OOO ความจริงในวัตถุ: กรณีศึกษา Friction Current: Magic Mountain Asian Art Biennial 2019 (part II)

บทความโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

OOO: II

จากตัวอย่างวิธีวิทยา OOO ในผลงาน Friction Current: Magic Mountain Project 2019 โครงการศึกษาวิจัยทาง ทัศนศิลป์ (artistic research based project) โดยศิลปินคู่ชาวไทย jiandyin ในนิทรรศการฯ ครั้งนี้เป็นโครงการที่มุ่งความสนใจในพื้นที่ทางธรณีวิทยาและชีววิทยาในประเด็นเกี่ยวกับ Zomia เป็นสำคัญ

โดยผนวกรวมประดิษฐ์กรรม(fiction)เชิงสุนทรียะให้บรรจบกับข้อมูล พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมการเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องเล่าและตำนาน ด้วยการสืบสวน การลงพื้นที่ภาคสนามซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อแสวงหาพยานวัตถุจากยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) นำมาเชื่อมโยงเข้ากับพยานวัตถุ ทางชีวเคมีที่ตรวจพบในสารคัดหลั่งของมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

ภาพแสดงแผนที่ Zomia

จากการศึกษาภูมิ-รัฐศาสตร์ของพื้นที่ Zomia ซึ่งระบุไว้ในแผนที่และประวัติศาสตร์การโยกย้ายถิ่นฐานของชนชาติไทยในช่วงสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเชื่อมโยงชนชาติไทยเข้ากับแนวคิดเรื่องการอพยพโยกย้ายจากเหนือลงใต้ จากบนลงล้าง จากเทือกเขาอัลไตลงมาสู่พื้นราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาพแผนที่ฉบับนี้ระบุว่าพื้นที่ Zomia ทั้งหมดเป็นพื้นที่ของบรรพบุรุษกลุ่มชนชาติไทยด้วยเหตุที่ใช้ภาษาในกลุ่มไตกะไดในการสื่อสาร

รัฐบาลสมัยนั้นต้องการสื่อถึงขอบเขต พื้นที่ ปริมณฑล และอำนาจความยิ่งใหญ่ในเชิงภูมิกายาของรัฐชาติ ด้วยความหลงใหลในเผ่าพันธุ์ตนเอง ทำให้เชื่อได้ว่าชนชาติไทยและชาว Zomia ต่างก็มีสาแหรกและ DNA ร่วมกัน ในปัจจุบันภาพความเข้าใจของชาวไทยที่มีต่อพื้นที่และผู้คนใน zomia อาจมิได้เป็นอย่างที่เข้าใจอีกต่อไป

ภาพแสดงการเคลื่อนที่ของชนชาติไทย และภาพแสดงแผนที่Zomia

เอกสารของ James C. Scott ระบุว่าพื้นที่ Zomia เป็นพื้นที่ไร้รัฐ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่มานานนับพันปี เป็นพื้นที่บนภูเขาสูงซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 80 ล้านคน เป็นพื้นที่ที่คนจากพื้นราบใช้หลีกหนีการควบคุมจากอำนาจรัฐ ซึ่งไต่ขึ้นไปไม่ถึงและเป็นที่หลบซ่อนของใครหลายคน โดยทั่วไปแล้วพวกเขามีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเอง

ผู้คนใน Zomia เล่าขานตำนานกำเนิดโลกหรือจักรวาลวิทยาของตน เพื่ออธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์กายภาพ และธรณีวิทยาของพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัยไว้อย่างน่าสนใจ ตำนานกล่าวว่า “ภูเขาคือผืนแผ่นดินที่ยับย่น และสอยเอาไว้ด้วยด้ายชนิดพิเศษ” จากลักษณะทางกายภาพของภูเขาที่มีความสลับซับซ้อน รวมถึงทรัพยากรทางธรรมชาติและสินธุแร่ที่อุดมสมบูรณ์ คำถามที่ว่า ”เส้นด้ายชนิดพิเศษนั้นคืออะไรและมันมีความพิเศษอย่างไร” เป็นคำถามที่ศิลปินพยายามหาคำตอบ

ภาพ 3D แสดงลักษณะแผ่นผืนที่ยับย่นทางภูมิศาสตร์ของ Zomia

จากข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่าพื้นที่ Zomia เป็นแหล่งที่พบหินแปร(metamorphic rock) ซึ่งก่อตัวขึ้นในยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) หรือประมาณ 4,600 ล้านปีที่แล้ว ก่อนมีสิ่งมีชีวิตเปลือกแข็งปรากฏตัวขึ้น หินแปรคุณภาพสูงและมีมูลค่านี้เรียกว่า หยก jadeite พบมากในพื้นที่รัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของประเทศเมียนมาติดพรมแดนจีน เหมืองหยกสีเลือดแห่งผากันนี้ได้ชื่อว่าเป็นเหมืองที่โหดร้ายและอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ภาพทางอากาศกูเกิลเอิดพื้นที่เหมืองพากัน

แรงงานในเหมืองถูกกดขี่และไม่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เพียงพอ จากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของหน้าดินที่พร้อมจะยุบตัวเมื่อชุ่มน้ำในฤดูฝน ก่อให้เกิดหายนะคร่าชีวิตผู้คนมากมายทุกปี รวมถึงปริมาณการใช้สารเสพติดทั้งเฮโรอินและเมตแอมเฟตามีนซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่หนึ่งซอง แน่นอนมันมิใช่เพื่อสันทนาการแต่เพื่อการทำงานแบบnon stopหามรุ่งหามค่ำตลอดวันตลอดคืน แรงงานชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เข้าไปขุดเขี่ยเก็บหาเศษหินหยกด้วยมือเปล่าเพื่อนำไปขายในตลาดมืด

ภาพแสดงการใช้ยาเสพติดของกลุ่มแรงงานที่ลักลอบเข้าไปหาหินหยกในเหมือง: ภาพจาก The Myanmar Times

บันทึกทางธรณีวิทยาของอังกฤษ ระบุว่า William Griffith (1810-1845) คือชาวต่างชาติคนแรกที่เข้าสำรวจเหมืองหยกเมืองพากัน เขาได้เขียนแผนที่และศึกษาธรณีวิทยาของพื้นที่เหมืองในรัฐคะฉิ่นและฉานไว้อย่างละเอียด เอกสารของเขาถูกตีพิมพ์ในปี 1890 มันได้กลายเป็นลายแทงขุมสมบัติที่มีมูลค่ามหาศาลในเวลาต่อมา

ทุกวันนี้เหมืองหยกพากัน กลายเป็นแหล่งฟอกเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยผลประกอบการสัมปทาน ของบริษัทเอกชนเมียนมาซึ่งมีนายทหารระดับสูงเป็นผู้ถือหุ่นใหญ่ บริษัทเอกชนจีนและญี่ปุ่น มีรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ(Global Witness) ระบุว่าในปี 2012 สัมปาทานเหมืองหยกแห่งนี้จัดเก็บคัดแยกหยกได้จำนวน 43 ล้านล้านกิโลกรัม(MM Kg.)

ภาพกลุ่มแรงงานที่ลักลอบเข้าไปหาหินหยกในเหมืองภาพจาก The Myanmar Times
ภาพหินแร่หยกขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่สัมปาทานเมืองพากัน

ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ(MM US$) ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาจัดเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมเหมืองหยกได้เพียง 34 ล้านล้านเหรียญ สหรัฐฯ(MM US$) ทำให้เกิดส่วนต่างที่เป็นปัญหาในการสำแดงภาษี นั้นคือคำถามที่สำคัญสำหรับห่วงโซ่ธุรกิจมืดในกลุ่มผู้ผลิต-ค้ายาเสพติดและกองกำลังติดอาวุธ

ในการศึกษาเก็บตัวอย่างทางธรณีวิทยา ศิลปินได้ลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อสืบค้นและเสาะแสวงหาพยานหลักฐาน ตัวอย่างสินแร่จากเหมืองที่ผากัน ผ่านแหล่งธุรกิจการค้าอัญมณีของกลุ่มพ่อค้าชาวเมียนมาที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมต่อไปสู่เครือข่ายพ่อค้าคนกลางหรือพ่อค้าในตลาดมืดที่กรุงมัณฑะเลย์จุดพักและตลาดค้าหยกที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา

เขตพื้นที่สัมปาทานเมืองพากัน

และเพื่อให้แน่ใจว่าหินที่ได้มาคือหยก jadeite ศิลปินได้นำตัวอย่างหินเข้าสู่ห้องทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกเอกสารใบรับรองสารประกอบแร่ธาตุโครงสร้างทางโมเลกุลของหินหยก jadeite ซึ่งมีความแตกต่างจากหินหยก Nephrite ที่พบมากในส่วนอื่นๆของโลก

ลักษณะทางธรณีภาค (Lithosphere) ชนิดพิเศษเฉพาะพื้นที่ Zomia ได้ประดิษฐ์สร้างสายแร่ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความมันวาวคล้ายแก้วด้วยค่าซิลิกอนสูง โปร่งแสงและมีความแข็งอยู่ที่ 6.5-7 ด้วยโครงสร้างทางเคมีของสารประกอบซิลิกอน, อะลูมิเนียม, โซเดียมฯ ในสูตรทางเคมี NaAlSi2O6

Jade Mine expedition map
Jadeite molecular-structures 162 pm = 0.162 nm

แผ่นผืนธรณีภาคที่ยับย่นแห่งZomia นี้ก่อตัวขี้นด้วยแรงดัน แรงเสียดทานมหาศาลเมื่อครั้งเกิดธรณีกาลในขณะที่ให้ความร้อนสูง สายแร่เหล่านี้ได้ขึงเนาผืนแผ่นดินที่ถูกย่นเอาไว้ไม่ให้คลี่หรือคลายตัวออกขณะที่ธรณีภาคเย็นตัวลงซึ่งกินเวลานับล้านปี สายแร่เหล่านี้จึงตอกย้ำความเชื่อและอุปมาแนวคิดเชิงจักรวาลวิทยาของ Zomia ได้อย่างแยบคลายทีเดียว

จากความขัดแย้งทางชาติพันธ์อย่างรุนแรงในเมียนมาหลังจากสนธิสัญญาปางหลวง (Panglong Agreement) ถูกฉีกทิ้ง ยังผลให้สินแร่หยก jadeite หรือเส้นด้ายชนิดพิเศษที่ผู้คนใน zomia เล่าขนานกลายเป็นตำนานเสียสิ้น เมื่อรัฐบาลเมียนมาขับไล่กลุ่มชาติพันธ์ออกจากพื้นที่เขตสัมปาทานเหมือง พวกเขาต้องผลักไสตนเองกลับเข้าไปเป็นแรงงานในพื้นที่ คุ้ยเขี่ยหาเศษด้ายชนิดพิเศษหรือหินวิเศษสำหรับชีวิตและรายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว

Panglong Agreement 12 February 1947

The Myanmar Times รายงานว่าในพื้นที่เมืองพากันมีบริษัททำเหมืองได้รับสัมปาทานจากรัฐบาล กว่า 350 บริษัท เครื่องจักรทำงาน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน มีแรงงานทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายประมาณ 300,000 คน และในรายงาน ขององค์กรเอกชน(NGO)ในรัฐคะฉิ่น ระบุว่า 75-90 % ของแรงงานทั้งหมดใช้ยาเสพติด

Barbara-Hutton, Queen of jadeite and Khun Sa, Shan drug lord

ความมหัศจรรย์ของภูเขาที่ยับย่นแห่งนี้นอกจากผืนธรณีกาลที่ปรากฏเป็นสายแร่หยก jadeite เมื่อครั้งแผ่นผืนอินเดียชนเข้ากับแผ่นผืนยูเรเซีย ดันตัวให้เกิดยอดเอเวอเรสต์และภาคผืนแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงบรมยุคนั้นเอง หากในปัจจุบันสายแร่หยกได้ไหลเข้าไปพัวพันโยงใยกับสายการผลิตและกระบวนการค่ายาเสพติดโดยเฉพาะเมตแอมเฟตามีนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเร่งกำลังผลิตของอุตสาหกรรมเหมืองหยก

ระบบนิเวศของห่วงโซ่ในธุรกิจสีเทาการฟอกขาวและการสะสมทุนเพื่อจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีโครงข่ายแทรกซึมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ-ใต้ และข้ามไปสู่ทวีปออสเตรเลีย อย่างที่เราทราบกันดีว่าเคยมีอดีตรัฐมนตรีของไทยก็เคยถูกจับกุมในคดีลักลอบข้นยาเสพติดเข้าประเทศออสเตรเลียมาแล้ว

ภาพแสดงเส้นทางลำเลียเมตแอมเฟตามีน: ภาพโดย UNODC; The Economist

หลังจากยุคขุนส่าและการผลิตเฮโลอีนเฟื่องฟู เมตแอมเฟตามีนกลายเป็นหนึ่งในอัตราเร่งที่มีความเร็วสูงทั้งแง่ดีมานด์และซัพพลาย ขบวนการผลิตที่มีปริมาณและความรวดเร็วกลายเป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญ เมื่อเทียบกับสายการผลิตเฮโลอีนซึ่งต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติและระบบเกษตรกรรมในพื้นที่ลาดชัน สภาพดินฟ้าอากาศและน้ำกลายเป็นตัวแปรต่อผลผลิตฝิ่นต่อปีต่อไร่ซึ่งให้ความไม่แน่นอนต่อปริมาณผลผลิต

เมตแอมเฟตามีนนั้นถูกค้นพบในปีค.ศ. 1887 โดย Lezer Edeleanu (1861-1941) นักเคมีชาวโรมาเนีย ต่อมา Nagayoshi Nagai (1844–1929) นักเคมีชาวญี่ปุ่น เป็นคนแรกที่สังเคราะห์สารประกอบ C10H15N ในเมธแอมเฟตามีนออกจาก Ephedrine ได้ปี ค.ศ. 1893 จากนั้นในปีค.ศ. 1919 Akira Ogata (1887-1978) นักชีวเคมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้พัฒนาการขั้นสุดในการสังเคราะห์สารประกอบรูปผลึก

ภาพแสดง Epheadra plant หรือ ต้นหม่าหวง

ด้วยการทดลองกับพืชสมุนไพร Epheadra หรือต้นหม่าหวงพืชโบราณซึ่งในประเทศจีนได้ใช้พืชชนิดนี้มายาวนานกว่า 4,000 ปี สำหรับเป็นยาแก้ไอ แก้หอบหืด ลดน้ำมูก และขับปัสสาวะ หรือใช้ป้อนสัตว์พาหนะหรือม้าศึก เพื่อกระตุ้นให้ทำงานได้มากขึ้น เนื่องจากมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้สัตว์ร่าเริง คึกคัก และทรงพลัง

ขบวนการถอนออกซิเจนภายในสารประกอบซูโดเอฟิดรีนออกไปหนึ่งหน่วย ทำให้ได้คริสตัลเมธคุณภาพซึ่งกลายเป็นต้นแบบของกระบวนการผลิตเมธแอมเฟตามีนในปัจจุบัน ในการทดลองขั้นสุดนี้ Ogata ได้ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อนของการสังเคราะห์ จนเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้เพียงมีความเข้าใจขั้นพื้นฐานทางเคมีและอุปกรณ์เท่านั้น มีรายงานว่าเมตแอมเฟตามีนถูกนำใช้ในกองทัพระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองอย่างกว้างขวาง ทั่งฝ่ายอักษะและฝ่ายสัมพันธ์มิตรเพื่อกระตุ้นความตื่นตัวของกำลังพล ผู้นำอย่างฮิตเลอร์ก็ใช้เมตแอมเฟตามีนเป็นประจำผ่านการจัดและควบคุมโดย Dr. Theodor Morrell (1886-1948) ในช่วงที่นาซีมีอำนาจเมตแอมเฟตามีนได้แพร่กระจายไปในกองทัพและสังคมเยอรมันในชื่อว่า Parvitin มีหลักฐานพบว่ากองทัพนาซีใช้ Parvitin ไปมากกว่า 200 ล้านเม็ดระหว่างปีคศ. 1939-1945

ภาพแสดงโฆษณาใบปิดเมตแอมเฟตามีนในตราสินค้าต่างๆ

ในญี่ปุ่นเองมีการใช้เมตแอมเฟตามีนในกองทัพ และได้รับความนิยมตามสรรพคุณยาขยันที่ชื่อว่า Philopon โดยเฉพาะการใช้ตัวยาผสมเข้ากับช็อคโกเลตให้กับนักบินกามิกาเซกินก่อนขึ้นบินเพื่อปฏิบัติภารกิจ plane boom ในสมรภูมิรบด้านแปซิฟิค แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียช่วงทศวรรษที่ 1960-1970 ก็มีการโฆษณาสื่อสรรพคุณของเมตแอมเฟตามีนสำหรับคุณแม่บ้านที่ไม่ต้องการให้สามีของเธอเลียวมองหญิงอื่นด้วยความผอมเพรียว และขยันตื่นเพื่อเตรียมอาหารเช้าด้วยเสน่หาอยู่เสมออย่างไม่เหน็ดเหนื่อย

ในช่วงที่การผลิตเฮโลอีนซบเซาหลังขุนส่า หรือจาง ซีฟู หรือจันทร์ จางตระกูล วางอาวุธในปี ค.ศ. 1996 ส่งผลให้กองกำลังที่เหลือแยกย้ายไปตั้งฐานที่มั่นแห่งใหม่ หลายกลุ่มละทิ้งวิธีและขบวนการอันล้าหลังหันเข้าหาสารเคมีเต็มรูปแบบ มันคือจุดเปลี่ยนของการเคลื่อนย้ายฐานอำนาจกองทัพเมิงไต ไปสู่กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์พม่าหรือกองทัพว้าแดงนั้นเอง

อันที่จริงแล้วเมตแอมเฟตามีนที่ผลิตในรัฐฉานทุกวันนี้ เรียนรู้วิธีเชิงบังคับจากแหล่งที่มีต้นกำเนิดในย่านปริมณฑลของกรุงเทพฯ นี้เอง โรงผลิตเมตแอมเฟตามีนยตราเป่าบุ้นจิ้นของนางกัลยาณี อร่ามเวชอนันต์ สามีและบุตรชาย 2 คนที่เรียนจบด้านเคมีจากประเทศไต้หวันถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุม คนงานผู้ช่วยที่ได้รู้สูตรกาารผลิตจากบุตรชายของเธอต่างหลบหนีเข้าไปซ้อนตัวในพื้นที่ Zomia และร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตเฮโรอีนเดิมให้หันมาผลิตเมตแอมเฟตามีน

ศิลปินให้ความสนใจต่อกระบวนการทางชีวเคมีของสารคัดหลั่งจากร่างกายมนุษย์ ในฐานะที่ไม่ใช้วัสดุทางศิลปะ( Non-conventional art material) พวกเขาลงพื้นที่สืบค้นและเสาะแสวงหาพยานหลักฐาน ตัวอย่างสารคัดหลั่งจากปัสสาวะของผู้เสพเมตแอมเฟตามีนในประเทศไทย จำนวน 8 ลิตรเพื่อจัดส่งไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสถานแห่งชาติไต้หวัน สารคัดหลั่งจากผู้เสพเมตแอมเฟตามีนเหล่านี้สามารถเชื่อมโยง บ่งชี้หรือระบุแหล่งผลิตเมตแอมเฟตามีนที่กระจายตัวกว่า 37 แห่ง ยังไม่นับโรงงานแบบโมบายอีกเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่รัฐฉานแหล่งผลิตเมตแอมเฟตามีนที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ภาพแสดงอุปกรณ์ และตำแหน่งโรงผลิตเมธแอมเฟตามีนในพื้นที่รัฐฉาน: ภาพประกอบโดย DNC, police & RAB

จากการศึกษาพบว่าสารประกอบเมตแอมเฟตามีนจะคงสภาพครึ่งชีวิตประมาณ 1,000 นาโนกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร หรือประมาณ 50% ในปัสสาวะของผู้เสพเป็นระยะ 4-5 วัน ขึ้นอยู่กับปริมาณที่เสพ ศิลปินได้นำตัวอย่างสารคัดหลั่งของผู้เสพเมตแอมเฟตามีน ส่งตรวจในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณะสุข เพื่อยืนยันและออกใบรับรองเอกสารตรวจจับสารประกอบ C10H15N ที่ปนเปื้อนในตัวอย่างปัสสาวะ

ภาพแสดงสารประกอบ C10H15N และเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด

และเพื่อให้แน่ใจว่าปัสสาวะที่ส่งไปไต้หวัน สามารถสกัดเอาสารประกอบ C10H15N โดยขบวนการทางวิทยาศาสตร์กลับออกจากปัสสาวะได้อีกครั้ง การจัดส่งปัสสาวะจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และขั้นตอนมากมายรวมถึงการยืนเอกสารรับรองต่อกรมควบคุมโรคเพื่อนำปัสสาวะที่ตรวจแล้วว่าปราศการเชื้อหรือโรคติดต่อใดๆ จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งตามที่กฎหมายระบุ ณ จุดนี้ศิลปินมองเห็นช่องโว่ในระบบการจัดส่งและการเคลื่อนย้ายตัวอย่างปัสสาวะที่ปนเปื้อนเมตแอมเฟตามีน โดยไม่ต้องสำแดงสารประกอบ C10H15N

ตัวอย่างสารคัดหลั่งจากปัสสาวะของผู้เสพเมธแอมเฟตามีนในประเทศ

ในขั้นตอนการขนส่งนั้นสิ่งที่สำคัญคือการควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 8-15 องศาเซลเซียส เพื่อรักษาพยาธิสภาพของปัสสาวะไม่ให้บูดเสียตลอดเส้นทางการขนส่ง จากสตูดิโอบรรทุกไปกับรถที่คุมความเย็น เข้า cargo ห้องเย็นที่สนามบินปลายทางที่กรุงไทเปก่อนที่จะมีรถคุมความเย็นมารับเพื่อเดินทางต่อไปที่เมืองไทจงอีกที

อ่านต่อ: OOO ความจริงในวัตถุ: กรณีศึกษา Asian Art Biennial 2019 [exhibition review] (part 3)

Tags: No tags

Comments are closed.