่วมสมัยโดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือประเด็นที่สามารถโต้แย้งด้วยข้อมูลและหลักวิชาการคนละเหลี่ยมมุม เพื่อก่อประโยชน์สาธารณะได้ไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้บทความชิ้นนี้จึงมุ่งให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์เพื่อสร้างความเข้าใจต่อข้อโต้แย้งที่มีต่อบทความ ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสนฯ ในเว็บไซต์ ”คนล้านนา” (lanner) เรื่องโดย นวลคำ ขะยอมแดง เป็นสำคัญ โดยไม่มีเจตนาพาดพิงถึงกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนหรือวิญญูชนผู้มีใจเป็นธรรมในพื้นที่ล้านนาแต่ประการใด

ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ที่ควรถูกสานต่อในบทความชิ้นนี้ เริ่มขึ้นจากผลงานสร้างสรรค์ของกลุ่มศิลปินบ้านนอก ที่ชื่อไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ (Tai Yuan Return : on Transmission and Inheritance) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะติดตั้งเฉพาะพื้นที่ที่โบราณสถานหมายเลข 16 ในประการแรก ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ น่าจะสร้างปัญหาต่อ นวลคำ ไม่มากก็น้อย จึงพลันตั้งคำถามที่มีคำตอบอยู่แล้ว กล่าวคือ ”คำถามที่ว่าเมืองเชียงแสนนั้นมีแต่ชาวไท-ยวน อาศัยอยู่ใช่หรือไม่” หากตอบให้สั้นคือ ”ไม่” และเป็นไปไม่ได้  เนื่องจากผิดวิสัยโดยสิ้นเชิงต่อรัฐชนชาติที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล และเมื่อถามถึงประชากรในเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสน เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว คือใคร หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด หากพิจารณาจากเขตขัณฑ์แห่งเมืองในฐานะอาณาจักร ย่อมหมายถึงพื้นที่ที่มีกลุ่มชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และย่อมมีผู้คนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อสถานะของอาณาจักรหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงปรากฎพหุวัฒนธรรมหลากหลายที่ยังหลงเหลือเชิงวัตถุพยาน แม้ในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานจวบจนปัจจุบัน จึงเป็นที่แน่ชัดว่าเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนครานั้น ไม่ได้มีแต่ชนชาวไท-ยวนอาศัยและถูกอพยพกวาดต้อนออกไปแต่เพียงกลุ่มเดียวโดด ๆ ซึ่งผิดและแย้งต่อหลักธรรมชาติในฐานะเมืองท่าที่สำคัญทางการค้าแห่งลุ่มน้ำโขงตอนบน

ภาพพิมพ์บันทึกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดย Louis Delaporte (b.1842-1925) คณะสำรวจชาวฝรั่งเศส ระหว่างปี คศ. 1866-1868 (ที่มา https://www.lotsearch.net/lot/garnier-francis-1839-1873-and-ernest-doudart-de-lagree-1823-1868-45857052)

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจเชิงภูมิศาสตร์พื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไท-ยวน ปรากฏความตอนหนึ่งระบุคำว่าโยนหรือยวนในหลักฐานซึ่ง Charles F. Keyes (b. 1937-2022) นักมานุษยวิทยาผู้คร่ำหวอดศึกษาชาติพันธุ์วรรณนาในไทย กล่าวว่าคือพื้นที่ที่เกิดการสถาปนาอำนาจ ตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นจนถึงระดับที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “รัฐชนชาติ” ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 เรื่อยมาในบริเวณแถบลุ่มน้ำโขงตอนบน ซึ่งเชื่อกันว่าคือบริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในปัจจุบัน (วสันต์ ปัญญาแก้ว, 2550: 238) นอกจากนั้นคำว่ายวนหรือยวนเชียง (Yuan Chiang) ยังปรากฎในหนังสือ Voyage d’exploration en Indo-Chine บันทึกของคณะสำรวจชาวฝรั่งเศสนำโดย Ernest Doudart De Lagrèe (b.1823-1868) ระบุกำหนดการเดินทางถึงเมืองแห่งนี้ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1867 หลังเชียงแสนแตก โดยระบุว่าเมืองยวนเชียงนั้นตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงระหว่างรอยต่อชายแดนพม่าและทางตอนเหนือของลาว หรือหมายถึงบริเวณใกล้สามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน และ Keyes ยังระบุอีกว่าผู้คนในเมืองแห่งนี้ต่างให้ความศรัทธา ยึดถือ และปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนิกายโยนหรือยวน (Yuan Buddhism) กันอย่างแพร่หลาย คำว่าโยนหรือยวนและการสถาปนาขึ้นเป็นรัฐชนชาตินั้นดูจะสอดคล้องต้องกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนาก่อตัวขึ้นเป็นชุมชนระดับเมืองและอาณาจักรของเชียงแสน ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ผ่านกระบวนการเชิงสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ

จิตรกรรมบนกำแพงบริเวณหมู่ 2 หนองโพ (พื้นที่อาศัยของกลุ่มแรงงานอพยพ) Tai Yuan Cuisine, 2023
Artist: Parichat Tanapiwattanakul

ต่อมาในประเด็นเรื่องสำนึกทางชาติพันธุ์ ที่ นวลคำ ระบุในบทความว่า ชาวเชียงแสนที่เมืองสระบุรีนั้นเรียกตนเองติดปากว่า “คนยวน” หรือ “ชาวยวน” คำเรียกตนเองของชาวไท-ยวนนั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อาจเป็นด้วยข้อมูลที่ร่วงหล่นของผู้เขียนจึงทำให้ไม่ทราบว่า มิใช่กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ยวนทุกพื้นที่เรียกตนเองว่า “คนยวน” หรือ “ชาวยวน”  ในกรณีศึกษาชาวไท-ยวนส่วนใหญ่ที่ราชบุรีและที่หนองโพไม่ปรากฎคำเรียกตนเองว่า “ไท-ยวน” แต่เรียกตนเองว่า “จ้าวเฮา” ตลอดมาหลายชั่วอายุคน เมื่อถูกถามว่าคุณเป็นใครพวกเขาจะตอบว่าเป็นคนจ้าวเฮา คนรุ่นพ่อแม่-ปู่ย่าตายายที่หนองโพย้อนหลังไปเพียง 40 ปี  ไม่มีสำนึกความเป็นไทย ซึ่งหมายความว่า เป็นคน ”จ้าวเฮา” ไม่ใช่คนไทย ในทางกลับกันคนจีนแต้จิ๋วอพยพในพื้นที่หนองโพเมื่อเกือบร้อยปีถูกเหมาเรียกรวมว่าเป็นคนไทย

ความแตกต่างในด้านภาษาพูดของชาวไท-ยวนที่หนองโพก็เป็นอีกประเด็นที่ต่างไปจาก ”คนเมือง” อีกด้วย เนื่องมาจากภาษาไท-ยวนที่นี่เป็นภาษาที่คงที่ไม่ปรับตัวเปลี่ยนแปลง หรือรับเอาภาษาอื่นที่คล้ายคลึงกันเข้ามาผสมผสานอย่างที่เกิดขึ้นกับล้านนา ส่งผลให้อัตลักษณ์ด้านภาษาของชาวไท-ยวนในพื้นที่หนองโพมีลักษณะเฉพาะตัว

จิตรกรรมบนกำแพงบริเวณหมู่ 9 หนองโพ Left: Tai Yuan 5.0, 2023 Artist: Sutiphong Sudsang
Right: Chao Hao, 2023 Artist: Rachan Klomklieng

ประการต่อมากับวาทกรรมของการโหยหาอดีตซึ่งระบุอยู่ในบทความนั้น หากมองประเด็นนี้ผ่านงานวิชาการของ Nagendra Bahadur นักมานุษยวิทยาชาวเนปาล ในบทความ Diaspora and Cultural Identity ที่ศึกษากรณีคนพลัดถิ่นผ่านกรอบความคิดเรื่องเขตแดนทางภูมิศาสตร์ สิ่งที่ Bahadur พยายามอธิบายคือความสัมพันธ์ของคนพลัดถิ่นกับพื้นที่ทางกายภาพที่ไม่หยุดนิ่ง มีการถ่ายโอนเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลา (Nagendra Bahadur Bhandari, 1996: 188) และไม่สามารถยึดถือเพื่อการรำลึกโหยหา(Nostalgia) เป็นเพียงจินตนาการแห่งความปรารถนาร่วม โดย Bahadur มองว่าความปรารถนาเช่นนี้มิได้มีผลต่อผู้คนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันเท่านั้น แต่ยังสร้างความทรงจำร่วมกับคนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มีประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมกันอีกด้วย นั่นจึงมิใช่การผลิตซ้ำวาทกรรมของการโหยหาอดีต แต่เป็นการทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การพาคนไท-ยวนกลับบ้านของกลุ่มศิลปินบ้านนอก ในโครงการ ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ (เทศกาลศิลปะนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023) ที่เกิดขึ้นที่โบราณสถานหมายเลข 16 นั้นเป็นความพยายามที่จะใช้พื้นที่ทางศิลปะให้สามารถเชื่อมโยงผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์เชิงพื้นที่กับเมืองเชียงแสนไม่เฉพาะแต่ชาวไท-ยวน แต่เป็นการประชุมร่วมตัวกันของชุมชนจากหลายพื้นที่หลายภาคส่วน โดยมีชาวไท-ยวนพลัดถิ่นเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่เมืองเชียงแสนนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำ ผลัดเวียนกันเป็นเจ้าภาพโดยไม่มีใครอ้างสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ ผลงานสถาปัตยกรรมพองลม(inflatable air architecture) ที่ปรากฏในโบราณสถานหมายเลข 16  คืออุปลักษณ์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มิใช่สิ่งปลูกสร้างและไม่ได้ถูกสร้าง(unbuild and unbuildable)  บทความ Imaginary Architecture and Spatial Immediacy อธิบายแนวคิดของ Rem Koolhaas(b.1944-) ว่าคือการนำเสนอจินตนาการของโลกเหนือความเป็นจริง และประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรม (Ingrid Böck, 2008: 1) ของความไร้รูปและการสลายรูปทรง

Inflatable air architecture: Tai Yuan Return : on Transmission and Inheritance
Thailand Biennale Chiang Rai 2024

ผลงาน ไท-ยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ จึงมีที่ทางและหน้าที่ของมันในทางสังคมนอกเหนือเขตแดนเชิงทัศนศิลป์ โดยกลุ่มศิลปินบ้านนอกมีเป้าหมายในการใช้พื้นที่ทางศิลปะและการมีส่วนร่วมของผู้คน เพื่อเป็นเครื่องมือในฐานะสื่อกลางให้เกิดการประสานความร่วมมือโดยโอบรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงชาวไท-ยวนที่เดินทางไกลมาร่วมกิจกรรมจากหลายจังหวัด เพื่อก่อประโยชน์ในเชิงชาติพันธุ์สัมพันธ์(ethnicity) ให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ การพบปะพูดคุยเสวนาและร่วมพิธีกรรมทางศาสนา มาติกาบังสุกุลแด่ผู้ล่วงลับ ได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากชุมชนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ พ่อบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน ปราชญ์ไทลื้อเชียงแสน คุณแม่ทิพย์วรรณ โตแตง ชาติพันธุ์ยอง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเวียง พ่อบุญชู สุวรรณ ชาติพันธุ์ลาวหลวงพระบาง คุณสุพรรณ ทะสัน ชาติพันธุ์ไทลื้อ-ยอง นายช่างโยธาโครงการบูรณะและอนุรักษ์เมืองเชียงแสน พ่อสง่า อินยา ตัวแทนไท-ยวนน่าน พ่อวิทูรจ์ สกุลบุญแก้ว ตัวแทนไท-ยวนแพร่ คุณสุธัญญา สิทธิกูลเกียรติ ตัวแทนไท-ยวนสีคิ้ว คุณอนัญญา ราชจริต ตัวแทนไท-ยวนลำปาง ทพญ. มัลลิกา สมพร ตัวแทนไท-ยวนคูบัว คุณแซนดี โล ภัณฑารักษ์โครงการ Curatography The Study of Curatorial Culture ชาติพันธุ์ฮากกา และชาติพันธุ์อื่นๆ อีกหลายท่าน

กิจกรรมชาติพันธุ์สัมพันธ์ พิธีกรรมทางศาสนาและการเสวนาในหัวข้อ การพลัดถิ่น ณ โบราณสถานหมายเลข 16 เชียงแสน

ขออนุญาตคัดย่อบางส่วนของบทความ  จากเว็บไซต์ คนล้านนา ความว่า: “การไม่หลงตัวหลงตนหรือยึดติดความเป็นชาติพันธุ์นิยม ประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างจึงควรถูกสร้างผ่านเรื่องเล่าอย่างหลากหลาย ส่งผลให้ความหมายของประวัติศาสตร์ไม่มีหมุดหมายที่แน่ชัด มีความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พร้อมที่จะเปลี่ยนแปรภายใต้เงื่อนไขใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ต่อไป ไม่มีใครครอบงำผู้คนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยหลักการที่ว่ามานี้เป็นกรอบคิดสำคัญอันจะนำมาซึ่งความสนใจที่มีต่อ “ประดิษฐกรรมไทยวนคืนถิ่น” ซึ่งมุมมองทางวิชาการสำหรับผู้เขียนแล้ว กลับกลายเป็นประเด็นที่ว่าสภาวะความโหยหาอดีต (Nostalgia) ของความเป็นไท ยวนเกิดขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขและปัจจัยอะไร อดีตของประวัติศาสตร์การบังคับย้ายถิ่นอย่างรุนแรงนั้นมันสร้างความน่าโหยหาได้อย่างไร ความอิเหลืออิเหลื่อของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในการอยากจะกลับไปเป็นไทยวนที่ว่านี้ อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่สมบูรณ์ หรือถูกมองข้ามเรื่องบางเรื่อง ประเด็นต่างประเด็นไปอย่างน่าเสียดาย กลับกลายเป็นว่ากระบวนการฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยวนในหลายๆพื้นที่ ตามประสบการณ์ที่ผู้เขียน  ได้เคยมีโอกาสไปพบเจอมานั้นคือการหยิบจับเอา “ประดิษฐกรรมความเป็นล้านนา” (ที่ก็เพิ่งได้รับการประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงเวลาไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมานี้) อย่างเช่น การจัดงานเลี้ยงขันโตก ศิลปะการฟ้อนรำ หรือดนตรีพื้นเมืองล้านนา การแต่งหน้าแต่งตัวและเสื้อผ้าหน้าผม เป็นต้น”  

จากเนื้อความที่ยกมาข้างต้นนั้น หากจะให้ความเป็นธรรมแก่ชาวไท-ยวนพลัดถิ่น และเพื่อไม่เป็นการดูแคลน หรือตราหน้าผู้ใดว่าติดยึดความเป็นชาติพันธุ์นิยม (ethnonationalism) ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่โอนเอียงไปเพื่ออธิบายว่าวัฒนธรรมของใครดีกว่าหรือเหนือกว่าวัฒนธรรมใดๆ  อาจต้องมองกลับในมิติที่ไม่คับแคบหรือตื้นเขินผิวเผิน โดยใช้แนวคิดชาติพันธุ์สัมพันธ์(ethnicity) เป็นแว่นสายตาเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการทำความเข้าใจบริบทเชิงความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน กับการมีตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งในกรณีนี้ความเป็นชาติพันธุ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น แนวคิดเรื่องพรมแดนทางชาติพันธุ์ของ Fredrik Barth (b. 1928 – 2016)  มีผลให้การยึดถือเอาลักษณะทางวัฒนธรรมเป็นเกณฑ์กำหนดถูกลดทอนลงไป (รัตนา บุญมัธยะ, 2546: 123-124)  แล้วหันไปสู่การมองหาพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันเป็นสำคัญ

จิตรกรรมบนกำแพงวัดหนองโพ Myth of Giant White Eel, 2024 Artist: Dan Perjovschi (RO) in collaboration with Nongpho community elementary school students and baannoorg team

การเชื่ออย่างสุจริตใจว่าความพยายามสร้างประดิษฐกรรมไท-ยวน ไม่ได้เกิดจากความอยากกลับไปเป็นไท-ยวน ซึ่งพวกเขาเป็นอยู่ก่อนที่จะถูกอพยพกวาดต้อนแล้วนั้น อาจช่วยให้ข้อโต้แย้งนี้ดูจะมีทางออก กล่าวคือประดิษฐกรรมต่างๆ นั้นเกิดขึ้นจากความขาดแคลน ขาดช่วงไม่ปะติดปะต่อ ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าเมื่อครั้งที่ตั้งบ้านแปงเรือน สภาพทางสังคมของชาวไท-ยวนพลัดถิ่นในภาคกลางทั้งที่ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำแม่กลองหรือที่อื่นๆ ในเวลานั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร ในประเด็นนี้วิญญูชนโดยทั่วไปก็สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากนักหากเปิดใจกว้างและไม่คับแคบเกินจนใจ หลังจากที่ชาวไท-ยวนถูกกวาดต้อนลงสู่ลุ่มภาคกลางแล้ว สภาวะการจัดการระบบอาณานิคมภายใน (internal Colonialism) ของรัฐสยามซึ่งมีอำนาจนำ มีศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เป็นผู้กำหนดควบคุมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ให้กบฏแข็งขืน จึงต้องหลบซ่อนอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไว้เฉพาะในกลุ่มเครือญาติ การใช้ระบบการศึกษาก็เป็นเทคโนโลยีอีกประการที่สำคัญของนโยบายกลบกลืนชาติพันธุ์ในเวลาต่อมา(วสันต์ ปัญญาแก้ว, 2550: 239)  อันส่งผลมาสู่ชาวไท-ยวนรุ่นหลังและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หาหลักยึดต้นแบบไม่มี ต่างคนต่างพื้นที่ต่างพยายามหาหนทาง เท่าที่พวกเขาในเวลานั้นจะหาได้คิดได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชุมชนเพียงเท่านั้น

กิจกรรมไท-ยวนภายใต้โครงการ บ้านนอกไบแอนเนียล ครั้งที่ 4/2024 ในหัวข้อ จ้าวเฮาจิ่งเก๊า ณ วัดหนองโพ

คำกล่าวที่ว่าชาวไท-ยวนพลัดถิ่นหยิบจับเอา “ประดิษฐกรรมความเป็นล้านนา” มาสวมทับจึงเป็นคำกล่าวที่ล้นเกินด้อยค่าภูมิปัญญาชุมชน มิใช่ชุมชนไท-ยวนทุกชุมชนต้องเลี้ยงขันโตก สวมซิ่น รำฟ้อน ฟังดนตรีพื้นเมืองล้านนา แต่สภาวะขาดแคลนต้นแบบ(original) กลับสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ในลักษณะของการสร้างอัตลักษณ์ที่เน้นการมีส่วนร่วม(active identity) ซึ่งสามารถขยับเขยื้อนกรอบอัตลักษณ์ประดิษฐ์ที่หยุดนิ่งและตายตัวให้กลายเป็นกระบวนการที่เป็นอเนกลักษณะ (multiple identification) ทำให้พื้นที่ในการแสดงตัวตนของไท-ยวนพลัดถิ่น มีขอบเขตที่ขยายกว้างและหลากหลายมากยิ่งขึ้น (ประสิทธิ์ ลีปรีชา, 2557: 236)

บน: กิจกรรมไท-ยวนภายใต้โครงการ บ้านนอกไบแอนเนียล ครั้งที่ 4/2024 ในหัวข้อ จ้าวเฮาจิ่งเก๊า ณ วัดหนองโพ
ล่าง: ศูนย์วัฒนธรรมไท-ยวน ชุมชนหนองโพ (เดิมเป็นสถานีอนามัยตำบลฯ)

เป็นที่น่าสังเกตว่าบทความใน “คนล้านนา” ซึ่งอาจมีหน่อเนื้อเชื้อไท-ยวนอยู่ภายในไม่มากก็น้อย ทั้งในเชิงชาติพันธุ์และประวัติศาสตร์ร่วม       กลับมองคนพลัดที่นาคาด้วยกันเองในเชิง     ”อิเหลืออิเหลื่อ-อยากกลับไปเป็นไทยวน” ทั้งที่เราก็ใช้ iPhone 15 ดู Netflix จอใหญ่ 52 นื้ว ฟังเพลงแร็ป ใช้ DDJ-Controller/rekordbox เปิดเพลง และกินหมูกระทะเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทั่วไป จึงไม่น่าเป็นกังวลว่า “คนไท-ยวนพลัดถิ่น” ในลุ่มภาคกลางโดยเฉพาะกรณีศึกษาที่หนองโพ จะส่งต่อจิตสำนึกทางชาติพันธุ์ในแบบพิมพ์นิยมที่ว่า ที่พึ่งประกอบสร้างและประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากชาวไท-ยวนหมู่นี้ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณานิคมของล้านนามานานโข  

การเสนอบทความในเชิง”ปะล้ำปะเหลือ” ที่ปรากฏนั้น ดูย้อนแย้งในทีด้วยเหตุที่ตัวบทถูกนำเสนอผ่าน ”คนล้านนา” ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าจะได้รับผลกระทบจากไฟสงครามคราวเชียงแสนแตกเฉกเช่นเดียวกันกับชาวไท-ยวนในอดีต หรือนี่อาจเป็นความพยายามผลักไสไล่ส่งชาวไท-ยวนพลัดถิ่นในลุ่มภาคกลางให้ออกจากเขตแดนทางวัฒนธรรมดั่งเดิมไปเสีย

บ้านนอก 17 05 2024

Tags: No tags

Comments are closed.