29791162_1970179209965915_958286596208066560_o

เพียงแค่คำกล่าวอ้างบนฟางเส้นสุดท้าย

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หากเรามองไปรอบๆพื้นที่ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม พื้นที่ที่ควรมีความหลากหลายทางความคิดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ คนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของฝ่ายประชาธิปไตยมีอยู่ทั่วไป ทำไมการไม่ยอม รับความแตกต่างจึงใกล้ตัวเช่นนี้ และพวกเขากล่าวอ้างกันอย่างไร

อุดมการณ์ซ้าย-ขวานั้นเกิดขึ้นในโลกมานานแล้ว ฝ่ายขวาคือพวกนิยมเผด็จการ ต้องการความเป็นรัฏ ฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุด อยู่ในกรอบระเบียบภายใต้คำสั่ง มีความสงบความมั่นคง เชิดชูอุดมการณ์ชาติ นิยม คลั่งชาติและมักมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เชิดชูเผ่าพันธุ์ชาติตัวเองสูงส่งกว่าใครอื่นเสมอ รวมทั้งมักยกย่องคนมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม โดยมองว่าคนยากคนจนคือพวกคนขี้เกียจ คนไร้การศึกษา น่าสงสาร-สมเพช โดยมากเป็นคนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง อาทิกลุ่มที่ร่วมกันเป่านกหวีด ฯลฯ


ส่วนฝ่ายซ้าย หมายถึงพวกแหกกฎกติกา ที่เห็นว่าเป็นกรอบอันล้าหลัง และขาดซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล เป็นนักเสรีนิยมที่ไม่ชอบการตีกรอบทางความคิด ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนยากคนจนและคนด้อยโอกาส โดยมองมนุษย์มีความเท่าเทียมกันและมองเห็นว่าความยากจนนั้นแท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการถูกกีดกันให้คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยทัดเทียม เป็นผู้เรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์วรรณนา ปฏิเสธความคิดแบบชาตินิยม เพราะเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมมีที่มาจากความหลากหลายเชื้อชาติ


ในยามที่อุดมการณ์ขวาพิฆาตในสังคมไทยได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยบุคคลสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับสูง นักการเมืองสอบตกหรือสอบผ่าน ดารานักแสดงนักร้องหรือแม้แต่ศิลปินนักออกแบบผู้ปวารณาตนต่อกระบวนการชาตินิยม ฯลฯ

การให้ร้ายกระบวนการฝ่ายซ้ายให้ดูด้อยค่าด้อยราคา จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์การตอบโต้จากฝ่ายขาวชาตินิยมแบบสุดโต่ง ถูกนำกลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับหนังม้วนเก่าที่กลุ่มคนบางประเภทพยายามนำมาฉายใหม่ หรือแม้แต่การผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองและมุ่งให้เกิดความรุนแรง


วาทกรรมที่ว่านั้นหากสำริดผลขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ผลิตสร้าง มันสามารถขยายผลกลายเป็นเป็น ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐหรือผู้มีอำนาจและมีอิทธิพล เพื่อปลุกเร้ากระบวนการขวาพิฆาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการต่อต้านและประชาทัณฑ์ผู้ที่เห็นต่างด้วยการประหัตประหารโดยเลือดเย็น และไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ในทางกลับกันฟางเส้นสุดท้ายก็บังเกิดขึ้นกับกระบวนการฝ่ายซ้ายได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาต้องแบกรับการกดขี่คุกคามจากฝ่ายขาวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนบรรลุเป็นฉันทามติร่วมกันในการที่จะปลดแอกต่อสู่เพื่อความเป็นไทแก่ตนเองและเพื่อสังคมที่ดีกว่า

แน่นนอนว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ว่านั้นมิได้มีเพียงเส้นเดียว เนื่องจากกลุ่มกระบวนการขวาและซ้ายมิได้มีเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฟางเส้นนี้จึงเป็นฟางเส้นสำคัญเฉพาะแต่ละกลุ่ม แต่ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน นั้นก็หมายความว่าฝ่ายขวาหรือผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่ครอบครองเชิงอำนาจของตนและพวกพ้องไว้อย่างเหนียวแน่น


ในขณะที่กระบวนการฝ่ายซ้ายจำเป็นต้องขยายพื้นที่ความเห็นชอบเชิงเหตุและผล และทำความเข้าใจต่อผู้เห็นต่างให้หันกลับมาเป็นแนวร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันที่ว่าสังคมจะดีได้ด้วยการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ


จากกรณีศึกษาเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการขวาพิฆาต อ้างถึงฟางเส้นสุดท้ายหลายต่อหลายเส้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ การทำลายพระพุทธศาสนา และการถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่การปกครองในลัทธิคอมมิวนิสต์ ดูมันเข้าอีหรอบพวกชังชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในพ.ศ. นี้อย่างมีนัยสำคัญ

เพียงเพื่อสนองความเชื่อแบบสุดโต่งซึ่งนำไปสู่การกระทำอันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่กระทำต่อกระบวนการของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขามีฟางเส้นสุดท้ายเพียงเส้นเดียวคือ หลักการประชาธิปไตย


ตัวอย่างข้ออ้างของฟางแต่ละเส้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่า และประชาทัณฑ์บรรดานักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าคลั่งจากกระบวนการฝ่ายขวาพิฆาตในกรณี 6 ตุลาคม 2519


  • 1. หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา แต่ปรากฏว่าใบหน้าผู้แสดงของนักศึกษาคือ นายอภินันท์ บัวหภักดี เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชในเวลานั้นอย่างไม่คาดหมาย

  • 2. ต่อมาหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้เลือกเอารูปการแสดงละครของนายอภินันท์ที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุด เพื่อตีพิมพ์ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็วแล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของคอมมิวนิสต์
  • 3. สถานีวิทยุทหารทุกแห่งออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล โดยอ้างเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง

  • 4. การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ กล่าวโดย กิตติวุฑโฒภิกขุ

  • 5. พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระถนอม ว่ามีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะและ นสพ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม

  • 6. กิตติวุฑโฒภิกขุ ย้ำว่าการบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์

  • 7. คุณหญิงเกษหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่าได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกันอย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด

  • 8. พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

  • 9. นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรฯ กลางดึกแสดงให้เห็นว่าพระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป

  • 10. นายส่งสุข ภัคเกษม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา ได้ออกมาแถลงข่าวใส่ร้ายกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของนายดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ และนายชวน หลีกภัย คือ ท่อน้ำเลี้ยงจ่ายเงินให้แก่ศูนย์นิสิต 8 แสนบาท

  • 11. ชมรมแม่บ้านเรียกร้องให้คงเรดาห์ของอเมริกาไว้ในประเทศไทย แทนที่จะเห็นว่าการตั้งเรดาห์ของสหรัฐเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยชมรมแม่บ้านซึ่งก่อตั้งโดยทมยันตี

  • 12. กลุ่มแม่บ้าน เรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์, นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี และให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคนโดยใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด

  • 13. กิจการลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” (คำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์)

  • 14. ลูกเสือชาวบ้านเคลื่อนย้ายกำลังไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยอ้างว่าเพื่อถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเกรงว่าจะมีพวก” หนักแผ่นดิน” มาบุก
  • 15. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้านแจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหวโจมตี

  • 16. หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ประโคมข่าวเรื่องแผน 3 ขั้นตอนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่จะยึดกรุงเทพฯ จากนั้นชมรมวิทยุเสรีก็รับเอาเรื่องนี้ไปประโคมในหมู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าคอมมิวนิสต์จะยึดเมือง

  • 17. เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

  • 18. สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

  • 19. กลุ่มนวพลในนาม(ศูนย์ประสานงานเยาวชน) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

  • 20. นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกลุ่มกระทิงแดง ได้เปิดเผยหลักการทำงานของกระทิงแดงว่า จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป

  • 21. นายสุชาติ ประไพหอม ผู้นำกลุ่มกระทิงแดง ประกาศตั้งแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ และประกาศให้ไม่ให้ประชาชนใช้ถนนราชดำเนินซึ่งนักศึกษาใช้เดินขบวนถ้าไม่เชื่อจะไม่รับรองความปลอดภัย

  • 22. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ติดอาวุธหนักครบมือ เช่นปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส. และปืนครก บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์


*หลังจากเหตุการณ์ นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯในขณะนั้น ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหารพวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ


เอกสารอ้างอิง

บันทึก 6 ตุลาDocumentation of Oct 6 https://doct6.com/learn-about/how/chapter-6
Tags: No tags

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *