มุมมองของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในภาคอีสานผ่านเพลง: ผู้ใหญ่ลี

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย : ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

อำนาจและนโยบายของภาครัฐดูเป็นเรื่องขบขันในสายตาชาวบ้านอย่างเราๆเสมอ อาจเป็นไปได้ที่รัฐไม่เคยสนใจว่าชาวบ้านต้องการอะไร  เพราะรัฐไทยไม่เคยยึดโยงตนเองเข้ากับประชาชนซึ่งมีฐานะเป็นนายจ้างของพวกเขา ไม่ว่าจะออกคำสั่งให้ผู้ใหญ่ลีจะตีกลองสักกี่ครั้งเราก็ไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจรัฐได้เลย

ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ‎– CTR 547, Crown Records (18) ‎– CTR 547 Format: Vinyl, LP, Album

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548) เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง เกิดขึ้นเมื่อครูพิพัฒน์คิดแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีให้เธอร้องบนเวทีเพื่อเล่นกับตลกสี่สี ได้แก่สีเผือก สีสุริยา สี หมึก สีเทพ (เทพ เทียนชัย 2480- 2537)

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาประกาศนียบัตร ปก.ศ.ต้นจากอุบลราชธานี หลังจากนั้นได้เดิมทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่งเมื่อได้ข่าวมีการประกาศรับสมัครนักร้องของครูไพบูลย์ บุตรขัน  เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู และได้บันทึกเสียงในที่สุด

ในทศวรรษที่ 1960 ผู้ใหญ่ลี (2504) หนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ และมีเพลงที่แตกออกไปหรือนำมาทำใหม่อีกหลายครั้ง เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการแสดงหมอลำในจังหวัดอุบลราชธานี เนื้อหาเกี่ยวกับต้นแบบของรัฐไทยและระบบราชการในท้องถิ่นอีสาน ซึ่งไม่คุ้นเคยกับภาษาไทยกลาง และมักจะสับสนกับคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาล

ที่สำคัญเนื้อร้องยังสะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร ตลอดจนความเข้าใจที่ต่างกันระหว่าง อำนาจรัฐ ผู้นำชุมชน และ ชาวบ้าน อย่างลึกซึ้ง ยอกย้อนและงดงาม อีกทั้งยังสะท้อนความผิดพลาดในการบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้มุมมองของภาครัฐที่มีต่อประชาชนในภาคอีสานอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพตัวแทนรัฐตามแบบต้นฉบับ(stereotype) ถูกนำเสนอเชิงส่อเสียดในรูปลักษณ์ผิดที่ผิดทางและอุปลักษณ์สิ่งต่างๆข้ามมาบรรจบกันเชิงอ้วนกลมไร้คอหล่อและดำ ในท่อนที่ว่า “คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง เอวบางเหมือนยางรถยนต์ รูปหล่อเหมือนตอไฟลน หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา” ในท่อนสุดท้ายนั้นเป็นภาษาอีสาน เสียงตัว ช.ช้าง จะออกเสียงเป็นซ.โซ่ เวลาเขียนเลยเขียนเป็น ซ.โซ่ ไป “เขียงน้อย” คือเขียงขนาดเล็กใช้สำหรับซอยกัญชา ในประเด็นนี้ตัวบทคำร้องไม่น่าจะหมายถึงหน้าเหมือนเขียงกัญชา ด้วยอุปมาใบหน้ากับรูปทรงสัณฐานที่กลม แบน มีรอยบุ๋มกลางเขียง แต่น่าจะเป็นภาพตัวแทนภาครัฐสายเขียวขำๆ ควันๆ

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (2480- 2548)

สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “สาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง “ผู้ใหญ่ลี” ไม่ใช่เพียงถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอกเท่านั้น หากเป็น “ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์” ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทที่ล้มเหลวของรัฐ และกลไกอำนาจที่ดูน่าขันแต่ไม่ขันของภาครัฐอีกด้วย

เจมส์ ลีโอนาร์ด มิตเชลล์ (James Leonard Mitchell) กล่าวไว้ในงานวิจัยของเขาว่า วัฒนธรรมอีสานค่อนข้างเฟื่องฟูมากหากแต่รัฐบาลตั้งแต่ช่วงปี 2500 เป็นต้นมามีแนวโน้มปราบปรามวัฒนธรรมอีสานในหลายรูปแบบ เช่น กีดกันไม่ให้มีการใช้ภาษาอีสานในโรงเรียนต่างๆ ทั้งในรูปแบบการพูดและการเขียน ซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน รวมถึงก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3/2845 ให้เปลี่ยนคำเรียกไท-ลาว เป็น ไทยอีสาน ในคราวเดียวกันกับคำว่าไท-มาลายู ให้เปลี่ยนการเรียกเสียใหม่ว่า ไทยมุสลิม

เพื่อปรับความสัมพันธ์ภายในสังคมผ่านการสร้างจินตนากรรมทางสังคม ที่ก่อกำเนิดและขยายแนวคิดชาตินิยมขึ้นมา หรือที่ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson 1936- 2015) เรียกว่า ชุมชนจินตกรรม คำว่าอีสานในฐานะประดิษฐกรรมของรัฐไทยจึงไม่ใช่พื้นที่ทางกายภาพ หากเป็นพื้นที่ทางสังคมและพื้นที่ในจินตนาการเท่านั้น ในเวลาเดียวกันมันได้ทำการลบข้อมูลหรือสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาคและชาติพันธ์ุไท-ลาวอีกด้วย

ส่วนอีสานในมุมมองนักมานุษยวิทยาอย่าง ชาร์ลส์ เอฟ คายส์(Charles Keyes 1937-) มันคือ ภาพสะท้อนถึงการดำรงอยู่ของความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐไทยและอีสาน แนวคิดทางรัฐศาสตร์การเมืองปกครองในสไตล์โคโลเนียลของรัฐไทยจึงไม่อนุญาตให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุไท-ลาวเรียกตนเองว่า ลาว ในฐานะกลุ่มชาติพันธ์ุและพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้คนกลุ่มชาติพันธ์ุนี้เรียกตนเองว่าเป็นคนชาติพันธ์ุไทยทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ

ภาพอุปมาในตัวบทเพลงซึ่งนำเสนอความเปราะบางในเชิงโครงสร้างของรัฐ และห่วงโซ่อำนาจที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ย้อนกลับแบบไม่เป็นโล้เป็นพายของผู้ใหญ่ลีตัวแทนภาครัฐที่ไม่สามารถสื่อสารไขข้อสงสัยหรือแม้แต่สร้างความเข้าใจให้แก่ชาวอีสาน อย่างขบเขี้ยวและแสบสัน นับประสาอะไรกับสุกรและหมาน้อยแตกต่างกันอย่างไรรัฐยังไม่สามารถอธิบายได้ “ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล” อะไรจะขนาดนั้น

เพลง ผู้ใหญ่ลี

ขับร้องโดย ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

เนื้อร้องโดย ครูพิพัฒน์ บริบูรณ์ (อิง ชาวอีสาน)

ทำนองดัดแปลงมาจาก รำโทน

พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม

ชาวบ้านต่างมาชุมนุม มาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี

ต่อไปนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว

ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา

ทางการเขาสั่งมาว่า

ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร

ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร

ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใด

สุกรนั้นไซร้คือหมาน่อยธรรมดา

หมาน่อย หมาน่อยธรรมดา

สายัณห์ตะวันร้อนฉี่

ผู้ใหญ่ลีขี่ม้าบักจ้อน

แดดฮ้อนฮ้อนใส่แว่นตาดำ

ผู้ใหญ่ลีกลัวฝนจะตกฮำ

ถอดแว่นตาดำฟ้าแจ้งจางปาง

ฟ้าแจ้งฟ้าแจ้งจางปาง

คอกลมเหมือนดั่งคอช้าง

เอวบางเหมือนยางรถยนต์

รูปหล่อเหมือนตอไฟลน

หน้ามนเหมือนเขียงน้อยซอยซา

เขียงน่อย เขียงน่อย ซอยซา

เขียงน่อย เขียงน่อย ซอยซา

อ้างอิง

ผู้ใหญ่ลี (วาทูซี่) https://www.youtube.com/watch?v=Qfzd2q8fTy8

เอกสารอ้างอิง

https://www.bangkokpost.com/life/arts-and-entertainment/700840/from-the-field-to-the-protest

https://www.isangate.com/new/15-art-culture/artist/468-saksri-sri-akson.html

http://oknation.nationtv.tv/blog/komchadluek/2013/01/23/entry-1

ความจริงในภาพชนบท

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย: ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

ภาพชนบท ประดิษฐกรรมเชิงสุนทรียะเพื่อเป้าหมายทางอุดมการณ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองวัฒนธรรม ภายใต้นิยามของ กรัมซี่ มันคือกิจกรรมของการช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด (war of position) ผ่านละมุนภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างโลกทัศน์ทางสังคมการเมืองขึ้นมา

คนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะในชนบท ล้วนมีภาพจำภาพวาดชนบทไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละท้องถิ่นและภูมิภาค ภาพวาดชนบทสำหรับคนชนบทกลับกลายเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งอย่างที่สุดเมื่อพิจารณาภาพวาดในฐานะ Representation หรือนิยามของสัญญะภาพตัวแทน

ในช่วงทศวรรษที่ 1950-1970 ภาพชนบทเป็นภาพวาดที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน และทุกๆวัน ภาพวาดชนบทแทรกซึมอยู่ในพื้นที่สาธารณะทั่วไป เมื่อออกจากบ้านการรับชมผลงานภาพชนบทก็มากขึ้น ในทุกๆทุกเช้าขณะโดยสารรถสองแถวออกจากบ้านในตำบลเล็ก ๆ ไปโรงเรียนในตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด และกลับบ้านในตอนเย็น

ภาพชนบทได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คน เจ้าของรถแต่ละคันทำหน้าที่เป็นผู้จัดการหอศิลป์เคลื่อนที่ และภัณฑารักษ์ด้วยตนเอง ต่างสรรหาผลงานภาพวาดชนบทโดยช่างศิลป์ยอดฝีมือตามหัวเมืองมาจัดแสดงในรถของตน นอกจากรถสองแถวยังรวมถึงบรรดารถสิบล้อซึ่งนิยมจัดแสดง (exhibiting) ภาพชนบทที่ตัวรถไม่แพ้กัน

พื้นที่การจัดแสดงผลงานภาพวาดชนบท

การวิเคราะห์ภาพชนบทในเชิงสุนทรียะด้วยหลักการทางทัศนธาตุของเส้น สี รูปทรง แสงเงา เป็นสิ่งที่อธิบายได้ไม่ยากนักเมื่อเทียบกับการวิเคราะห์ความจริงในภาพวาดซึ่งสลับซับซ้อนมากกว่า  ในความเป็นจริงภาพวาดชนบทดังกล่าว อาจไม่มีอะไรเกี่ยวข้องโดยตรงกับเนื้อหาทางสุนทรียศาสตร์เสียด้วยซ้ำ ความจริงในภาพวาดอาจหมายถึงพยานหลักฐานที่ตอกย้ำและยั่วยุสุนทรียสนทนา เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการโต้แย้งถกเถียง

ตัวอย่างของการโต้แย้งระหว่าง เมเยอร์ ชาพิโร (Meyer Schapiro 1904-1996) นักประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่เห็นด้วยกับ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger b.1889-1976) ในการแยกแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ออกจากประเด็นทางประวัติศาสตร์ของภาพวาด เนื่องจากบทความที่ชื่อ The Origin of the work of Art ตีพิมพ์ในปี 1950 เสนอว่าผลงานจิตรกรรม A Pair of Shoes (1886) ซึ่งวาดโดย Vincent van Gogh คือภาพรองเท้าของหญิงชาวนา

A Pair of Shoes (1886)

จากการศึกษาและตีความหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ ชาพิโร ในบทความที่ชื่อว่า The Still Life as a Personal Object – A note on Heidegger and van Gogh ตีพิมพ์ในปี ‎1968 ได้พยายามอธิบายถึงที่มาหรือสภาพดั่งเดิมของภาพวาด และเชื่อว่าภาษาเป็นที่มาของภาพวาดเหล่านั้น และระบุว่ารองเท้าในภาพนั้นเป็นของ van Gogh เอง

ในมุมมองของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930- 2004) การอธิบายคุณสมบัติของภาพวาด (painting)ราวกับว่าสิ่งที่เราเห็นในภาพเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามความเห็นของ ชาพิโร เป็นการอธิบายเชิงภาษาในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์ แดร์ริดาเห็นว่าเราไม่สามารถอธิบายคุณสมบัติ (attribution) บางประการของภาพวาดได้ด้วยภาษา

แดร์ริดา ชี้ให้เห็นว่าบทความของชาพิโรได้ทำให้เกิดการสร้างคำอธิบายแบบใหม่ ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลง (appropriation) ความหมายที่ไม่หยุดนิ่งของภาพวาด การผลิตซ้ำความหมายที่ไม่หยุดนิ่งเช่นนี้ ได้ส่งผลต่อความคิดด้านคุณสมบัติของภาพวาดไม่มากก็น้อย

การอธิบายชนบทในฐานะเป็นหน่วยของการศึกษาวิเคราะห์ความด้อยพัฒนา จากสายตาของรัฐและปฏิบัติการของนักมานุษยาวิทยาทำให้ความหมายที่ไม่หยุดนิ่งในภาพวาดชนบท เชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์ของสงครามเย็นและปฏิบัติการของ CIA ในหมู่บ้านชนบทของไทยได้อย่างเนียนประณีต

A Great Place to have a war: The Birth of a Military CIA

ในหนังสือ ‘เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น’ โดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (1975-) ได้ตั้งสมมติฐานไว้อย่างน่าสนใจภายใต้เงื่อนไขเชิงโครงสร้างและบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจในช่วงเวลาหนึ่ง ในฐานะเป็นตัวกำหนดกระบวนการสร้างความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ

เป็นที่ทราบดีว่างานศึกษาวิจัยในประเด็นนี้ของ เก่งกิจ มิได้ไขปัญหาหรือข้อสงสัยเชิงสุนทรียศาสตร์ของจิตรกรรมภาพชนบท ความพยายามในการเชื่อมโยงข้อมูลและพยานหลักฐานของเขา ได้เผยให้เห็นถึงต้นกำเนิดของมานุษยวิทยาในประเทศไทยช่วงยุคสงครามเย็น ซึ่งได้รับการสนับสนุนหลายด้านจาก CIA

แนวคิดที่น่าทึ่งในสงครามเย็นใต้กรอบคิดของสำนักคอร์เนล (Cornell school of thought) คือ การทำสงครามโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังทหารจำนวนมากกว่าเพื่อเอาชนะข้าศึกที่มีจำนวนน้อยกว่า และเชื่อว่านักมานุษยวิทยาเพียง 1 คนกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยก็สามารถเอาชนะข้าศึกจำนวนเป็นร้อยได้

Lauriston Sharp คณบดี คณะมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล หลักศูตร. Southeast Asian studies Charles F. Keyes นักมานุษยวิทยา นักศึกษาปริญญาเอกสำนักคอร์เนล

มานุษยวิทยาสำนักคอร์เนลภายใต้การดูแลของ Lauriston Sharp (1907- 1993) คณบดีคณะมานุษยวิทยาและสังคมศาสตร์ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 ได้ริเริ่มโครงการ Cornell Thailand Project ในหัวข้อที่เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยา และสังคมชนบทไทยกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี พวกเขาส่งนักมานุษยวิทยามาฝังตัวในพื้นที่เพื่อทำหน้าที่เป็นฐานการผลิตทางทฤษฎีและผลงานทางวิชาการให้แก่รัฐบาล

เนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือ เขียนชนบทให้เป็นชาติฯ ของเก่งกิจ ระบุถึง Charles F. Keyes (1937-) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ซึ่งมีความเห็นแย้งในแง่วิธีวิทยาของงานวิจัยและสารัตถะที่ได้จากการลงพื้นที่ภาคสนาม ด้วยความคิดเห็นที่ต่างไปจากสำนักคอร์เนล Keyes มองว่านักมานุษยวิทยาควรทำการวิจัยที่มุ่งเน้นวิธีการในแบบชาติพันธุ์วรรณนา

Keyes เชื่อว่าฐานทางเศรษฐกิจการเมืองและโลกทัศน์ของชีวิตทางสังคมคือปมปัญหาสำหรับการศึกษาวิจัย และไม่ควรสนใจเพียงเรื่องความสงบสุข ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของผู้คนเท่านั้น งานวิจัยของ เขาชี้ให้เห็นว่าปมปัญหาหลักของประเทศไทยช่วงทศวรรษที่ 1960- คือปัญหาความขัดแย้งและไม่ลงรอยกันทางสังคม และปัญหาเหล่านั้นก็ยังคงดำรงอยู่มาจวบจนปัจจุบัน การมองข้ามปัญหาความขัดแย้งในทัศนะของ Keyes คือการสร้างวาทกรรมย้อนแย้งตัวมันเองที่ว่า ‘สังคมชนบทไทยมีความสุขสงบ พอเพียง และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันจริงหรือ’

สำหรับนักมานุษยวิทยา เทคโนโลยีอุปกรณ์ถ่ายภาพทางอากาศที่นำเข้าโดยสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น คือเครื่องมือสมัยใหม่อันทรงพลัง สามารถผลิตสร้างแผนที่มาตรฐานของไทยฉบับ L 708 ที่มีความละเอียดสูงถึง 1:50,000 สามารถให้รายละเอียดการโยกย้ายและตั้งถิ่นฐานของผู้คน ซึ่งรัฐไทยไม่เคยรับรู้ หรือไม่สามารถมองเห็นมาก่อน แผนที่ชุดนี้จึงเปรียบเสมือนกลไกสำคัญที่ช่วยในการมองเห็นของรัฐ และที่สำคัญนักมานุษยวิทยาก็คือผู้เติมช่องว่างลงในแผนที่นั้นเอง

แน่นอนว่าแผนที่ได้กลายมาเป็นเครื่องมือพิเศษ ให้แก่ฝ่ายความมั่นคงในปฏิบัติการต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ต่างๆของประเทศ การต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการสอดแทรกนโยบายที่ซ้อนสร้างความเป็นไทยให้แก่ผู้คนที่ไม่เคยเป็นคนไทยอีกเป็นจำนวนมาก

สหรัฐอเมริกาและหน่วยงานที่ชื่อว่า USIS ร่วมกับฝ่ายความมั่นคงจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือในการนิยามความเป็นไทยด้วยชุดความหมายใหม่ วิธีใหม่ๆ และสื่อชนิดใหม่ๆ และการพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมให้เป็นสินค้ายังดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

โฆษณาช่วงสงครามเย็น

ในประเด็นภาพวาดชนบทและความจริงในภาพวาดชนบท อาจเป็นเพียงร่องรอยพับที่ซ้อนทับกันโดยมิอาจแบ่งแยกจากกัน ตามทัศนะของริชาร์ด โวลล์ไฮม์ (Richard Wollheim 1923-2003) นักปรัชญาชาวอังกฤษ ที่เสนอว่าพื้นฐานทางพันธุกรรมของมนุษย์ ได้มอบความสามารถพิเศษในการมองเห็นรูป หรือสิ่งต่างๆ ปรากฏอยู่ในก้อนเมฆ กำแพง ผนัง ฯลฯ

โวลล์ไฮม์ อธิบายว่าในขณะที่เรากำลังมองภาพวาดอย่างตั้งใจอยู่นั้น เราสามารถเห็นสีที่แต้มแต่งอยู่บนพื้นผิวที่แบนราบของภาพวาดในขณะเดียวกัน เราก็สามารถมองเห็นความลึกของภาพวาดไปพร้อมๆกัน  การมองเห็นความลึกและความลึกกว่ามิใช้ปัญหาเชิงสุนทรียศาสตร์โดยตรง แต่เป็นหน้าที่เชิงภาษาที่จะอธิบายความจริงในภาพวาดด้วยประวัติศาสตร์ พยานหลักฐานต่างๆ

หากผลงานศิลปะเปรียบได้กันสนามหรือสถานที่ซึ่งความจริงถูกเปิดเผยตามที่ไฮเดกเกอร์กล่าว ผลงานจิตรกรรมภาพชนบทย่อมบรรจุชุดความจริงบางอย่างภายใน หนังสือ ความจริงในภาพวาดฯ และ เขียนชนบทให้เป็นชาติฯ อาจช่วยพัฒนาเครื่องมือหรือแนวทางเชิงสหศาสตร์ในการวิเคราะห์ การตัดสินทางสุนทรียะในพื้นที่ศิลปะและนอกพื้นที่ศิลปะ ของภาพวาดชนบทได้อย่างน่าสนใจและมีนัยสำคัญ

หนังสือ : ความจริงในภาพวาด บทวิจารณ์ว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ของไฮเดกเกอร์ และแดร์ริดา  ผู้เขียน  : พิพัฒน์ พสุธารชาติ ISBN:  978-974-16-3790-4    พิมพ์ครั้งแรก 2553. สำนักพิมพ์วิภาษา                                                                                                                    
หนังสือ : เขียนชนบทให้เป็นชาติ กำเนิดมานุษยวิทยาไทยในยุคสงครามเย็น ผู้เขียน  : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ ISBN:  978-974-02-1654-4 พิมพครั้งแรก 2562. สำนักพิมพ์มติชน                                                                                                                            

เอกสารและภาพอ้างอิง

https://m.museumsiam.org/da-detail2.php?MID=3&CID=177&CONID=2797&SCID=242

https://books.google.co.th/books/about/Art_and_Its_Objects.html?id=NBmYGQDjM6sC&printsec=frontcover&source=kp_read_button&redir_esc=y#v=onepage&q&f=false

https://db.sac.or.th/anthropologist/anthropologist/34

https://prachatai.com/journal/2018/04/76515

https://www.facebook.com/1218915061455151/photos/a.1920374477975869/2324870750859571/?type=1&theater

https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%97+%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%94&tbm=isch&hl=en&ved=2ahUKEwj62oiThe_oAhXDHysKHYtvDQoQrNwCKAB6BAgBEDM&biw=1583&bih=789#imgrc=6yJfISZIJ7q08M

พื้นที่และการเล่นแร่แปรธาตุ: Simon Starling

พื้นที่และการเล่นแร่แปรธาตุ: Simon Starling

“The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, With The Chinese Shoemakers in Working Costume, CA. 1875)”

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

ผลงานวิจัยที่ใช้ชุดความรู้ด้านทัศนศิลป์เป็นแกนหลัก ในกระบวนการสร้างสรรค์โดยมีวัตถุประสงค์เชิงทัศน์ศิลป์ มิใช่งานวิจัยที่เป็นงานเขียนเล่มหนาๆอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากเป็นงานวิจัยฯ ที่ศิลปินทำหน้าที่เป็นวาทยกร หรือผู้กำกับดูแลในขั้นตอนของการได้มาซึ่งชุดความรู้ และผลงานที่ผลิตสร้างขึ้นโดยอาศัยวิธีวิทยาจากองค์ความรู้ข้ามศาสตร์(cross-disciplinary) เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯ ประยุกต์กระบวนการต่างๆ ไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายและนำเสนอออกมาในรูปนิทรรศการโดยอาจมีการผสมผสานเข้ากับสื่อ (media) หรือ art form หรือแม้แต่ตัวบท (textural) ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้างและการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้คนประกอบสร้างความหมายได้ด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญ

North Adams, MA., site of the Sampson shoe factory that hired young Chinese as strikebreakers in 1870
ที่มาภาพhttps://chineseamericanhistorian.blogspot.com/2016/10/a-visit-to-north-adams-ma-site-of.html
Site, situation and experience

ความหมายเกี่ยวกับ ที่ตั้ง สถานการณ์ และประสบการณ์ (Site, situation and experience) มีความสำคัญอย่างมากในงานศิลปะร่วมสมัยปัจจุบัน การรับรู้เชิงภูมิศาสตร์มีผลต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ต่อที่มาและพัฒนาการของสถานที่หรือเทศะนั้นๆ ว่าให้ความหมายแก่มนุษย์อย่างไร พื้นที่และสถานที่ไม่ได้เป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัว ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่หรือสถานที่อย่างท้องสนามหลวงหรือทุ่งพระเมรุ ที่เคยเป็นพื้นที่โบราณราชประเพณีมีความเกี่ยวข้องตามธรรมเนียมโบราณในการปลงพระศพเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กลับถูกใช้เป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับเผาศพราษฎรเป็นครั้งแรกหลังการปราบกบฏบวรเดช 

เป็นความจงใจที่คณะราษฎรต้องการใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่เฉพาะหวงห้าม ให้มีบทบาทและเป็นการรื้อสร้างความหมายเชิงพื้นที่เสียใหม่ การให้นิยายและความหมายใหม่ได้กลายสภาพพื้นที่ให้เป็นสาธารณะ และเมื่อ 20 กันยายน 2563 เวลาย่ำรุ่งพื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นที่ถกเถียงและถูกตีความอีกครั้ง และมันได้ขยายตัวไปสู่พื้นที่ในรูปแบบที่สามรถแปรเปลี่ยนได้ จากพื้นที่หมุดหมายไปจนถึงพื้นที่บนเตาหมูกระทะ เป็นพื้นที่เชิงจินตภาพที่สามารถผลิตซ้ำและบรรจุความหมายซ้อนลงไปในสำนึกของผู้คนจำนวนมาก

การทำความเข้าใจต่อศิลปะกับพื้นที่ มีความจำเป็นต้องศึกษาสภาพของพื้นที่ในเชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ด้วยการศึกษาพื้นที่และสถานที่ในฐานะประสบการณ์ทางทัศนียภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ในแบบที่มีอคติหรือไม่ เวลาและประสบการณ์ซึ่งเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมต่อสถานที่นั้นจะเป็นกรอบพื้นฐานทางสังคมเสมอ พฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์จึงเป็นตัวกำหนดให้สถานที่ต่างๆ มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

เรามาทำความเข้าใจบทบาทและแนวคิดวิธีวิทยาที่เชื่อมโยงกับประเด็นที่เกร่นมาข้างต้น ผู้เขียนหยิบยกผลงานที่มีชื่อยาวเหยียด The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, With The Chinese Shoemakers in Working Costume, CA. 1875) ศิลปินโดย Simon Starling เป็นผลงานที่น่าสนใจและสามารถอธิบายเชื่อมโยงเรื่องพื้นที่และสถานที่เชิงประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ

Starling เป็นศิลปินชาวอังกฤษ เกิดในปี 1967 ที่เมือง Epsom ทางตะวันออกเฉียงตอนใต้ของกรุงลอนดอน จบการศึกษาจาก Glasgow School of Art ในปี 1992 และได้รับรางวัล Turner Prize ในปี 2005 ผลงานของเขาถูกจัดแสดงอยู่ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ อาทิ Solomon R. Guggenheim Museum, Museum of Contemporary Art Chicago, San Francisco Museum of Modern Art, Kroller Muller Museum Netherlands ฯลฯ ปัจจุบันเขาพำนักและปฏิบัติงานอยู่ที่ Copenhagen และ Berlin

ผลงาน The Nanjing Particles ชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2008 ถือได้ว่าเป็นงานสื่อผสมจัดวางขนาดใหญ่ ซึ่งปกติและผลงานอื่นๆของ Starling ก็มักจะเป็นงานในลักษณะเช่นนี้ เขาเป็นศิลปินที่ทำงานโดยนำเอาสิ่งต่างๆทั้งด้านข้อมูลเนื้อหาและสื่อ ผสมกันในลักษณะปะติดปะต่อเชื่อมโยงร้อยเรียงจนกลายเป็นชิ้นงานที่สามารถอ่านได้ในหลายมิติทั้งเชิงบริบทของพื้นที่ประวัติศาสตร์ และตั้งคำถามปลายเปิดให้ผู้ชมสามารถตีความผ่านสุนทรียะที่ศิลปินวางไว้

ผลงาน The Nanjing Particles  เป็นผลงานสื่อผสมจัดวาง(multimedia installation) ประกอบด้วยประติมากรรมโลหะสแตนเลส ขนาด 200 x 420 x 150 cm และ 200 x 450 x 170 cm จำนวน 2 ชิ้น ติดตั้งภายในห้องจัดแสดงรวมถึงภาพถ่ายขาวดำ Inkjet print ขนาด 6 x 13 m ติดตั้งบนพนังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นสองส่วน และภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็กอีกหนึ่งชุดรวมกับสื่ออื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ผลงานชุดนี้เป็นงานที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อย้อนภาพประวัติศาสตร์การใช้แรงงานเชิงอุตสาหกรรมแห่งเมือง North Adams มลรัฐ Massachusetts

Main Street in North Adams, around 1905
ที่มาภาพ: https://www.mygenealogyhound.com/vintage-photographs/massachusetts-photographs/MA-North-Adams-Massachusetts-Main-Street-Looking-East-1905-historic-photo.html#

North Adams ในอดีตเมื่อปี คศ. 1870 เคยเป็นชุมชนที่มีประชากรชาวจีนอพยพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองในฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดย Calvin T. Sampson ได้คิดริเริ่มนำเข้าแรงงานชาวจีนหนุ่มสาวเพื่อมาทดแทนลูกจ้างเดิมซึ่งนัดหยุดงานประท้วงโดยสหภาพแรงงาน ส่งผลให้โรงงานผลิตรองเท้า Sampson ต้องหยุดชะงัก และยังได้สร้างความหวังให้กับเจ้าของกิจการรายอื่นๆ ในมลรัฐ Massachusetts ให้หันมาใช้แรงงานชาวจีน แรงงานชาวจีนจำนวน 75 คนแรกเดินทางโดยรถไฟใช้เวลา 2 สัปดาห์ ข้ามฝั่งมาจาก San Francisco รายงานข่าวจากทาง Boston ระบุว่าเมื่อพวกแรงงานชาวจีนมาถึงผู้คนในเมือง North Adams ต่างรู้สึกถึงความไม่พอใจ พวกเขาถ่มน้ำลายใส่แรงงานกลุ่มนี้ นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ศิลปินได้สืบค้นข้อมูลและค้นพบภาพถ่ายซึ่งกลายเป็นสารตั้งต้นในงานสร้างสรรค์ โดยเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผ่านภาพถ่ายและบันทึกเพื่อหาความสัมพันธ์ของการเคลื่อนย้ายแรงงาน และเหตุปัจจัยในการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวจีนที่เมือง North Adams เพื่อรื้อสร้าง(Deconstruction) ประวัติศาสตร์ของพื้นที่เสียใหม่ด้วยขนวนการทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

ภาพแรงงานชาวจีนหน้าโรงงานผลิตรองเท้า Sampson ที่มาภาพ: https://massmoca.org/event/the-celestials/

โดยการสืบค้นจากภาพถ่าย เราสามารถเชื่อมต่อประเด็นเรื่องของที่ตั้ง สถานการณ์ และประสบการณ์ร่วมในพื้นที่ของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง (Site, situation and experience) ซึ่งปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ ไม่สามารถนิยามสถานที่ในอดีตแห่งนี้ได้หากปราศจากชุดข้อมูลใดๆ จะสังเกตเห็นได้ว่าพื้นที่และสถานที่ซึ่งถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่ๆ ซึ่งสามารถถูกยึดครอง มีตัวตนและถูกรับรู้ได้ เป็นพื้นที่ยึดครองโดยคุณค่าของวัตถุหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาผลงาน The Nanjing Particles ในฐานะภาพถ่ายตามแนวคิดของ Susan Sontag สามารถกล่าวได้ว่า Document หรือภาพถ่ายต่างๆ ในอดีตก็คือบันทึกประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์ในอดีตของผู้คนที่มีความน่าพิศวงต่อเราในปัจจุบันและอนาคต

Sontag มองว่าภาพถ่ายได้มอบสิทธิพิเศษแห่งจินตภาพของอดีตที่น่าสงสัยแก่เรา มันได้ช่วยให้เรามีสิทธิในพื้นที่ซึ่งดูแล้วไม่มั่นคงและไม่แน่ใจ หรือแม้แต่การเกิดคำถามมากมายต่อภาพถ่ายภาพหนึ่ง สถานที่มากมายแสดงถึงความทรงจำต่อปัจเจกและสาธารณะ บางครั้งสถานที่สามารถสร้างให้เกิดความทรงจำที่ดีหรือเลวร้ายได้เช่นเดียวกับอนุสรณ์สถาน

เมื่อใดที่มนุษย์เริ่มรู้สึกมีความคุ้นเคยกับพื้นที่ขึ้นมาไม่ทางใดทางหนึ่ง เมื่อนั้นพื้นที่จะถูกหลอมรวมกลายเป็นสถานที่ การเคลื่อนย้ายจากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสถานที่ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ในการปรากฏแสดง พื้นที่และสถานที่จึงเป็นสิ่งที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้สถานที่จึงเป็นประวัติศาสตร์ของภูมิศาสตร์นั้นเอง

ผลงาน The Nanjing Particles มีประเด็นเรื่องพื้นที่-สถานที่และมิติของเวลาในด้านรูปแบบและเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประการๆ แรกกับคำถามที่ว่าภาพถ่ายนี้ถ่ายที่ไหน และผู้คนในภาพถ่ายนั้นคือใคร ตามบันทึกและข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงหลักฐานระบุว่า คือภาพถ่ายบริเวณหน้าโรงงานทำรองเท้า Sampson ถ่ายไว้ในปี คศ. 1875 ปรากฏภาพกลุ่มคนที่ถูกจัดให้ออกมายืนอยู่หน้าอาคาร และช่างภาพได้ถ่ายภาพนี้ไว้ในช่วงที่สหภาพแรงงานนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อกดดันให้แรงงานชาวอเมริกันออกมาชุมนุมเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำและสิทธิแรงงานในมลรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกา ในภาพที่ปรากฏคือแรงงานชาวจีนที่นำเข้ามาผลิตรองเท้าทดแทนสายการผลิตเดิมที่หยุดชะงักไป พวกเขาเป็นแรงงานข้ามชาติราคาถูก ภาพถ่ายชิ้นนี้ยังยืนยันได้ว่าโรงงานแห่งนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากแรงกดดันของกลุ่มสหภาพแรงงานในขณะนั้น และยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของผู้ร่วมลงทุนในกิจการอีกด้วย

Simon Starling, The Nanjing Particles, 2008 ที่มาภาพ: https://www.museumangewandtekunst.de/en/home/print/?id=98&images=1

ประการต่อมาศิลปินได้นำภาพถ่ายสองภาพซึ่งค้นพบในอัลบั้มเก็บภาพเก่าจากห้องสมุดสาธารณะที่ North Adams เป็นภาพถ่ายขนาดเล็ก 3×3 นิ้ว นำมาวางคู่กัน เพื่อสร้างให้เกิดภาพในลักษณะ 3 มิติ โดยเทคนิคการสร้างภาพที่เรียกว่า Acoucryptophone เป็นวิธีสร้างภาพ 3 มิติในยุคแรกๆ ประดิษฐ์คิดค้นโดย เซอร์ ชาร์ล วีตสโตน ในปี ค.ศ. 1838 ด้วยการถ่ายภาพ 2 ภาพในลักษณะเดียวกัน แต่เยื้องตัวกล้องขณะถ่ายภาพแต่ละภาพให้ภาพมีระยะห่างออกจากกันเล็กน้อยประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำสองภาพที่ได้มาวางเคียงกัน โดยให้ดวงตาแต่ละข้างของผู้มองๆ สองภาพที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย เพื่อปรับระยะห่างให้เหมาะสมกับขนาดของภาพ สมองของเราจะนำสองภาพมารวมกันแล้วแปรผลออกมาเป็นภาพเดียวที่มีมิติตื้นลึก เสมือนกับการที่สองตาของเรามองเห็นวัตถุจริงตามธรรมชาติ ศิลปินเลือกใช้วิธีนี้เพื่อนำเสนอภาพถ่ายสองมิติในลักษณะสามมิติ

Charles Wheatstone ผู้คิดค้น Acoucryptophone ที่มาภาพ: https://www.thoughtco.com/sir-charles-wheatstone-1992662

ที่สำคัญเราจะสังเกตเห็นว่าภาพถ่ายในผลงาน The Nanjing Particles ทั้งสองภาพถูกเจาะให้เป็นรูขนาดใหญ่ภาพละหนึ่งรู ความน่าสนใจอยู่ที่ศิลปินมิได้ใช้ภาพถ่ายในเชิงประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่หากมีเป้าหมายในการขุดค้นลงลึกไปในมวลสารและของเหลวที่ได้จากภาพถ่ายขาวดำแบบดังเดิมซึ่งใช้วิธีอัดภาพด้วยขบวนการ silver printing ในประเด็นนี้ศิลปินทำงานไม่ต่างจากนักขุดเจาะเหมือง ที่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อแยกเอาแร่ธาตุที่ปนเปื้อนอยู่ในมวลสารออกจากกัน

ในขั้นตอนนี้ศิลปินได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ที่เมือง Albany มลรัฐ New York เพื่อแยกสารประกอบแร่ธาตุออกจากภาพถ่ายด้วยเครื่องขยายที่เรียกว่า electron microscope ด้วยขนาด 1 ล้าน volt เพื่อเป็นการส่องกล้องขยายสัดส่วนสิ่งต่างๆ ที่มีขนาดเล็กมากในระดับนาโนเมตร ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแล้วขยายให้สามารถมองเห็นภาพ 3 มิติของเกล็ดของเหลวสีเงินที่แยกตัวออกจากพื้นผิวที่เคลือบอยู่บนกระดาษอัดภาพ ในฐานะเป็นจิตนการแห่งความจริง (imagined reality) เพื่อแกะเอาสิ่งที่ซ้อนอยู่ภายในพื้นผิวกระดาษอัดรูปออกมาให้เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่ง Starling ได้อธิบายว่าผลงาน The Nanjing Particles คือตัวอย่างผลการทำงานแบบ hybrid ระหว่างข้อมูลกับสสาร และความเป็นจริงจากสิ่งที่ผสมปนเปกันระหว่างเคมีกับดวงตา

electron microscope ที่มาภาพ: https://www.sciencephoto.com/media/977314/view/transmission-electron-microscopy-1950s

ขั้นตอนต่อไปศิลปินได้เรนเดอร์รูปทรงผลึกของเหลวแล้วขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นในอัตราส่วน 1 ล้านเท่าจากขนาดดั้งเดิมแล้วนำไปสแกนเป็นรูปทรง 3 มิติ ของสสารซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายกับภาพ Biomorphic ขนาดใหญ่ จากนั้นศิลปินได้ส่งภาพสแกน 3 มิติไปยังเมือง Nanjing ประเทศจีน เพื่อให้แรงงานชาวจีนทุบขึ้นรูปทรงด้วยมือ (Forged stainless steel)  ด้วยวัสดุโลหะสแตนเลส จากนั้นช่างผู้ชำนาญชาวจีนได้ทำการประกอบรูปทรงแต่ละส่วนเข้าด้วยกันและขัดเงาจนแวววาวเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนจะนำส่งกลับมาที่เมือง North Adams อีกที เพื่อนำมาจัดแสดงใน Mass MOCA’s (Massachusetts Museum of Contemporary Art) ที่ซึ่งครั้งหนึ่งก็คือโรงงานผลิตรองเท้า Sampson นั้นเอง

Simon Starling, The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, with the Chinese Shoemakers in working costume, North Adams and vicinity, ca. 1875), 2008
ที่มาภาพ: https://massmoca.org/event/simon-starling-the-nanjing-particles/

ส่วนสุดท้ายที่อยากพูดถึงในผลงาน The Nanjing Particles เห็นจะเป็นส่วนขยายภาพถ่ายจากภาพต้นฉบับทั้งสองภาพในขนาด 6 x 13 m ติดตั้งลงบนพนังขนาดใหญ่เกือบจรดเพดาน และรูที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นตามสัดส่วนเพื่อเปิดช่องให้ผู้ชมที่เดินเข้ามาจากด้านหน้าสามารถมองทะลุเห็นประติมากรรมตั้งอยู่เบื้องหลัง สะท้อนความมันวาวปรากฏอยู่กลางรูที่เจาะออก การที่ศิลปินนำภาพถ่ายต้นฉบับมาขยายคล้ายจะบ่งบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร เป็นการเชื่อมโยงพื้นที่จากอดีตในฐานะโรงงานทำรองเท้า Sampson’s Shoe Manufactory และพื้นที่ปัจจุบันในฐานหอศิลปะร่วมสมัย MASS MoCA (Massachusetts Museum of Contemporary Art) ให้มาบรรจบกันอย่างมีนัยสำคัญ

นิทรรศการ The Nanjing Particles (After Henry Ward, View of C.T. Sampson’s Shoe Manufactory, with the Chinese Shoemakers in working costume, North Adams and vicinity, ca. 1875), ครั้งนี้ถูกจัดแสดงขึ้นในช่วงเวลาที่ชาวอเมริกันต่างเฝ้ามองการเติบโตของจีนในฐานะผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ศิลปินอธิบายข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่และจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ระบุว่า ชาวจีนที่มายังเมือง North Adams ในเวลานั้นเป็นกลุ่มแรงงานที่รับจ้างเพื่อมาสร้างทางรถไฟ แต่หลังจากศึกษาอย่างละเอียดศิลปินกลับพบข้อมูลที่สำคัญอันบ่งชี้ว่าพวกเขาคือแรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่เดินทางไกลจากเวสต์โคสต์(West Coast) มาสู่ฝั่งอีสโครต์(East Coast)  เพื่อเป็นลูกจ้างในโรงงานทำรองเท้าซึ่งห่างจากสถานีรถไฟไปเพียงฝั่งถนน

1870 depiction of on the job training, An depiction of the Chinese’ living quarters on the mill’s campus
 ที่มาภาพ: http://paulwmarino.org/incident-at-union-depot.html

ที่สำคัญข้อมูลระบุว่า นี้คือการโต้ตอบของผู้ประกอบการที่พยายามหาทางออกในเรื่องของวิกฤตการขาดแคลนแรงงานในขณะนั้น ด้วยการจ่ายค่าแรงที่ถูกกว่า และไม่ต้องกังวลถึงปัญหาที่มีกับกลุ่มสหภาพแรงงาน แรงงานชาวจีนกลุ่มแรกที่เดินทางถึงเมือง North Adams ในทศวรรษที่ 1870’s จึงมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจการค้าเป็นอย่างมาก พวกเขาเข้ามาพยุงเศรษฐกิจของเมือง สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน และยุติความเสียหายของสายการผลิตอันเกิดจากการประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานชาวอเมริกัน ในขณะเดียวกัน Starling มองว่าชีวิตของกลุ่มแรงงานชาวจีนกลุ่มแรกนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยงมิใช้น้อย จากการดูถูกเหยียบหยามเพราะสำหรับชาวอเมริกันฝั่งทะเลตะวันออกในเวลานั้น การมาถึงของชาวจีนกลุ่มแรกเป็นเรื่องไม่ปกติ

The cooperative factory they started on Pearl Street following the failure of the Sampson strike/ Chinese’ working  ที่มาภาพ: https://www.massmoments.org/moment-details/chinese-workers-arrive-in-north-adams.html

Charles Sing: foreman and the youngest of the Chinese,
ที่มาภาพ: https://massmoca.org/event/the-celestials/

สำหรับกลุ่มแรงงานชาวจีนอพยพกลุ่มนี้ พวกเขาคือแรงงานราคาถูกที่ต้องทำงานวันละ 7 ชั่วโมงโดยมีสัญญาว่าจ้าง 3 ปี โดยใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ภายในโรงงานเพื่อความปลอดภัยจากกลุ่มสหภาพแรงงานที่ไม่พอใจ หลังหมดสัญญาจ้างหลายคนเดินทางกลับไปยังฝั่งอีสต์โคสต์ บางคนเดินทางกลับไปจีนแต่อีกหลายคนตั้งรกรากอยู่แถบ New England ในเมือง Maine, Vermont, New Hampshire, Massachusetts และ Boston แรงงานชาวจีนทั้ง 75 คนนั้นมีอายุระหว่าง 16 ถึง 22 ปี มีเพียงคนเดียวที่สามารถฟังและพูดภาษาอังกฤษได้ เขาชื่อ Charles Sing และคนที่มีอายุน้อยที่สุดคือ Ah Ling อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งพวกเขากลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ภาพถ่ายเพียงภาพเดียวจากการที่พวกเขาได้ถ่ายภาพร่วมกันในวันนั้น ได้กลายเป็นวัตถุพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการระบุถึงความมีตัวตนของพวกเขาทั้งในเชิงพื้นที่และสถานที่โดยมิอาจลบเลือนเป็นอื่นไปได้

หากเราใช้แนวคิดเรื่องโมนาด (monad) ของไลบ์นิช (Gottfried Wilhelm Leibniz, 1646–1716) เพื่อเป็นกระจกที่สามารถสะท้อนความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในจักรวาล ในกรณีนี้ภาพถ่ายแรงงานชาวจีนที่ออกมายืนถ่ายภาพหน้าโรงงาน ภาพเดียว ได้กลายเป็นหลักฐานที่ไม่ได้มีแค่ประวัติศาสตร์อัดแน่นอยู่เท่านั้น แต่ยังถูกฝังไว้ซึ่งประวิติศาสตร์ของสิ่งอื่นๆ ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กันกับโลกที่กองอยู่ตรงหน้าของเราอีกด้วย หลักฐานนี้ทำหน้าที่เหมือนฮาร์ดิสก์ซึ่งไลบ์นิชมองว่ามนุษย์ไม่สามารถอ่านความคลุมเครือของโมนาดได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ดีการค้นพบภาพถ่ายชิ้นนี้คือร่องรอยบันทึกที่ควบแน่นการสังเกตการณ์ที่ทำให้มันกลายเป็นวัตถุระดับปัจเจกที่คงทนถาวรเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

“สำหรับผมภาพถ่ายคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง” Simon Starling กล่าว

The Chinese lot in Hill Side Cemetery, North Adams, 2010, looking toward it from the west ที่มาภาพ: http://paulwmarino.org/incident-at-union-depot.html

อ้างอิง:

https://www.museumangewandtekunst.de/en/home/print/?id=98&images=1

http://paulwmarino.org/incident-at-union-depot.html

https://dailygazette.com/events/#!/details/The-Celestials/7678336/2020-05-07T20

https://do617.com/events/2020/5/7/the-celestials-tickets

https://www.themoderninstitute.com/artists/simon-starling/works/the-nanjing-particles-after-henry-ward-view-of-c-t-sampsons-shoe-manufactory-with-the-chinese-shoemakers-in-working-costume-ca-1875-2008/393/

https://the-talks.com/interview/simon-starling/

BNTeam-Awika

เห็ด กระบองเพชร [และ] ประตูสู่การรับรู้: จากโฮโมเซเปียนส์ถึงบุพผาชน | Mushrooms Cactus [and] The Doors of Perception: From Homo Sapiens to hippie

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หลายคนที่เคยกินเห็ด เคยเลี้ยงกระบองเพชร แต่มันเกี่ยวกับประตูที่ว่านั้นอย่างไร หนังสือสามเล่มที่บ้านนอกฯ หยิบยกมาในครั้งนี้สามารถอ่านได้หลายแง่มุม ทั้งมิติทางพฤกษศาสตร์ ประสาทวิทยา มานุษยวิทยา-นวนิยาย หรือแม้แต่บันทึกอันละเมียดเชิงปรัชญาความเรียง การออกทริปขณะเสพแผ่นกระดาษมหัศจรรย์ การใช้ LSD (Lysergic acid diethylamide) เพื่อศึกษาประสบการณ์ภายในของมนุษย์ ศิลปะและพระผู้เป็นเจ้า การเสพเห็ดไซโลไซบิน (psilocybin) และพืชจำพวกกระบองเพชรที่เรียกว่าเปโยติ (peyote) ในเชิงพิธีกรรมของหมอผี (shaman) จากหนังสือ Food of the Gods เขียนโดย Terence McKenna ตีพิมพ์ปี 1992, หนังสือ The Jouney  to Ixtlan: Lessons of Don Juan เขียนโดย Carlos Castaneda ตีพิมพ์ปี 1972 และหนังสือ The Doors of Perception: Heaven and Hell เขียนโดย Aldous Huxley ตีพิมพ์ในปี 1954 ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแค่ฤทธิ์ต่อจิตประสาท(หลอน)เท่านั้นแต่มันเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับโลกบรรพกาล การรับรู้อันแจ่มชัดของโลกคู่ขนาน และความรู้อันละเอียดภายใต้สภาวะจิตตามที่ระบุในหนังสือทั้งสามเล่ม และผู้เขียนได้เคยล่องไปกับประสบการณ์การอ่านและลิ้มรส

Food of the Gods, The Jouney  to Ixtlan: Lessons of Don Juan, The Doors of Perception: Heaven and Hell

เห็ด

ต้นทศวรรษที่ 1990 เทอร์เรนซ์ แมคเคนนา (Terence McKenna 1946–2000) นักชาติพันธุ์วิทยา นักพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (Ethnobotany) ผู้สนใจศึกษาการใช้พืชท้องถิ่นของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรม (indigenous plants) เขียนหนังสือ Food of the Gods เพื่อนำเสนอรากฐานทางประวัติศาสตร์ของพืช สารเสพติด และวิวัฒนาการด้านสมองหรือความคิดที่พัฒนาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ โฮโมเซเปียนส์ (Homo Sapiens) จนมาเป็นเราในวันนี้ สิ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้มุ่งประเด็นไปที่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ร่วมกับไซคีเดลิก และการที่เราอาจสามารถรื้อฟื้นการสื่อสารกับธรรมชาติได้

ใน Food of the Gods แมคเคนนา สืบค้นลงลึกถึงความเป็นไปได้เพื่อเผยทัศคติของชุมชนดึกดำบรรพ์ กาลก่อนการใช้เครื่องมือในขบวนการผลิตและก่อนมีตัวอักษร และธรรมชาติที่ช่วยให้บรรพบุรุษชนเผ่าเร่ร่อนยุคก่อนประวัติศาสตร์สามารถดำรงชีวิตสืบเนื่องต่อมาจวบจนปัจจุบัน ก่อนที่เราจะมีวัฒนธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ หนังสือเล่นนี้ระบุไว้ว่าเห็ดสกุลไซโลไซบิน (psilocybin mushrooms) ซึ่งมีสารเมสคาลีน (mescaline) เป็นหนึ่งในตัวเร่งปฏิกิริยาพัฒนาการในสมองของมนุษย์ และตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่พืชในสกุลที่สามารถกระตุ้นทางจิตซึ่งมีผลต่อมนุษย์และเราอาจจะฟื้นฟูสภาพบุคคล สังคม และความสมดุลของระบบนิเวศในโลกได้อย่างไร

psilocybin mushrooms: ที่มาของภาพ  https://hub.jhu.edu/2018/09/26/psilocybin-scheduling-magic-mushrooms/

งานวิจัยที่เกี่ยวกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ของแมคเคนนา สัมพันธ์กับการใช้เคมีเพื่อเปิดประตูไปสู่โลกของพระผู้เป็นเจ้า และบางทีมันอาจเป็นช่องทางที่จะปกป้องรักษาเยียวยาปัญหาในโลกของเรา แมคเคนนาชี้ให้เราทบทวนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสิ่งเสพติดทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก จากเครื่องเทศโบราณ ไปจนถึงกัญชา โคเคน และสารสังเคราะห์ แม้แต่ความปรารถนาของมนุษย์ใน food of the gods  พลังการลบปรามาสของสิ่งเสพติดโดยหมอผี คือการสร้างให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพต่อธรรมชาติ ความเป็นชุมชนและการเพิ่มการตระหนักรู้ในตนเอง

Terence McKenna 1946–2000: ที่มาของภาพ
http://www.mckennite.com/articles/terence-mckennas-true-hallucinations

แมคเคนนา เสนอว่าการกินเห็ดวิเศษ (Magic mushroom) หรือเห็ดเมา เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์โฮมินิดส์ (Hominids)  ซึ่งเป็นสายพันธุ์บรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นแรกๆ ที่แยกออกมาจากลิงไม่มีหางเมื่อประมาณ 7–5 ล้านปีมาแล้ว และพัฒนาพฤติกรรมทางวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนต่อมากลายเป็นสายพันธุ์ที่เรียกว่า โฮโม (Homo) ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ สมองใหญ่ รู้จักใช้เครื่องมือหิน และมีวิวัฒนาการกลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์รุ่นใหม่ในเวลาต่อมา. เห็ดวิเศษนั้นมีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเซลล์ประสาท และการพัฒนาอื่นๆ มันมีผลเข้าไปกระตุ้นและก่อให้เกิดวิวัฒนาการที่ทำให้สมองของมนุษย์วานรในยุคโบราณโตขึ้น 3 เท่าภายใน 2 ล้านปีได้สำเร็จ ขณะที่สัตว์ตระกูลไพรเมทต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการล่าสัตว์เข้าไปในพื้นที่เขตร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมอันสมบูรณ์ของการงอกงามของเห็ดดังกล่าว ในปัจจุบันทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ให้ความสนใจต่อการใช้เห็ดเมาและตีพิมพ์ผลการศึกษาไซโลไซบินจากเห็ดเมาเพื่อเป็นสารหล่อลื่นทางจิตประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากวงจรการเกิดอาการซึมเศร้าได้

กระบองเพชร

ในปี 1976 หลังจากหนังสือของ คาร์ลอส คาสตาเนด้า (Carlos Castaneda 1925-1998) ถูกวางจำหน่ายและกลายเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขาย แท้จริงแล้วเขาต้องการเป็นศิลปินแต่ท้ายที่สุดกลายเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับหมอผีที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ความเคลือบแคลงของนักมานุษยวิทยา อย่าง Richard de Mille และ Jane Holden Kelley ได้ตั้งคำถามถึงความถูกต้องในการใช้คำศัพท์ต่างๆ ในผลงานของ คาสตาเนด้า ว่าเป็นสิ่งที่อุปโลกน์ขึ้น และมากไปกว่านั้นหนังสือของเขาคือส่วนหนึ่งของผลงานวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แท้จริงแล้วเขาเป็นนักมานุษยวิทยา นักชาติพันธ์วิทยาหรือเป็นเพียงนักเขียนนิยายผู้ได้รับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาจากนิยายลวงโลก คาสตาเนด้าอ้างว่าหนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือเกี่ยวกับชาติพันธุ์วิทยาที่อธิบายถึงการฝึกงานของตัวเขากับหมอผีผู้รู้แจ้งที่ชื่อดอน ฮวน มาตุส (Don Juan Matus) ซึ่งถูกระบุว่าเป็นชาวอินเดียนแดงเผ่ายากี (Yaqui) ในมลรัฐซอในร่า ทางตอนเหนือของเม็กซิโก แม้จะมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับผลงานและตัวเขา แต่ถึงกระนั้นผลงานของเขาก็ได้รับคำชมว่าเป็นงานวรรณศิลป์ที่ทรงอิทธิพลต่อขบวนการเคลื่อนไหวของเหล่าบุพผาชน

อินเดียนแดงเผ่ายากี Yaqui: ที่มาของภาพบน https://tucson.com/news/blogs/big-jim/big-jim-yaqui-easter/article_ea359e74-c2a2-11e3-a4d1-001a4bcf887a.html
Carlos Castaneda ภาพล่าง https://laprensatexas.com/carlos-castaneda/

เรื่องราวของคาสตาเนด้า ไม่เฉพาะด้านงานวิจัยที่ยังเป็นข้อถกเถียงถึงปัจจุบัน แม้ประวัติชีวิตของเขาก็ยังกำกวมอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปีเกิด สถานที่เกิดอันแน่ชัด เขาได้อ้างกฎข้อหนึ่งที่เรียนรู้จากดอน ฮวน ที่ว่าด้วย “การลบประวัติส่วนตัวทิ้งไปเสีย” นี้อาจเป็นความตั้งใจของเขาต่อสาธารณะที่ต้องการเป็นผู้ที่ไม่มีใครหยั่งถึงได้ หลายครั้งเขาปฏิเสธและหลบเลี่ยงการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ บางรายงานระบุว่าเขาเกิดในเปรูหรือไม่ก็บราซิลและย้ายมาอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ในช่วงทศรรษที่ 1960-1971 คาสตาเนด้า เดินทางไปยังชุมชนชาวอินเดียนแดงเผ่ายากี ขณะทำวิจัยในงานวิทยานิพนธ์ด้วยความสนใจเรื่องพืชสมุนไพรจำพวกกระบองเพชรที่เรียกว่าเปโยติ (peyote)  ซึ่งเป็นที่เชื่อกันในหมู่ชาวอินเดียนแดงถึงสภาวะหลอนจิต คือประตูแห่งการรับรู้ที่เปิดออกและก้าวสู่ความหลุดพ้น

หลังจากที่ คาสตาเนด้า ได้พบกันดอนฮวนและกลายเป็นศิษย์ เขาเรียนรู้ที่จะเป็นหมอผีผู้เข้าใจถึงพลังและการหยุดโลกด้วยการเสพเปโยตี กระบองเพชรชนิดหนึ่งที่คนในวงการแคคตัสเรียกว่า โพโลแคคตัส ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า lophophora williamsii คำว่าเปโยติ มีรากศัพท์มาจากภาษาพื้นเมืองทางตอนเหนือของเม็กซิโก มีความหมายว่า “แสงอันเจิดจรัส-ระยิบระยับ” หรืออาจหมายถึงผู้นำจิตวิญญาณ ชนพื้นเมืองของเม็กซิโกรู้จักการเสพเปโยติสำหรับรักษาอาการรูมาติกส์ โรคเบาหวาน และอื่นๆ มานับพันปี และใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาลัทธิเมสคาลิโต (Meacalito) ซึ่งเป็นชื่อเทพผู้รู้แจ้งองค์หนึ่งของชาวอินเดียนแดงเพื่อนำจิตวิญญาณไปสู่พระเจ้า “เมสคาลิโต” ในภาษาท้องถิ่นหรือเมสคาลีน (Meacaline) ในเปโยติมีสารกระตุ้นการรับรู้ทางกายภาพและการเห็นภาพหลอน (visual hallucination) ให้เกิดการรับรู้ทางภาพ สี และแสงมากกว่าปกติ ชนพื้นเมืองนำเปโยติมาเคี้ยวกินหรือชงเป็นน้ำชาดื่มในพิธีกรรมทั้งในเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาและแคนนาดา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในการเข้าสู่ภวังค์ ผู้ที่เข้าร่วมเสพเปโยติจะต้องเป็นบุคคลที่เลือกแล้วด้วยจุดมุ่งหมายพิเศษและเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์

peyote ที่มาของภาพ https://www.medicalnewstoday.com/articles/peyote#origins

23 มิถุนายน 1961 คาสตาเนด้า ระบุในบันทึกว่าเขาโพล่งคำถามไปที่ดอนฮวนเป็นครั้งแรก “คุณจะสอนผมเกี่ยวกับการใช้เปโยติหรือไม่” ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม ดอนฮวนได้เปลี่ยนยุทธวิธีในการฝึกฝนเพื่อยอมรับให้พลังเข้าถึงตัวโดยให้เขาเสพเปโยติ ขณะที่คาสตาเนด้าเมาอยู่นั้นเขาได้เล่นกับหมาตัวหนึ่ง ระหว่างนั้นดอนฮวนแปลปฏิกิริยาอันพิเศษขณะที่เขาตกอยู่ในอำนาจของพลัง เนื่องจากหมาตัวนั้นได้กลายเป็นอวตารของเมสคาลิโต พลังของเทพเจ้าที่มีอยู่ในสมุนไพรเปโยติ ดอนฮวนกล่าวกับเขาว่า “คุณคือผู้ถูกเลือก” เนื่องจากเมสคาลิโตยอมประสิทธิ์ประสาทความรู้อันลึกลับให้แก่เขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ประหลาดอย่างมากเพราะเขาไม่ได้เป็นชาวอินเดียนแดง นอกจากเมสคาลิโตจะยอมให้เขาเป็นผู้มีพลังเข้าถึงได้แล้ว คาสตาเนด้า ต้องจัดการกับความฝันให้มีพลังและเป็นจริง เรียนรู้ความเป็นนักรบ การไม่-กระทำ การประลองยุทธ์ของพลัง การเรียนรู้วงแหวนของพลัง และท้ายที่สุดเขาต้อง “หยุดโลก” ให้ได้เพื่อจะได้สัมผัสกับโลกในแบบที่ต่างออกไป เป็นการสัมผัสตรงไปที่แก่นแท้ของสรรพสิ่งตามแนวทางคำสอนของดอนฮวน

ประตูแห่งการรับรู้

ในโลกนี้มีสิ่งที่เรารับรู้ได้และมีสิ่งที่ไม่อาจรับรู้ได้ ระหว่างทั้งสองสิ่งนั้นคือประตูแห่งการรับรู้ อัลดัส ฮักซ์ลีย์(Aldous Huxley 1894-1963) พยายามค้นหาความสามารถทางสมองและระบบประสาท โดยบันทึกอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวภายใต้อิทธิพลการเสพแผ่นกระดาษมหัศจรรย์ที่จุ่มลงในสาร lysergic acid diethylamide (LSD) เดือนพฤษภาคม ปี 1954 ฮักซ์ลีย์ เล่าถึงข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยงกับ “สุนทรียะอันหมดจด” ไปจนถึง “วิสัยทัศน์อันศักดิ์สิทธิ์” และสะท้อนให้เห็นถึงผลทางปรัชญาและจิตวิทยา รวมถึงความหมายในเชิงศิลปะและศาสนาไว้ในหนังสือ The Doors of Perception ต่อมาในปี 1956 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Heaven and Hell ซึ่งเป็นบทความที่อธิบายถึงการไตร่ตรองในรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงานทั้งสองชุด และได้รับการตีพิมพ์รวมกันเป็นเล่มเดียว โดยรับแรงบันดาลใจจากบทกวีของ วิลเลียม เบลค (William Blake 1757–1827) จากหนังสือ The Marriage of Heaven and Hell ตีพิมพ์ในปี 1793 ซึ่งแสดงถึงความรู้สึกการรับรู้ที่จำกัดของมนุษยชาติเกี่ยวกับความเป็นจริงรอบตัว เบลค กล่าวว่าหากเราสามารถเปิดประตูแห่งการรับรู้ได้หรือได้รับการชำระล้าง ทุกสิ่งก็จะปรากฏแก่มนุษย์ตามที่เป็นจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่เนื่องจากมนุษย์ได้ปิดกั้นตัวเองจึงส่งผลให้การมองเห็นทุกสิ่งอยู่ในโพรงแคบ ๆ ของตนเองเท่านั้น

The Marriage of Heaven and Hell ที่มาของภาพ: https://www.mutualart.com/Artwork/The-Marriage-of-Heaven-and-Hell–NUMBER-/E6B7EBCA5CE5C4B9 The Doors of Perception: Heaven and Hell https://www.depop.com/products/lonesometigress-the-doors-of-perception/

ฮักซ์ลีย์ เป็นนักเขียนนวนิยาย ความเรียง เรื่องสั้น บทกวี นักเขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวูด  ชาวอังกฤษที่อพยพไปลอสแองเจลิส ในปี 1937  เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวรรณคดีอังกฤษ จาก Balliol College มหาวิทยาลัย Oxford เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเก้าครั้ง และได้รับเลือกให้เป็นบัณฑิตแห่งวรรณกรรมจากราชสมาคมวรรณกรรมในปี 1962 เขามีแนวคิดวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ขนบธรรมเนียม ค่านิยม และแนวคิดเสียดสีสังคม รวมถึงการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียน หลายคนมองว่าเขาเป็นนักมนุษย์นิยม แต่ที่สุดแล้วเขากลับสนใจเกี่ยวกับเรื่องราวทางจิตวิญญาณหรือจิตวิทยาเหนือคำอธิบาย และปรัชญาที่วางอยู่บนรากฐานของความเชื่อทางจิตวิญญาณ

ช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 เขาเริ่มให้ความสนใจในคำสอนทางจิตวิญญาณของคัมภีร์อุปนิษัท และการฝึกนั่งสมาธิด้วยยอมรับถึงจุดร่วมของวิทยาศาสตร์และศาสนาตะวันออก โดยระบุว่าผลกระทบทางจริยธรรมและปรัชญาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มีความเป็นพุทธมากกว่าคริสเตียน นอกจากนั้นฮักซ์ลีย์ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับการใช้เปโยติในพิธีกรรมชนพื้นเมืองอเมริกันในนิวเม็กซิโก หลังจากย้ายมาอยู่แคลิฟอร์เนียได้ไม่นานความสนใจของเขาต่อสมุนไพรหลอนจิตกระตุ้นเร้าความสงสัยให้อยากทดลองหลังจากอ่านบทความของ ฮัมฟรี ออสมอนด์ (Humphry Osmond 1917-2004) นักจิตแพทย์ชาวอังกฤษผู้บัญญัติคำว่า “ไซคีเดลิก” (psychedelic) ในที่สุดเดือนเมษายน ปี 1952 เขาได้เขียนจดหมายถึง ออสมอนด์ เพื่อเชิญเข้าร่วมการประชุมสมาคมจิตแพทย์อเมริกันและเชิญมาที่บ้านในย่านเบเวอร์ลีฮิลส์โดยร้องขอให้ตัวเขาเป็นผู้ทดลองเสพเมสคาลีน โดยที่ ออสมอนด์ เป็นผู้ดูแลประสบการณ์ที่ตามมาระหว่างใช้สารดังกล่าว และนี่คือที่มาของหนังสือจากความกระตือรือร้นที่ชื่อว่า “ประตูของการรับรู้” (The Door of Perception) ซึ่งเป็นปรัชญาความเรียง (philosophical essay) เล่มสำคัญที่สุดของเขา

Aldous Huxley ที่มาภาพขวา https://www.thevintagenews.com/2018/08/09/aldous-huxley-lsd/ Humphry Osmond ภาพซ้าย https://thewalrus.ca/the-untapped-promise-of-lsd/

หนังสือเล่มนี้คือการตอบสนองของ ฮักซ์ลีย์ ในขณะล่องไปภายใต้อิทธิพลของเมสคาลีน โดยมีแรงจูงใจอยู่บนรากฐานความคิดที่ว่าสมองมีช่องเปิดปิดทางความรู้สึกที่จำกัด สติสัมปชัญญะและอาการเมาที่เกิดจากเมสคาลีนจะช่วยให้เข้าถึงการรับรู้ได้มากขึ้น ฮักซ์ลีย์ ตระหนักว่าวิธีการตรัสรู้มีมากมายรวมถึงการสวดมนต์และการทำสมาธิ เขาหวังว่าสารเมสคาลีน อาจทำลายอุปสรรคจากอัตตาและดึงเขาเข้าใกล้การรู้แจ้งทางจิตวิญญาณมากขึ้น และตอบสนองเขาในฐานะผู้แสวงหาความรู้ได้ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1953 ที่บ้านพักของ ฮักซ์ลีย์ เมื่อ ออสมอนด์มาถึง เขาบันทึกว่า ”ฮักซ์ลีย์ เป็นคนในแบบอุดมคติและเป็นคนฉลาดตรงประเด็น” ส่วนมาเรียภรรยาของเขาก็มีความเด่นชัดเป็นเหตุและผล โดยภาพรวมแล้วพวกเขาและเพื่อนๆ ดูชอบพอกันดีซึ่งมีความสำคัญมากในการบริหารการใช้สารเมสคาลีน มันออกฤทธิ์ช้าแต่ออสมอนด์สังเกตเห็นว่าหลังจากนั้นสองชั่วโมงครึ่งยาก็ออกฤทธิ์ และหลังจากนั้นสามชั่วโมง ฮักซ์ลีย์ ก็ตอบสนองได้ดี ประสบการณ์นี้กินเวลาแปดชั่วโมงและ ออสมอนด์ยังคงอยู่กับเขาตลอด

แผ่นกระดาษมหัศจรรย์ LSD ที่มาของภาพ https://snacksafely.com/2021/07/lsd-to-treat-food-allergies-company-receives-patent-despite-zero-evidence/

เช้าที่สดใสของเดือนพฤษภาคม เวลา 11.00 น. ปี 1953 ฮักซ์ลีย์ ใช้สารเมสคาลีนในปริมาณ 4/10 กรัม นั่งลงและเฝ้าสังเกตดูว่ามีอะไรเกิดขึ้น เมื่อเขาลืมตาขึ้นพบว่าทุกสิ่งตั้งแต่ดอกไม้ในแจกันไปจนถึงรอยยับย่นบนกางเกงของเขาแปรเปลี่ยนรูปไปแล้ว กิ่งก้านของดอกไม้ระยับแสงด้วยตัวของมันเอง ความสลับซับซ้อนไม่รู้จบกำลังเผยตัวออกมา “ใช่…มันทำให้ฉันนึกถึงการมองเห็นของ Adam ในแรกเริ่มของเช้าวันที่โลกถูกสร้างขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้า มันคือความมหัศจรรย์อันเปลือยเปล่าของการมีอยู่จากชั่วขณะไปสู่ชั่วขณะหนึ่ง”

พวกเรานั่งฟังเพลงกินข้าวและเดินเล่นในสวน เพื่อนอีกสามคนเดินไปที่เนินเขาซึ่งมองเห็นเมืองด้านล่าง ในวันนั้นฮักซ์ลีย์ เล่าว่าเขาหวังจะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพจิตใจที่ไม่ธรรมดา และคาดว่าจะได้เห็นความสดใส ทิวทัศน์ที่มีสีสัน เห็นแสงและรูปร่าง ความเร้นลับในการเห็นสีเท่าทวีคูณทั้งในเชิงกายภาพและความรู้สึกและประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการรับรู้โลกภายนอก เวลา 12.30 น. แจกันตรงหน้าที่ดำรงอยู่อย่างเปลือยเปล่าถูกพรรณนาเมื่อเทียบกับ Being ของเพลโตและสภาวะการกลายสู่ (Becoming) ความเป็นฉัน แต่ไม่ใช่-ฉัน ทดแทนความหมายและการดำรงอยู่กับความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และเวลาได้ถูกแทนที่ด้วยปัจจุบันขณะ เก้าอี้ไม้ไผ่ 4 ตัวที่วางอยู่กลางห้องให้ความรู้สึกเหนือคำบรรยาย ทำให้มองเห็นความเป็นธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะความเข้าใจในแง่มุมศิลปะ

              ดอกไม้คือดอกไม้และเป็นดอกไม้ แต่ขาเก้าอี้เป็นขาเก้าอี้เป็นเซนต์ Michael และเป็นนางฟ้าทั้งหลาย สี่หรือห้าชั่วโมงหลังจากนั้นเมื่อปฏิกิริยาเซลสมองเริ่มขาดน้ำตาล ฮักซ์ลีย์ ออกจากบ้านไปในเมืองเพื่อแวะที่ร้านยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่นั้นมีทั้งของเล่น การ์ด หนังสือคอมมิคและศิลปะ เขาหยิบหนังสือที่ใกล้มือขึ้นมาเล่มหนึ่ง “Van Gogh” ซึ่งเปิดอยู่ที่หน้า The Chair ภาพที่จิตรกรมองเห็นและพยายามป้ายมันลงบนผืนผ้าใบ เก้าอี้ของ Van Gogh เป็นเหมือนแก่นแท้ของเก้าอี้ที่ ฮักซ์ลีย์ มองเห็นและดูเหมือนมันจะเป็นจริงยิ่งกว่าเก้าอี้ธรรมดาที่เรารับรู้กันทั่วไป เก้าอี้ในภาพนั้นทำให้เห็นถึงความไม่ธรรมดาของการสำแดงออกทางสัญลักษณ์แห่งความเป็นจริง มันคือความเป็นจริงของความเป็นเช่นนั้นเอง

The Chair, Van Gogh ที่มาของภาพ: https://www.vincentvangogh.org/gauguins-chair.jsp https://rosioldenburgfineart.com/product/van-gogh-chair/

ฮักซ์ลีย์ พยายามทำความเข้าใจกับความรู้หลายต่อหลายอย่าง ขณะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสารเมสคาลีน ประสบการณ์การทดลองของเขามีค่าเป็นทวีคูณ เพราะมันช่วยให้เขาสัมผัสเข้าใจตัวเองและโลกได้ดีขึ้น มันช่วยให้เขามีชีวิตที่เอาแต่ใจตัวเองน้อยลงและสร้างสรรค์มากขึ้น หนังสือเล่มนี้จบลงด้วยการไตร่ตรองครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับความหมายของประสบการณ์ของเขา ประการแรกคือความต้องการที่จะก้าวข้ามอัตตาความเป็นตัวตน โดยให้เหตุผลว่า “ประตู” ที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งจำเป็นมากกว่าแอลกอฮอล์และยาสูบ อาการเมามีข้อดีคือไม่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในผู้รับสาร แต่ผลของมันคือใช้เวลานานไม่สะดวกสำหรับผู้ใช้บางคนที่อาจมีปฏิกิริยาเชิงลบ เขาสรุปว่าสิ่งมอมเมาไม่ใช่การรู้แจ้งหรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนแต่เป็นคุณที่ให้เปล่า มันไม่จำเป็นแต่ก็เป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีปัญญา แม้ว่าการให้เหตุผลอย่างเป็นระบบจะมีความสำคัญ แต่การรับรู้โดยตรงก็มีคุณค่าที่แท้จริงเช่นกัน สุดท้าย ฮักซ์ลีย์ ยืนยันว่าบุคคลที่มีประสบการณ์นี้จะได้รับผลการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยจิตใจของเราจะถูกปลูกฝังศิลปะแห่งการเปิดกว้างที่บริสุทธิ์หากคุณไม่เจอ Bad Trip เสียก่อน

หนังสือทั้งสามเล่มนี้จะพาคุณล่องไปกับวิวัฒนาการของมนุษย์จากโฮโมเซเปียนส์ถึงจุดหมายของเหล่าบุพผาชน

เอกสารอ้างอิง: Aldous Huxley, the Door of Perception: Heaven and Hell, Flamingo 1994. หยุดโลก บทเรียนชีวิตจากดอนฮวน, คาร์ลอส คาสตาเนด้า, พยับแดด แปล, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย 2538. https://www.bbc.com/thai/international-41619943, https://bit.ly/3gzqyGi
https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=33&chap=4&page=t33-4-infodetail09.html, https://www.blockdit.com/posts/5d9b8367d736e02ce90617ca, https://hmong.in.th/wiki/Carlos_Castaneda, https://journalist-nsk.ru/th/dom-kvartira/kastaneda-imya-chem-opasen-karlos-kastaneda-podlinnaya-istoriya.html, https://voicetv.co.th/read/4efZ55Dmx, https://cads.in.th/cads/content?id=79, https://www.gotoknow.org/posts/234401, https://www.nateliason.com/notes/food-of-the-gods-by-terence-mckenna, https://hmong.in.th/wiki/Humphrey_Osmond, https://hmong.in.th/wiki/Aldous_Huxley,https://www.goodreads.com/book/show/3188964-the-doors-of-perception

Bodies without Organs [BWO] and Assemblages – มองแนวคิด จิลล์ เดอเลิซ เชิงสุนทรียะผ่านประติมากรรมของเดวิด อัลท์เมจ์

baannoorg publication

Artist: David Altmejd (close-up)

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หัวข้อ Mechanic Assemblages of Desire ของการประชุมเสวนานานาชาติครั้งที่ 3 ในประเด็น Deleuze และงานวิจัยทางทัศนศิลป์ ซึ่งจัดขึ้นที่ Orpheus Institute เมือง Ghent ประเทศ Belgium เมื่อวันที่ 9–11 พฤศจิกายน 2019 ถือได้ว่าเป็นเวทีเสวนาที่รวบรวมนักวิจัยที่รับอิทธิพลแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมจากทุกมุมโลก เข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัยของแต่ละท่านในแง่มุมต่างๆ และสนามในการศึกษา(field study) ที่หลากหลายทั้งด้านศิลปะและวรรณกรรม โดยเริ่มจากประเด็นการศึกษาวิจัยปรัชญาเชิงนิเวศสมดุล (Ecosophy) ของ กัตตารี และต่อด้วยงานศึกษาวิจัยด้านวรรณกรรม การแสดงดนตรี การเขียนแผนที่ ทัศนศิลป์ การแสดงสด ดนตรี-เสียง และสถาปัตยกรรม

ไฮไลท์ในงานเสวนาครั้งนี้ปิดท้ายด้วยภาพยนตร์ที่ตอกย้ำแนวคิดปรัชญาของจิลล์ เดอเลิซ และ เฟลิกซ์ กัตตารี (Gilles Deleuze and Félix Guattari) ในค่ำคืนที่เรียกว่า Deleuzoguattarian film Night ภัณฑารักษ์ของกิจกรรมนี้รับหน้าที่โดย Ilona Hongisto (PhD.) ศาสตราจารย์ในสาขาภาพยนตร์ศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Norwegian (NTNU) ประเทศนอร์เวย์ และ Tero Nauha (PhD.) ศิลปินแสดงสดซึ่งเป็น ศาสตราจารย์ ในสาขาวิชาศิลปะและการแสดงสดศึกษา (LAPS) ที่ Theatre Academy แห่งมหาวิทยาลัยศิลปะเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมาแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฏีการรวมสิ่งต่างๆ (assemblage) โดยมีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันอย่างลื่นไหล หรือทฤษฎีการประกอบ-กำหนดกรอบความซับซ้อนทางสังคมโดยเน้นที่ความลื่นไหล ความสามารถในการแลกเปลี่ยน และฟังก์ชันที่หลากหลายผ่านสิ่งของ-วัตถุหรือกลุ่มก้อนที่สร้างการเชื่อมต่อซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการของการเข้ารหัส การแบ่งชั้นโดยใช้รูปแบบเฉพาะ และการสร้างอาณาเขตในกระบวนการแบ่งชั้นทฤษฏี Assemblage หรือการรวมตัวจึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างแนวคิดที่เฉพาะเจาะจงและการจัดเรียงแนวคิดเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ให้ความหมายหรือในทางกลับกัน Assemblage สามารถอธิบายได้ว่าเป็นการรวมและเชื่อมโยงของแนวคิดซึ่งเป็นทั้งการเชื่อมต่อ และการเตรียมการเชื่อมต่อที่ให้บริบทสำหรับความหมายที่กำหนด[1] เพราะว่าวิธีวิทยาของ Assemblage นั้นแม้จะอยู่ในจุดที่แตกต่างกันแต่มีเป็นหมายเดียวกันคือ ทำงานเป็นส่วนๆ และสามารถผสานรวมเข้ากับส่วนอื่นๆ เสมอ (Manuel DeLanda 2007: 8)

แนวคิดนี้ได้กลายเป็นแก่นกลางของเครื่องมือที่ถูกพูดถึง เพื่อใช้ตอบคำถามด้านความมั่นคง ความไร้เสถียรภาพ ข้อกำหนดต่างๆและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของการปฏิวัติแบบใหม่รวมถึงปรากฏการณ์และประโยชน์ทางด้านปรัชญา วัฒนธรรมการเมืองและสุนทรียศาสตร์ (aesthetic-political function) สองด้านของเหรียญระหว่าง Deleuze และ Guattari ซึ่งปรากฏในหนังสือที่ร่วมกันเขียนที่ชื่อ Kafka: Towards a Minor Literature ในปี 1975 ได้ขยายทฤษฏี Assemblage ไปสู่ตัวบทในหนังสือที่ชื่อ A Thousand Plateaus ในปี 1980 และจากงานชุด Capitalism and Schizophrenia ซึ่งอธิบายแนวคิดเรื่องไรโซม (rhizome) การต่อต้าน (insurrection) การปฏิวัติในระดับโมเลกุล (molecular revolution) และการเมืองแบบเอกพจน์ (singularity politics) ซึ่งเป็นแนวทางการเมืองของขบวนการทางสังคมรูปแบบใหม่ (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 18)

Deleuze y Guattari. (Mesa redonda organizada para el número 143 de La Quinzaine Littéraire. 1972)

ในเชิงอุปลักษณ์ (Metaphor) ของไรโซมนั้นเป็นการทำความเข้าใจสังคมจากพืชชนิดที่ต่างไปจากต้นไม้ทั่วไป เพราะมันไร้รากแก้วแต่แพร่ขยายตัวเป็นไปได้ทุกทิศทาง มันเป็นพืชที่อาศัยและเคลื่อนที่ในแนวระนาบ โดยที่รากของมันมีมากมายหลากหลาย และเกี่ยวพันกับรากอื่นๆ อยู่ใต้ดินซึ่งเราไม่สามารถแยกได้ว่ารากไหนคือรากหลักหรือรากแก้ว แต่ต้นไม้ทุกต้นจะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่กระจายตัวออกไปทั่ว และสามารถแตกตัวออกไปได้ทุกจุดของความสัมพันธ์ โดยไม่มีศูนย์กลางและขอบเขตที่ชัดเจน การแตกตัวจึงเป็นการวิ่งออกไปทุกทิศทางจากตัวมันเอง (line of flight) (เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 22) เช่นเดียวกับสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ไม่มีศูนย์กลางใดศูนย์กลางหนึ่งเป็นแกนกลาง มีลักษณะไร้รากที่ไม่ได้เดินไปอย่างเส้นตรง มันสามารถแผ่ขยายเส้นฝอยเชื่อมต่อกันข้ามขอบเขตพื้นที่โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นรากฝอยประเภท (Segment) เดียวกันโดยลำต้นของพืชที่เติบโตอย่างไร้จุดหมายและไม่เป็นระเบียบ

เราไม่สามารถมองเห็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของมันได้ อุปลักษณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ทั้งหลายล้วนอยู่ในภาวะไหลลื่นเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ กลายสภาพได้ตลอดเวลา (becoming) ซึ่งทั้งหมดยากที่จะหาแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบตายตัวมาอธิบาย ในหนังสือ A Thousand Plateaus ได้อธิบายความเชื่อมโยงของสนามทางความรู้ ทั้งด้านมนุษย์ศาสตร์ สัญญวิทยา ความหมายสัญญะ และรูปสัญญะ การเข้าและการถอดรหัส  ซึ่งในปัจจุบันทฤษฏี Assemblage ในลักษณะดังกล่าวได้ถูกประยุกต์ใช้ทั้งทางศิลปะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในชื่อที่ถูกเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ทฤษฏีรวมสัมพันธ์ ตรรกะการรวมตัว  ทฤษฏีเครือข่าย-ตัวเล่น ซึ่งทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปสู่แนวคิดพื้นฐานหลักการ “agencement” หรือการรวมตัวที่มีความสลับซับซ้อนตามแนวคิดปรัชญาของ Deleuze and Guattari’s แทบทั้งสิ้น

Mechanic Assemblages of Desire Deleuze and Artistic Research 3

ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเอกสารฉบับหนึ่งจากงานเสวนาครั้งนี้ เป็นบทความซึ่งนำเสนอโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภูรคู เบกาน (Burcu Baykan, Ph.D)  แห่งภาควิชา Visual Communication Design และเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษใน Contemporary Art Theory and Practice แห่งมหาวิทยาลัย Bilkent ประเทศตุรกี Baykan ได้ศึกษาวิจัยแนวคิดของ Deleuze ที่ส่งอิทธิผลต่อผลงานทางทัศนศิลป์ และได้เขียนบทความตีพิมพ์ลงในวารสารแห่งมหาวิทยาลัย Leuven ประเทศเบลเยียม ประจำปี 2021 ในหัวข้อ การรวมตัวของความหวาดหวั่น และความระยิบระยับของร่างที่กลวงโบ๋โดยปราศจากอวัยวะภายใน (Ghastly Assemblages and Glittery Bodies without Organs) โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาผลงานประติมากรรมของ เดวิด อัลท์เมจ์ (David Altmejd) ซึ่งผู้เขียนจะขอแยกรายละเอียดของบทความฉบับนี้ออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ ส่วนผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ และ ส่วนเอกสารวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Baykan ดังนี้

1.

ก่อนที่เราจะเข้าไปอ่านตัวบทที่ศึกษาโดย Baykan เรามาทำความรู้จักกับศิลปินเดวิด อัลท์เมจ์ (David Altmejd) กันก่อน อัลท์เมจ์ เกิดที่เมืองมอนทรีออล รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ในปี 1974 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ Université du Québec à Montréal ในแคนาดา และปริญญาโททัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัย Columbia ในปี 2001 ปัจจุบัน อัลท์เมจ์ พำนักและปฏิบัติงานอยู่ที่ Los Angeles และ New York หลังจบการศึกษาเขาได้จัดแสดงผลงานหลายครั้งทั้งในสหรัฐอเมริกาและนานาชาติ ต่อมาในปี 2003 เขาได้ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ 8th International Istanbul Biennial ปีถัดมา 2004 ได้ร่วมแสดงใน Whitney Biennial และในปี 2007 เขาได้รับการเสนอชื่อเป็นตัวแทนประเทศแคนาดาแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาขาติ Venice Biennale

David Altmejd in his studio

          ในภาพรวมผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ โดยมากนำเสนอรูปทรงของมนุษย์ผสมผสานกับธาตุทัศนะเชิงนามธรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปะและพลังงาน (art and energy) ความต่อเนื่องของพลวัตของการกลายเป็น (becoming) การแยกและรวมมนุษย์กับสัตว์ และความฝันซึ่งไม่ใช่แค่เพียงร่างกายเท่านั้นแต่รวมถึงจิตใจ จินตนาการ มายาภาพ สภาวะทางจิตวิญาณ และสภาวะหลอนจิต (psychedelic) ไม่เพียงแค่การรับรู้โลกทางวัตถุ หากเพื่อสำแดงญาณทัศน์ในเชิงภววิทยา (Ontology) ที่มีความสัมพันธ์ต่อขบวนระบบการจัดการ การลำดับข้อมูลและเผยตัวเองของวัสดุอันหลากหลายที่เขานำมาใช้สร้างผลงานเช่น ดินเหนียว โฟม กระจกเงา หินแร่ ควอรตซ์ เรซิ่น ปูน ผมปลอมและผมของมนุษย์ ฯลฯ โดยใช้กระบวนการสร้างผลงานประติมากรรมแบบประเพณีด้วยการปั้นและถอดพิมพ์ ด้วยการเปลี่ยนผ่านหลอมรวมความเป็นมนุษย์กับเครื่องจักรเพื่อยกระดับวิวัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง และนำเสนอภาพของทั้งสัตว์และมนุษย์ ซึ่งปรากฏในผลงานประติมากรรมจากหลายมุมโดยการซอยแบ่งชิ้นส่วนต่างๆ ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้มองเห็นได้หลายมุมทับซ้อนกัน

ภาพขวา: Spacing Out 2017 by David Altmejd ภาพซ้าย: The Orbit by David Altmejd, 2016

“ร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์โยงใยกับกระบวนการผุกร่อน การก่อเกิดขึ้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงสภาพ… ฉันไม่ได้สนใจในทุกส่วนของร่างกาย และคิดว่าบางส่วนนั้นน่าสนใจกว่าบางส่วน ตัวอย่างเช่นที่ศีรษะ ศีรษะเป็นที่บรรจุหลายสิ่งเอาไว้เป็นที่ซึ่งความคิดก่อเกิด ที่ซึ่งมีสัมปชัญญะเป็นที่บรรจุจักรวาลลงไป มันไม่ใช่แค่เพียงแสงที่วาวขึ้น สัญลักษณ์เช่นนี้คือการตั้งไข่ มันคือวัตถุที่บรรจุอนันตกาล”

อัลท์เมจ์ กล่าว

อัลท์เมจ์ มักนำเสนอภาพส่วนเสี้ยวอวัยวะส่วนหัวที่ถูกตัดออกจากร่างกาย ห้องหรือกล้องที่ทำจากกระจกเงา ดอกไม้พลาสติกและเครื่องประดับประดาต่างๆ ฯลฯ เพื่อเล่าเรื่อง โดยมีเค้าโครงในการนำเสนอภาพความแตกต่างที่เบลอเข้าหากันระหว่างภายในและภายนอก ระหว่างพื้นผิวและโครงสร้าง ระหว่างภาพเหมือนและภาพนามธรรม ร่างกายมนุษย์ที่สัมพันธ์โยงใยกับกระบวนการผุกร่อน การก่อเกิดขึ้นใหม่และการเปลี่ยนแปลงสภาพ ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และการทำลายตัวมันเอง ประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ มีทั้งขนาดที่ใหญ่และขนาดเท่าคนจริง โดยมากเป็นการรวมกันเข้าของสิ่งของต่างๆ หลากหลายที่คาดเดาได้อยาก เป็นการรวมกันเข้าเสมือนบทกวีที่ดูแล้วสร้างความรู้สึกรบกวนใจหรือแม้แต่น่าเอ็นดู เขาได้ซุกซ่อนสิ่งที่ไม่ปรากฏในโลกความเป็นจริงให้เผยออกมาภายใต้พื้นผิวของสิ่งต่างๆ อัลท์เมจ์ ได้เผยโครงสร้างที่ซ่อนเร้นผ่านตัวงานในพื้นที่ในลักษณะกลับด้าน-กลับหัว-กลับหาง ผ่านพื้นที่เช่น รู ช่องว่าง ตามรอยแยกและช่องว่างที่บรรจุผลึกแก้วซึ่งถูกจัดวางซ้ำๆกัน ภายในตู้โชว์ที่มีลักษณะเป็นเขาวงกต เพื่อให้ตัวผลงานทำการสะกดจิตและแพร่สะท้อนความลี้ลับแห่งมนตรา และมายาภาพไปสู่ผู้ชม มันเป็นแก่นกลางในผลงานของ อัลท์เมจ์ ซึ่งเขาได้รับอิทธิพลทั้งจากงานวรรณกรรมกระแสหลักและภาพสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมประชานิยม รวมทั้งจากศิลปินอย่าง Louise Bourgeois, Kiki Smith, Matthew Barney, Paul McCarthy และศิลปินมินิมัลลิสต์อย่าง Sol LeWitt และ Donald Judd หรือนักเขียนและผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง David Cronenberg, Jorge Luis Borges, และ Mary Shelley หรือแม้แต่รูปแบบอาคารสมัยใหม่ของ Mies van der Rohe

“ในขณะทำงาน ร่างกายกลายเสมือนจักรวาลที่ซึ่งฉันได้ปลดปล่อยตนเอง มันเป็นอุปลักษณ์แห่งภูมิทัศน์กว้างใหญ่ ธรรมชาติและภูเขา…ฉันมองการจัดวางผลงานเสมือนเป็นอวัยวะ” อัลท์เมจ์ กล่าว

David Altmejd, “Dream Weaver,” FRAME, November 2013
David Altmejd, The Flux and the Puddle, 2014. Installation, various materials, 327,7 X 640,1 X 713,7 cm. Giverny Capital Collection. Photo : MNBAQ, Idra Labrie

ความสลับซับซ้อนเชิงกายภาพในผลงานประติมากรรมที่ อัลท์เมจ์ สร้างสรรค์หากพิจารณาในประเด็น artistic form หรือ medium  จะพบว่าความซับซ้อนและความเป็นสถาปัตยกรรม(complex and architectural) ที่นำมาประกอบสร้างผลงานของเขามีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผลงานประติมากรรมปรากฏภาพเหนือจริงที่จริงยิ่งกว่าจริง(beyond surreal) ด้วยการสร้างให้เกิดความเย้ายวนอันน่าขยะแขยง ด้วยการผนวกรวมเข้ากันด้วยแนวคิดในแบบนิยายวิทยาศาสตร์ การเสนอภาพมายาและแนวคิดจินตนิยมกอทิก (gothic romanticism) ซึ่งได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมย่อยจากแนวคิดจินตนิยมที่สะท้อนถึงความหลงใหลและลุ่มหลง ความไร้เหตุผล ภาพปีศาจ ภาพสยองขวัญ และมายาภาพความพิสดาร ผสมผสานกับนิยายแบบกอทิก ซึ่งบดบังขบวนการโรแมนติกที่เริงร่า หรืออาจเรียกจินตนิยมกอทิกได้ว่าเป็นด้านมืดของมนุษย์ในแนวคิดจินตนิยม

ขณะที่ Jerry Saltz (1951-) นักวิจารณ์ศิลปะอาวุโสและคอลัมนิสต์ของนิตยสารนิวยอร์ก ผู้ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สำหรับการวิจารณ์ในปี 2018 เรียกมันว่ากอทิกใหม่ (Modern Gothic) โดยอธิบายคำนี้ในลักษณะต่างๆ ที่เกี่ยวกับความป่วยไข้ที่แปลกประหลาด ภูตผีปีศาจ ความอุบาทว์ ความโสมม พวกโรคจิต ความลึกลับหรือสิ่งมีชีวิตที่ผิดธรรมชาติ ความหวาดกลัวอันคร่ำคร่ากับพิธีกรรมในแบบลี้ลับ สุนทรียะที่ตายซาก ความสยองขวัญที่กำลังจะเกิดขึ้น และความน่ากลัวในธรรมชาติของสัตว์มนุษย์ Saltz ระบุว่าการหวนกลับมาของยุคกอทิกหลังมีชัยชนะต่อภูตผีปีศาจสมัยยุคแห่งปัญญาญาณในศตวรรษที่ 18 มีผลมาจากจินตนาการทางศิลปะได้ตกอยู่ในความหลงระเริง แต่แท้จริงแล้วนรกแห่งยุคกอทิกไม่ได้หายไปไหน มันเพียงเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งเท่านั้น เหตุการณ์ 9-11 เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการท้าทายและคำประกาศกร้าวของปีศาจที่ปลุกชาวอเมริกันให้ตื่นขึ้น

ในโลกศิลปะความกลัวและความสับสนอลหม่านได้นำกลับมาซึ่งแนวคิดอภิปรัชญา ที่ส่งผ่านภาพใหญ่ในกระแสของความเปลี่ยนแปลงไปสู่รายระเอียดเล็กๆปลีกย่อย จากวัฒนธรรมหลักไปสู่วัฒนธรรมย่อยและลัทธิต่างๆ โดยศิลปินเป็นผู้ที่ซึมซับรายละเอียดดังกล่าวได้เร็วมากกว่าทางสังคม การมองโลกสวยกลับตาลปัตรกลายเป็นการมองโลกในแง่ร้าย สิ่งต่างๆไม่ได้แบ่งแยกเพียงขาวและดำอีกต่อไป Saltz ระบุว่าศิลปินที่อยู่ในขอบข่ายกอทิกใหม่ ต่างแสดงความแดกดันเย้ยหยัน โดยอาศัยรูปหรือสัญลักษณ์ และสืบค้นระบบการสร้างความหมายที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆไม่ได้ถูกควบคุมจากที่ใดที่หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นผลของการสร้างสรรค์ความขัดแย้งระหว่างความงามและความสยดสยองของแนวทางกอทิกใหม่ Carl Jung (1875–1961) และ Charles Baudelaire (1821-1867) มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าศิลปินผู้สร้างสรรค์โดยทั่วไปมีความโน้มเอียงไปในพลังด้านมืดเป็นทุนเดิม เป็นพลังที่ควบคุมเหนือชีวิตของพวกเขา และพวกเขามิได้เป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากพลังควบคุมนั้น

Untitled, David Altmejd, Mixed Media, 2018

ในช่วงเวลาบนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ศิลปะย้อนกลับไปในปี 1918 ศิลปะดาดาเคยนำเสนอแนวคิดที่แหกกฎเชิงสุนทรียะ ที่ยุคสมัยนั้นกล่าวกันว่าเป็นผลงานที่ไร้ซึ่งรสนิยมทางศิลปะอย่างสิ้นเชิง Kurt Schwitters ได้สร้างผลงานโดยนำสิ่งของเหลือใช้มาปะติดปะต่อและรวมกันเข้าโดยเรียกเทคนิคนี้ว่า ‘merz’ การรวมเอาสิ่งต่างๆ ที่ไม่น่าจะเข้ากันได้เป็นวัตถุพื้นฐานของแนวคิดเหนือจริง ซึ่ง Schwitters รับอิทธิผลปรัชญาแนวคิดจิตวิเคราะห์มาจาก Sigmund Freud’s ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 50s และ 60s แนวคิดการรวมกันเข้า(assemblage) กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ศิลปินอย่าง Jasper Johns และ Robert Rauschenberg รับช่วงต่อการต่อต้านสุนทรียะ (anti-aesthetic) และเรียกวิธีการของเขาว่าCombined Painting เป็นกระบวนการสร้างผลงานโดยการใช้สิ่งของเหลือใช้ที่หาได้จากข้างถนนในมหานครนิวยอร์ก นำมาระบายสีสำแดงอารมณ์บนพื้นผิวที่นูน-ต่ำหรือบนชิ้นงานประติมากรรมสามมิติ และมันได้กลายเป็นลัทธิศิลปะใหม่ที่เรียกแนวทางนี้ว่า นีโอดาดา (neo-dada) ด้วยวัตถุประสงค์ในการที่จะท้าทายคุณค่า และเพื่อทำลายระบบการค้าของหอศิลป์ที่นำเสนอผลงานศิลปะในเชิงพาณิชย์ในเวลานั้น

Left: Kurt Schwitters, Little Seamen`s Home 1926
Right: Robert Rauschenberg, Canyon, 1959

หากพิจารณาการรวมตัว(assemblage)  ในความหมายเชิงเทคนิค พบว่าอิทธิพลเชิงกายภาพได้ปรากฏต่อเนื่องสืบมาบนไทม์ไลน์ในประวัติศาสตร์ศิลปะ และส่งต่อมาถึงศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันดังปรากฏเด่นชัดในผลงานของกลุ่มศิลปิน Young British Artists (YBA) ในผลงานของ Sarah Lucas, Damien Hirst และ Jake-Dinos Chapman และศิลปินร่วมสมัยอย่างเช่น Tomoko Takahashi, Christina Mackie และ Mike Nelson ที่สร้างผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ด้วยการรวมเอาเศษวัสดุและของที่หาได้ทั่วๆ ไป มาจัดแสดงในหอศิลป์

ภาพ:ซ้าย: Tomoko Takahashi, Desk-Top Garden Sculpture (2000). Photo © Nigel Green.
ภาพขวา: Mike Nelson Studio apparatus for Kunsthalle Münster. Photo: Thomas Wrede

เดวิด อัลท์เมจ์ ในฐานะศิลปินร่วมสมัยที่นำเสนอผลงานประติมากรรม เขาเป็นประติมากรที่รับเอาอิทธิพลปรัชญาของ Deleuze ในแนวคิดเรือนร่างที่ปราศจากอวัยวะและการรวมตัว (body without organs [BwO] and assemblage) ซึ่งเผยให้เห็นถึงความกลวงเปล่าภายในตัวระบบ เป็นร่างที่ปราศจากอวัยวะ หรือระบบภายในที่ก่อเกิดสภาพแห่งชีวิตทางสังคม ความสัมพันธ์ของส่วนประกอบภายในร่างกายซึ่งมีความไม่คงที่และคงที่ สามารถแทนที่หรือเชื่อมต่อเข้ากับภายในสู่ภาพนอกและกับร่างกายอื่น ๆ ในระบบผ่านความสัมพันธ์ของรูปลักษณ์ภายนอก หรือแม้แต่เป็นกระบวนการทางสังคมการเมืองที่ถูกทำให้เป็นนามธรรมของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในระบบวิธีคิดหรือชีวิตประจำวันของผู้คน

แต่ถึงอย่างไรก็ตามความเชื่อมโยงที่ถักทอกันในความกลวงนั้น ก็ปรากฏเด่นชันให้พิจารณาได้ในแบบที่สามารถสะท้อนให้เห็นว่าธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังถูกแบ่งแยกออกจากกัน เป็นการตัดขาดมนุษย์ออกจากโลกธรรมชาติเพื่อเข้าสู่โลกทางสังคม(เก่งกิจ กิติเรียงลาภ 2558: 19) มนุษย์ถูกแยกออกจากนิเวศ ชุมชนถูกแยกออกเป็นปัจเจก แม้แต่พื้นที่ก็ถูกแยกออกจากความหมายของการดำรงชีวิต และกลายเป็นพื้นที่ซึ่งไร้ความเป็นพื้นที่ (place-nonplace) เพราะมันไม่ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมความสัมพันธ์ทางสังคมใดๆ อันเป็นประโยชน์แก่คุณค่าในการดำรงอยู่ของมนุษย์อีกต่อไป

2.

บทความ “Ghastly Assemblages, Glittery Body without Organs” ที่ลงตีพิมพ์ในวารสารแห่งมหาวิทยาลัย Leuven ประเทศเบลเยียม ประจำปี 2021 และเป็นส่วนหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ Mechanic Assemblages of Desire: Deleuze and Artistic Research 3 โดย Burcu Baykan (Ph.D) เป็นผลงานวิจัยฉบับเดียวกันกับที่เธอนำเสนอในงานเสวนานานาชาติซึ่งจัดขึ้นที่ Orpheus Institute  เมือง Ghent ประเทศ Belgium ในปี 2019 ในหัวข้อเดียวกัน  ซึ่งนักวิจัยแต่ละท่านแต่ละสาขาวิชาต่างได้นำเสนอแนวคิดของ Deleuze โดยอธิบายเทียบกับผลงานศิลปะในแขนงต่างๆ สำหรับ Baykan เธอได้นำผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาเพื่อการสะท้อนรูปธรรมแนวคิดเรื่องร่างที่กลวงโบ๋อันปราศจากอวัยวะภายใน และทฤษฏีการรวมตัว (body without organs [BwO] and assemblage) โดยเทียบเคียงกับปรัชญาแนวคิดของ Deleuze  และแผนที่ทางสุนทรียะที่เชื่อมโยง Deleuze กับผลงานของ อัลท์เมจ์ เพื่อคลี่ออกซึ่งความสลับซับซ้อนของมนุษย์ สัตว์ พืช-แร่ธาตุ ในตัวประติมากรรมที่ใช้วัสดุหลากหลายเชื่อมโยงใยโดยไร้จุดเริ่มต้นและจุดจบ ให้เข้ามารวมกันในแบบที่ไร้เอกภาพในฐานะสื่อและไวยากรณ์ทางศิลปะ

คำสำคัญ : Sculptural Art, Deleuze and Guattari, becoming-other, assemblage, human and nonhuman continuity

ในฐานะนักวิชาการ Baykan มองว่า อัลท์เมจ์ ได้สำรวจพบความผุกร่อนในรูปกายมนุษย์ซึ่งประสานปนเปด้วยความย้อนแย้งหลายชั้นในสภาวะที่ไร้ความเป็นมนุษย์ มันเป็นการกลายพันธุ์ของอวัยวะภายใน เธอค้นพบร่องรอยของสภาพแวดล้อมที่เหลือล้น ที่เข้าเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน จากสายพันธุ์ที่แตกต่างกันหลายชั้น คล้ายกับพืชคลุมดินที่ไร้รากแก้วในแนวคิดไรโซมของ Deleuze และ Guattari’s ที่โยงเข้าหากันภายใต้แนวคิดร่างที่กลวงโบ๋อันปราศจากอวัยวะภายใน (BwO and assemblage) และการรวมตัวขององค์ประกอบต่างๆในผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ ปรากฏรูปร่างของร่างกายในแบบที่หลากหลายอันประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะ และมีลำดับชั้นของการจัดการ ที่รื้อถอนคลี่ออกและไปไกลเกินกว่าที่ผู้ชมจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกความเป็นจริง ซึ่งมีทั้งความเป็นสัตว์ ดอกไม้ ภูมิทัศน์ และอื่นๆ

The Swarm, 2011. Plexiglas, chain, metal wire, thread, acrylic paint, epoxy resin, epoxy clay, acrylic gel, granular medium, synthetic hair, plaster, foam, sand, quartz, pyrite, amethyst, assorted minerals, adhesive, wire, pins, needles. 102 1/2 x 244 x 84 1/2 inches

Baykan ให้ข้อบงชี้ว่า อัลท์เมจ์ แปลความร่างกายในฐานะสื่อผสมในการรวมกันเข้าของธาตุต่างๆ หรือวัสดุต่างชนิดกันแล้วสลายตัวเป็นเนื้อเดียวกัน และงอกตัวออกมาจากภาชนะหรือเรือนร่างที่บรรจุอวัยวะเอาไว้ประกอบกันจนกลายเป็นสิ่งที่มิอาจคาดคะเนได้ และกลายเป็นร่างใหม่ที่ส่งประกายระยิบระยับของร่างอันไร้ซึ่งอวัยวะ แสดงนัยความไม่คงทนถาวรขององค์ประกอบการรวมตัวกันของธาตุนั้นๆ ที่เข้ามารวมตัว ณ ขณะชั่วเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ พืช สัตว์ เครื่องมือ หรืออำนาจ เป็นความเปราะบางของทั้งหมดทั้งมวลภายใต้บริบทของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน (Deleuze and Guattari 1987: 161) ความอ่อนไหวและเปราะบางที่แตกต่างกันนั้นมาอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะ ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมและการเจริญงอกงามไปพร้อมๆกัน การรื้อถอนองค์ประกอบและการสร้างองค์ประกอบนั้นขึ้นมาใหม่ เป็นพลวัตรของการกลายพันธ์ที่สร้างให้รูปร่างรูปทรงประติมากรรมปรากฏขึ้น

เส้นแบ่งที่บางเบาในพรมแดนของความเป็นมนุษย์ สัตว์ พืช-แร่ธาตุ และการก่อรูปของสสารอย่างคริสตัล คือสิ่งที่ Baykan นำมาเทียบเคียงกับความหมายทฤษฏีการรวมตัว (assemblage)ในปรัชญาของ Deleuze และ Guattari ซึ่งพยายามอธิบายและแสดงให้เห็นคุณสมบัติที่แตกต่างกันของสิ่งที่ต่างสายพันธ์กัน เข้ามารวมกันในช่วงลำดับเวลาที่ต่างกัน (Deleuze and Guattari, 1987: 330) เป็นวิธีวิทยาที่อธิบายการประกอบและกระบวนการนำเสนอติดตั้งผลงานประติมากรรมของ อัลท์เมจ์ ในทางทฤษฏีแล้ว Baykan มองว่าสสารที่ต่างกันในตัวประติมากรรมเปรียบเสมือนภูตผีที่สิงสู่ภายในร่างมนุษย์ และในร่างของอมนุษย์ มันปนเปกันไปจากร่างหนึ่งเข้าไปสู่อีกร่างหนึ่ง (Deleuze and Guattari 1987: 88) เป็นความปรารถนาที่มนุษย์ผูกตนเองอยู่กับความขาดพร่องที่รอการเติมเต็ม มันเป็นขบวนการตัดต่อดัดแปลงและเปลี่ยนแปลงตัวมันเองก่อนที่จะเกิดการตกตะกอน และทำให้เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งในเนื้อหาของผลงานประติมากรรม 

Baykan ได้วิเคราะห์ขอบเขตอันไร้ขั้วตรงข้ามของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งถูกจับมารวมกันเพื่อแสดงให้เห็นถึงแรงต้านที่สำคัญซึ่งมีอิสระจากความเป็นศูนย์กลาง และอำนาจสูงสุด หากมองในฐานะนักมานุษยวิทยาผลงานของ อัลท์เมจ์ เป็นเสมือนพรมแดนที่มนุษยชาติรับรู้และสัมผัสได้บนความจริงทางนิเวศวิทยาและธรณีวิทยา ที่เคลื่อนตัวแปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาแม้เราจะไม่สามารถมองเห็นนั่นเอง

เอกสารวิชาการโดย Baykan ที่นำเสนอในหนังสือ Mechanic Assemblages of Desire Deleuze and Artistic Research 3]

เอกสารอ้างอิง
[1] (https://hmong.in.th/wiki/Assemblage_philosophy)

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ, 2558, วิธีวิทยาทางการเมือง Antonio Negri: ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการปฏิวัติของMultitude

Subjectivity, affect and place: Thinking with Deleuze and Guattari’s Body without Organs to explore a young girl’s becomings in a post-industrial locale, December 2013

Manuel DeLanda, 2017, Deleuzian Social Ontology and Assemblage Theory, Pratt Institute

Manuel DeLanda, 2006, A New Philosophy of Society : Assemblage Theory and Social Complexity

https://books.google.co.th/books?id=X0sdEAAAQBAJ&pg=PA197&lpg=PA197&dq=Ghastly+Assemblages,+Glitter+Body+without+Organs&source=bl&ots=4wUOsX4pdk&sig=ACfU3U0M3gXXMt1p1KEa_iivZd0MwadZ9A&hl=th&sa=X&ved=2ahUKEwiYofC57M7yAhVmwzgGHYDZCq4Q6AF6BAgXEAM#v=onepage&q=Ghastly%20Assemblages%2C%20Glitter%20Body%20without%20Organs&f=false

https://www.academia.edu/41684570/MACHINIC_ASSEMBLAGES_OF_DESIRE

https://www.xavierhufkens.com/artists/david-altmejd

https://www.davidkordanskygallery.com/artist/david-altmejd

Poe and Gothic Creativity, Maria Antónia Lima: https://www.jstor.org/stable/41506386

Saltz, Jerry. 2004. “Modern Gothic.” Village Voice, 27 January. Accessed 23 September2020.

https://www.villagevoice.com/2004/01/27/modern-gothic/.

https://whitecube.com/artists/artist/david_altmejd

https://www.xavierhufkens.com/artists/david-altmejd

https://art21.org/artist/david-altmejd/

https://www.davidkordanskygallery.com/artist/david-altmejd

https://www.guggenheim.org/artwork/artist/david-altmejd

https://www.artbook.com/blog-featured-image-david-altmejd-strand.html

https://th.wqbis.com/wiki/Assemblage_(philosophy)

Becomings Nonplace

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

พื้นที่-สถานที่ในทางสาธารณะหลายแห่งมีลักษณะไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ในขณะเดียวกันพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะบางแห่งนั้นมีความหมายต่อผู้คนจำนวนมาก เช่นพื้นที่หรือสถานที่สาธารณะทางประวัติศาสตร์ความทรงจำซึ่งมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ลักษณะของพื้นที่ที่ไร้สถานที่กลับถูกตรึงเอาความทรงจำและประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ฝังรากรอยแผลที่ใครหลายคนอยากลืมกลับจำ

ในโลกสมัยใหม่มนุษย์แทบทุกหมู่ย่อมมีประสบการณ์ในการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย สถานที่หลายๆแห่งได้ถูกประทับคิดนึกในความรู้สึกของมนุษย์ หากในความเป็นจริงสถานที่อีกหลายแห่งกลับไม่ก่อเกิดความรู้สึกแม้สถานที่นั้นๆ จะเป็นสถานที่ที่มีความจำเป็นในวิถีการดำรงอยู่และมีประโยชน์ใช้สอยแก่มนุษย์อย่างยากหลีกเลี่ยง  

นักมานุษยวิทยา นักภูมิศาสตร์มนุษย์และนักจิตวิทยาสังคมพยายามศึกษาว่าความรู้สึกของสถานที่นั้นพัฒนาขึ้นอย่างไร เราจะพบว่าปัจจุบันโลกถูกเชื่อมโยงและเกิดการบีบอัดด้านเวลา-พื้นที่ (time-space compression) ประหนึ่งว่าโลกใบเล็กลง และนำพาให้มนุษย์ได้สัมผัสมิติใหม่ของการรับรู้ที่ซับซ้อนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาได้เห็นพื้นที่ที่ไม่เคยเห็น รู้สึกกับพื้นที่แม้จะไม่เคยไป ด้วยการลดทอนปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับมนุษย์ในขั้นปฐมภูมิให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ ภาพหรือเครื่องหมายเท่านั้น

มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไป
และแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่

ความทันสมัยจึงกลายเป็นเพียงวาทกรรมที่ทำให้มนุษย์ต้องปรับตัวให้ “ทัน” กับเวลาที่ล่วงไปและแยกตนเองออกจากพื้นที่-สถานที่ หรือไม่มีความเกี่ยวพันเชิงอัตลักษณ์ของปัจเจกบุคลในความหมายที่ Marc Augé (1935-) นักชาติพันธุ์วิทยาและมานุษยวิทยาฝรั่งเศสที่สนใจศึกษาสังคมเมือง ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ ”อสถานที่” (nonplace) เพื่อขุดค้นลงลึกในความหมายของการเคลื่อนที่ การเคลื่อนย้ายของมนุษย์และสภาวะชั่วขณะที่เกิดขึ้นกันสถานที่นั้นๆ โดยอ้างถึงช่องว่างที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ของมนุษย์ที่ถูกลบออกไปจาสถานที่  โดยเขาได้อธิบายถึงความไร้สถานที่ (Non-places) หรือพื้นที่ที่ขาด “ความรู้สึกของสถานที่”  ความไร้สถานที่ได้แยกมนุษย์กับสิ่งที่แวดล้อมออกจากกันด้วยประดิษฐ์กรรมที่เรียกว่า Supermodernity  ซึ่งอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพื้นที่ในสถานการณ์ความล้นเกินด้านข้อมูลและความล้นเกินด้านพื้นที่ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ที่มาของภาพ: https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

Augé เสนอให้เรากลับไปมองเห็นความสำคัญของคำว่าพรมแดนเสียใหม่ ในฐานะที่มันคือทางผ่านไม่ใช่ทางตัน ไม่ว่าโลกโลกาภิวัตน์จะดำเนินหรือหมุนรุดหน้าไปไกลสักเพียงใด คำว่าพรมแดนก็ยังคงดำรงอยู่ และเราไม่สามารถปฏิเสธถึงการดำรงอยู่ของมันได้ ด้วยเหตุที่เขาสนใจเรื่องของการเคลื่อนไหวของมนุษย์  Augé ได้ผลิตผลงานทางมานุษยวิทยาที่ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่แสดงถึงความเป็นพลวัตรอยู่ตลอดเวลาในตัวของมนุษย์ แม้แต่งานเขียนเรื่องการขี่จักรยาน (Éloge de la bicyclette, 2008) สำหรับ Augé แล้วเขาสามารถอธิบายมันได้ในเชิงมายาคติและการเมือง เขายังศึกษาชีวิตชาวปารีสที่ใช้รถไฟใต้ดิน โดยเอาแนวคิดเรื่องความเป็นจริงทางสังคมของ Marcel Mauss (1872 –1950) นักสังคมวิทยาฝรั่งเศส มาอธิบายว่ารถไฟใต้ดินในปารีสนั้นเป็นพื้นที่ที่แสดงความเป็นจริงทางสังคมอย่างหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลกับสังคม ซึ่งถือว่าเป็นงานวิจัยร่วมสมัยทางมานุษยวิทยาที่น่าสนใจ

ในแนวคิด ‘supermodernity’ ได้อธิบายตรรกะที่ล้นเกินด้านข้อมูลและพื้นที่ในทางมานุษยวิทยา โดยแสดงความต่างระหว่างสถานที่ในทางประวัติศาสตร์และชีวิตทางสังคมที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น และอสถานที่ที่ปัจเจกบุคคลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องตามแบบพฤติกรรมมนุษย์ กับสถานที่ซึ่งชีวิตทางสังคมไม่สามารถงอกเงยก่อเกิดปฏิสัมพันธ์ใดๆ ความคิดนี้แตกต่างจากแนวคิดสมัยใหม่สกุล Baudelaire (Charles Pierre Baudelaire 1821 –1867) ที่อธิบายว่าสิ่งเก่าและใหม่จะสอดประสานเข้าด้วยกัน ดังนั้น supermodernity จึงเป็นเพียงการรวมกันแบบสองมิติระหว่าง motorway หรือ aircraft  ความเป็นท้องถิ่นหรือความแปลกใหม่ (exotic) ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสวนสนุก

หาก Supermodernity ตามความหมายของ Auge  นั้นหมายถึงการรายล้อมของสถานที่ที่ปรากฏแสดงภายนอกความไร้สถานที่ และมีแนวโน้มในการสร้างตัวตนขึ้นใหม่ภายในตัวของมันเอง เขาโต้แย้งแนวคิดดังกล่าวโดยระบุว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นอสถานที่มากยิ่งขึ้นในทุกขณะในเวลานี้ เป็นบทสรุปในช่องว่างของความโดดเดียวที่มีขนาดมหึมาซึ่งกลายเป็นเนื้อหาทางมานุษยวิทยาโดยตัวมันเอง เนื่องจากสถานที่ต่างๆ ที่ตอบสนองการดำรงชีวิตของมนุษย์กำลังกลายสู่ความเป็นสถานที่ที่ไร้ความรู้สึก อ้างว้างและว้าเหว่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

Augé เป็นนักมานุษยวิทยาพื้นที่ที่อธิบายถึงสภาวะความไม่ถาวรของสถานที่ ความไร้สถานที่หรืออสถานที่ (Non-place or nonplace) ที่มีผลต่อมนุษย์ในการปรากฏแสดงของปัจเจกบุคคลโดยปราศจากความมีอยู่ (beings) หรือสภาพไร้ตัวตน (anonymous) เขาระบุว่าสถานที่เหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่มนุษย์มิได้อาศัยอยู่ภายใน เป็นสถานที่ที่มิได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระดับพื้นฐานร่วมกันทางสังคม และก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวในมุมมองทางชาติพันธุ์วรรณา ในตัวอย่างพื้นที่-สถานที่ เช่น ซุปเปอร์มาร์เกต ทางด่วน  ห้องพักในโรงแรม โรงพยาบาล โรงหนัง สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และจอคอมพิวเตอร์-ทีวี แม้กระทั่งตู้กดเงิน ATM ฯ

“คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น”

อสถานที่ ดังกล่าวโดยมากมีลักษณะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความแข็งแรง ระบบจะตรวจสอบเมื่อคุณก้าวเข้าไปภายใน หนังสือเดินทางจะถูกประทับ การรับเอาเอกสารเพื่อรับรองผ่านทาง กระเป๋าจะต้องถือติดตัวเสมอ มิเช่นนั้นหน่วยรักษาความปลอดภัยจะนำไปตรวจสอบฯ ในพื้นที่เช่นนี้คุณจะถูกจับจ้องและให้ปฏิบัติตามมาตราการณ์ที่กำหนดเท่านั้น การสังเกตได้โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพียงคนเดียวจากห้องควบคุมที่เรียกว่า Panoptic เกิดขึ้นโดยคุณไม่รู้ตัว

Auge ตั้งคำถามเกี่ยวกับอสถานที่ว่าอะไรที่ “ไม่มีในความไร้สถานที่” โดยเขากล่าวว่าสิ่งที่ขาดหายไปในความไร้สถานที่ ได้แก่เรื่องของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในเชิงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทั้งด้านสังคมและปัจเจกบุคคล มันเป็นที่ๆ เกิดการปะทุขึ้นจากรูปแบบของเหตุการณ์ในพื้นที่หรือสถานที่จำเพาะ (site-specific event) และภูมิทัศน์ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกประสบการณ์ที่มนุษย์ถือกำเนิดมา จากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาดำรงอยู่

ที่มาของภาพ: https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

พื้นที่(space) นั้นมีความเป็นนามธรรมมากกว่าสถานที่(place) และมีความสำคัญต่อมนุษย์มากกว่าการระบุตำแหน่ง มันให้ความหมายทางสังคมที่ซ้อนเร้นด้วยการกระทำของมนุษย์ พื้นที่กลายเป็นตำนาน กลายเป็นที่ลี้ลับ ก็ด้วยกิจกรรมทางสังคมที่ถูกสร้างขึ้น การผลิตสร้างความหมายของพื้นที่ (production of space) ทั้งทางกายภาพ ทางความคิดและทางสังคม คือความสัมพันธ์(spatial relationship) ที่ซ่อนนัยทางอำนาจ และความหมายแฝงเชิงพื้นที่ลงไปในสถานที่นั้นๆ 

สถานที่จึงเป็นฐานลองรับทางจิตวิทยาที่มีต่อพัฒนาการของปัจเจกบุคคล คุณสมบัติของสถานที่เป็นเหตุเป็นผลและมีแนวโน้มต่อการที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน การเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ตรงในสถานที่มีลักษณะเช่นเดียวกับบทบาทของครอบครัว วัฒนธรรม และชุมชน ความผูกพันพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กกับสภาพแวดล้อมถูกเรียกว่า “ภูมิปฐมภูมิ” คืออัตลักษณ์ของบุคคลและถือเป็นจุดสำคัญในการเปรียบเทียบเพื่อพิจารณาสถานที่อื่นในชีวิตเมื่อผู้คนมีการเคลื่อนที่หรือโยกย้ายถิ่นฐาน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่พวกเขามักจะพิจารณาสถานที่ใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์พื้นฐานที่เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กเสมอ

ที่มาของภาพ: https://www.advisato.it/blog/nonluoghi/

ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่-สถานที่ถูกผูกโยงติดกับมนุษย์           ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์ เลื่อนไหล เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาภายใต้กระบวนการกลายสู่และเปลี่ยนผ่าน (becoming or transformation) ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม มิติปัญหาต่างๆในทางสังคมจึงมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างเเละสถานที่เสมอ ในทัศนะของ Foucault มันคือพื้นที่ที่ไม่ปกติหรือพื้นที่ว่างอื่นๆ (Other Space) ที่เรียกว่า เฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นพื้นที่ที่คู่ขนานไปกับพื้นที่สมบูรณ์แบบที่ไม่มีอยู่จริง เป็นพื้นที่ของการปฏิเสธภาวะทางสังคมหรือพื้นที่ของอำนาจที่มีผลกระทบทางสังคม มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับสภาวะความเป็นจริงของชีวิตซึ่งมีความขัดแย้งดำรงอยู่ การสร้างหรือนำเสนอพื้นที่แบบเฮเทอโรโทเปีย (Heterotopias) เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ว่าผลที่ปรากฏจะเป็นการปฏิเสธสังคมหรือด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นก็ตาม

การสร้างพื้นที่-สถานที่ ภายใต้บริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของกระบวนการกลายสู่ (becoming) นั้น มีความสัมพันธ์กับสิ่งที่ไม่ตายตัว ตอกย้ำความคิดที่ว่าความรู้สึกต่อสถานที่และสภาวะไร้สถานที่ (placeness and placelessness) คือกุญแจสำคัญในการประกอบสร้างสถานที่ขึ้นมา (sense of placeness and the placelessness as key in the constitution of the place) แม้ non-place และ place จะเป็นสิ่งเดียวกันก็ตาม แต่มันไม่เคยปรากฏเป็นรูปเป็นร่างที่สามารถจับต้อง สถานที่กำลังสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่จากภายในตัวมันเอง ซึ่งจริงๆ แล้วมันมิได้มีอยู่ก่อนที่จะมีร่างกายปรากฏขึ้น มันเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างอย่างเป็นระบบระเบียบและมีการจัดการมาเป็นอย่างดี สถานที่จึงเกิดขึ้นควบคู่ไปกับร่างกายในลักษณะเป็นส่วนขยายของมนุษย์ โดยมีสะพานเชื่อมระหว่างกันและกัน

ที่มาของภาพ: http://www.michelapozzi.net/en/works/non-luogo-interiore

การเปลี่ยนผ่านจากพื้นที่เป็นสถานที่ เกิดขึ้นแตกต่างกันไปในปัจเจกบุคคลและบริบทที่ต่างกัน  มันสร้างความรู้สึกถึงการเป็นคนใน (insider) หรืออาจผลักให้กลายเป็นคนนอก (outsider) กระบวนการกลายเป็นสถานที่มักเกิดจากความผูกพัน หรือมีความรู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมา มันคือแหล่งสะสมของประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ประสบการณ์ที่ว่านี้มิได้แผ่ขยายออกในทางราบ แต่เป็นการซ้อนทับกลับไปกลับมาที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมาก

“สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน”

ในกรณีที่สถานที่นั้นไม่ใช่สถานที่ หรือเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากสถานที่ที่มนุษย์มีความสัมพันธ์ มีประวัติศาสตร์ร่วมและเกี่ยวข้องในเชิงอัตลักษณ์ ความย้อนแย้งของอสถานที่ในแง่มุมของ Augé เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกถึงความเป็นบ้าน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอื่นที่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นคนแปลกหน้าซึ่งกันและกัน ในความหมายที่เหมือนกับการที่เราเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างแดน ที่ซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างจากเราหรือแม้แต่ภายในประเทศเดียวกันที่ๆ ผู้มีอำนาจมีวัฒนธรรมและชุดความคิดคนละชุดกับเรา  ความเป็นสากลต่อสถานะของความเป็นคนไร้บ้านจะปรากฏขึ้น มันคือสภาวะความไร้สถานที่ที่แวดล้อมเราอยู่แม้เราจะเคลื่อนไหวอยู่ภายในนั้นก็ตาม

จากทัศนะดังกล่าวเราลองจินตนาการผ่านภูมิทัศน์ทางสังคมการเมืองดูกันว่า เมื่อภาพพื้นที่-สถานที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นโดยเปรียบสถานที่ในฐานะพื้นที่พรมแดนความเป็นรัฐ และปัจเจกบุคคลในฐานะพลเมืองที่ตกอยู่ใต้การกำกับควบคุมโดยอำนาจจากภาครัฐ ความสำคัญของพรมแดนระหว่างรัฐและพื้นที่ของปัจเจกบุคคล อยู่ที่ความเป็นพลวัตรของการเรียกร้องทวงคืนความเป็นเจ้าของพื้นที่-สถานที่โดยนัยที่พลเมืองหรือปัจเจกบุคคลรวมตัวกันเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนเพื่อไม่ปล่อยให้พื้นที่หรือประเทศในฐานะสถานที่แห่งหนึ่งที่มีรูปทรงขวานกลายเป็นอสถานที่ต่อผู้เห็นต่างในวันข้างหน้า

_______________________________________

เอกสารอ้างอิง

1. Marc Augé, Non-places. Introduction to an Anthropology of Supermodernity, New York-London, Verso,1995, pp-77-96 (ed. or. Non-Lieux, Introduction à une anthropologie de Ia surmodernité, Paris, Seuil, 1992)

2.Kevin Donovan, Building Supermodernity: The Architecture of Supermodernism,  Jan 1, 2009

3. นราธร สายเส็ง, ธรรมชาติมนุษย์กับมุมมองเชิงพื้นที่, ฉบับภาษาไทย สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ

ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม – เมษายน 2560

4. ศุภมณฑา สุภานันท์, พื้นที่เวลา อัตลักษณ์และการสร้างความหมายทางสังคม, 186…Journal of Communication Arts Vol. 29 No. 3 2011 Faculty of Communication Art, Chulalongkorn University

5. ฐานิดา บุญวรรโณ, มานุษยวิทยาสำนักฝรั่งเศส, http://thanidab.blogspot.com/2013/01/blog-post.html

6. https://searchworks.stanford.edu/view/3003009

7. https://www.tokyofotoawards.jp/winners/social/2018/Non-Place/

8. https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

9. https://www.oxfordreference.com/view/10.1093/oi/authority.20110803100237780

10.https://smboneva.wordpress.com/2016/10/16/marc-auge-non-places-introduction-to-an-anthropology-of-supermodernity/

1512175_1569762403340933_1763148169733327469_o

ลาวเทมโพรารี่ ผีบุญ และหมุด63

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวของเดวิด สเตร็คฟัสส์ ชายผู้ปฏิเสธแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัดในสหรัฐอเมริกาสมัยโรนัลด์ เรแกน เป็นประธานาธิบดี ได้หนีสงครามเย็นมาใช้ชีวิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยอย่างถาวรในฐานะนักวิชาการอิสระ โดยทำการศึกษากฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ของประเทศต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสภาการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย (Council on International Educational Exchange: CIEE) เรื่องของเขากลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ถูกตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุการถูกระงับวีซา และให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลักดันออกนอกประเทศด้วยข้อกล่าวหาปรัมปรำว่าด้วย CIA

ในปี 2537 เดวิดได้พบกับ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ พ่อใหญ่ผู้ขบถแห่งคอร์แนลสคูล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอีสานศึกษา ผะหยารู้ลึกซึ้งและรู้จักอีสานดียิ่งกว่านักการเมืองทั้งหลายในสภา ในฐานะเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา และคายส์ยังเป็นผู้ผลักดันให้เดวิดได้หวนกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในฐานะผู้อำนวยการสภา CIEE จังหวัดขอนแก่น ต่อมาเขาได้ร่วมกับนักพัฒนาเอกชนของไทยทำงานโครงการภาคประชาสังคมกลุ่มสมัชชาคนจนในภาคอีสาน ร่วมกัน ขับเคลื่อนและคัดค้านกรณีสร้างเขื่อนปากมูลและประเด็นอื่นๆ ทางสังคมอันเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอีสานอีกหลายโครงการ

เดวิด สเตร็คฟัสส์ ที่มาภาพ: The Isaander

ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ที่มาภาพ: https://digital.lib.washington.edu/researchworks/handle/1773/17958

เดวิด สเตร็คฟัสส์ มิใช่นักวิชาการคนแรกที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐไทยสมัยใหม่ ผลจากการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ และเข้าพูดคุยกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในภาคอีสานของเขา ได้ถูกรวบรวมออกมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษา และจัดทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและวัฒนธรรมโดยศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกสารที่รัฐไทยสมัยใหม่ต้องการปกปิดบิดเบี้ยว เพื่อต้องการให้อีสานยึดโยงหรือเป็นไปตามแนวทางที่กรุงเทพฯอยากให้เป็น อัตลักษณ์ความภาคภูมิใจในความเป็นคนอีสานหรือคนลาวนั้นมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ปรีดี พนมยงค์ พยายามให้ข้อเสนอและยอมรับความหลากหลายของผู้คน และย้ำเตือนว่าความเป็นคนอีสานหรือคนลาว จะถูกยอมรับเพื่อสร้างหลักประกันว่ากรุงเทพฯกับอีสานนั้นเท่าเทียมกัน 

หากในทางปฏิบัติ เรายังพบกรณีการปิดกั้นความทัดเทียม ระหว่างภูมิภาคกับศูนย์กลางอำนาจของกรุงเทพฯ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบทุกอณูในชีวิตประจำวันและทุกภูมิภาคโดยดูได้จาก GDP การพัฒนาซึ่งศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯสูบกินไปมากกว่า 70% ของเศรษฐกิจมวลรวม ซึ่งเป็นทั้งกับดักและโครงสร้างที่กรุงเทพฯครอบครองไว้ โดยเฉพาะภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่ได้เงินน้อยกว่าที่ผลิตจาก 20% พวกเขาได้เงินสนับสนุนงบประมาณเพียง 6% เท่านั้น ความยากจนของคนอีสานอาจเป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐสมัยใหม่ล้อเล่นกับโชคชะตาของผู้คน ด้วยการกดทับอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพวกเขาให้จำนนต่อชุดความคิดที่ถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นใหม่ โดยไม่ยอมให้คนอีสานหรือคนลาวปรากฏในพื้นที่รัฐชาติ

  • อัตลักษณ์และพื้นที่

คำว่า ลาว เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ไทย-ลาวหรือชนชาวอีสาน ที่มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ส่วนคำว่าอีสานเป็นประดิษฐ์กรรมของรัฐไทยสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ธีรพงษ์ กันทำ, 2559: 323)  เพื่อใช้เรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา บริเวณที่เคยเป็นมณฑลต่าง ๆ ในอีสานได้ถูกสถาปนาเป็นภาคอีสานมาจนปัจจุบัน หากวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) ตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (ethnic identity) คำว่า ลาว อีสาน และกลุ่มชาติพันธุ์ ไทย-ลาว จึงหมายถึงกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย พูดภาษาลาว หรือที่ทางราชการเรียกว่าภาษาอีสาน (สมหมาย ชินนาค, 2546:1) 

กรณีศึกษาคำว่าลาวเมื่อพิจารณาผ่านภาษาศาสตร์และภูมิศาสตร์ สามารถแบ่งได้เป็นสองกรณีกล่าวคือ คำว่าลาวที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ และคำว่าอีสานที่ใช้เรียกพื้นที่ โดยถูกกำหนดให้ใช้เรียกเหมารวมทั้งกลุ่มชนและพื้นที่ ในผลงานวิจัย อีสานนิยม: ท้องถิ่นนิยมในสยามประเทศไทย ของ ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ระบุว่าคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใช้คำว่า “อีสาน” เพิ่มมากขึ้น แสดงถึงสำนึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของภูมิภาค/ชาติพันธุ์ ที่สะท้อนถึงการดำรงอยู่ของความไม่ลงรอยทางความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยและอีสาน อีสานจึงมิใช่พื้นที่ทางกายภาพหรือพื้นที่ทางธรรมชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นพื้นที่ทางสังคม และพื้นที่ในจินตนาการในขณะเดียวกัน (ธีรพงษ์ กันทำ, 2559: 309) 

อีสานเป็นคำที่หยิบยืมมาจากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพยดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คำว่าอีศานมีปรากฏในประวัติศาสตร์ราว พ.ศ. 1000 ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระ ฝ่ายไทยยืมรูปคำมาจากบาลีเขียนว่า อีสาน หลักฐานทางประวัติศาสตร์-โบราณคดีพบการตั้งบ้านเมืองในดินแดนอีสานตั้งแต่พุทธศตวรรษ 24-25 หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากกว่า 100 เมือง ชาวอีสานมีพื้นเพมาจากคนหลายกลุ่มตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ชาติพันธุ์หลากหลายในภาคอีสานประกอบด้วย ลาว ภูไท ไทดำ ไทกุลา กูย เขมร ไทญ้อ ไทโส้ ไทแสก ไทข่า และไทกะเลิง รวมทั้งชาวจีน เวียดนาม อินเดีย หรือเชื้อชาติอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาแต่ครั้งโบราณกาล หรืออพยพเข้ามาใหม่หลังสงคราม 

กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด และถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในอีสาน ด้วยอาศัยพื้นฐานทางนิรุกติศาสตร์และประวัติศาสตร์ (อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล, 2544: 1) จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เสนอข้อคิดเรื่องวิวัฒนาการและความหมายของคำว่า ไท และ ลาว เพื่ออธิบายกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาวที่ตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ว่ามีความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับกลุ่มคนไทที่อาศัยในบริเวณลุ่มนํ้าเจ้าพระยา ซึ่งได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขะแมร์กับมอญ สร้างวัฒนธรรมที่มีลักษณะประจำชุมชนอันโดดเด่น กล่าวคือ อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ (สุธิดา ตันเลิศ, 2558: 90) 

ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 รัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสประจำแคว้นลาวได้รีบเร่งขบวนการสร้างรัฐชาติแบบใหม่โดยมุ่งการแบ่งแยกคนลาวสองฝั่งแม่นํ้าโขง และการปลูกจิตสำนึกรัฐประชาชาติสมัยใหม่ขึ้น ยังผลให้คำว่า ”ลาว” มีความหมายเชิงปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐ ในเวลาต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 3/2482 โดยให้เปลี่ยนคำเรียก ไท-ลาว เป็น ไทยอีสาน เช่นเดียวกับคำว่า ไท-มาลายู ให้เปลี่ยนเป็น ไทยมุสลิม ในคราวเดียวกัน เพื่อปรับความสัมพันธ์ภายในสังคมผ่านการสร้างจินตนากรรมทางสังคม หรือที่ เบน แอนเดอร์สัน เรียกว่า ชุมชนจินตกรรม ซึ่งก่อกำเนิดและแพร่ขยายความคิดชาตินิยม 

มีคำอธิบายไว้ในสุนทรพจน์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482  ความว่า “รัฐนิยมคือหลักที่คนไทยทั้งชาติได้กำหนดนัดหมายว่าจะประพฤติเหมือน ๆ กัน… ” (ณรงค์ พ่วงพิศ, 2545: 21) จิตร ภูมิศักดิ์ มีทัศนะแย้งต่อแนวคิดดังกล่าวอย่างที่สุด เขาคัดค้านการผูกขาดการเรียนประวัติของชนเชื้อชาติเดียว ภูมิภาคเดียว โดยตัดประวัติของชนชาติอื่น และภูมิภาคอื่นทิ้งว่าเป็นสิ่งที่อันตราย และมองว่าเอกภาพของสังคมไทย และผืนแผ่นดินนี้ควรต้องประกอบสร้างขึ้นจากหลากภูมิภาค และหลายชนชาติ ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (cultural diversity) (สุธิดา ตันเลิศ, 2558: 102) เป็นทุนเดิม

ที่มาภาพ: https://www.silpa-mag.com/history/article_41612

กรณีศึกษาวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 มีผลต่อความเข้าใจในการอุบัติขึ้นของภูมิกายาหรือตัวตนทางกายภาพของสยามและประเทศไทยในเวลาต่อมา จากมโนภาพและแบบแผนการปฏิบัติทางภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านสยามในกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่ จึงสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบใหม่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นประวัติศาสตร์สยามหลังการปฏิวัติ 2475 ได้ถูกสร้างและผลิตซ้ำโดยการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับการฟื้นฟูยุคทองของสุโขทัย (ธงชัย วินิจจะกูล, 2554: 17) ด้วยการเกาะเข้าไปในหลักศิลาจารึก เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ชนชั้นนำในการปกครองแบบพ่อปกครองลูก จนกระทั่งมันกลายเป็นสำนึกและมโนทัศน์ที่ครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนานจากสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบัน

ปัญญาชนรุ่นบุกเบิกด้านประวัติศาสตร์ได้เสนอวิธีการศึกษา และมโนภาพใหม่ในการประกอบสร้างอดีตเช่นเดียวกับภูมิศาสตร์และความรู้แขนงอื่นๆ อดีตที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่ได้สะท้อนความบิดเบี้ยวแตกหักจากความคิดเดิมของคนพื้นเมืองที่มีต่ออดีต (ธงชัย วินิจจะกูล, 2554: 54) การที่ภูมิศาสตร์สมัยใหม่เข้าไปแทนที่ภูมิศาสตร์พื้นถิ่น คือการประดิษฐ์สร้างความสัมพันธ์ของหน่วยทางพื้นที่ที่ต่อเนื่องเป็นผืนเดียวและเป็นปึกแผ่น ขณะที่ประวัติศาสตร์ของศูนย์กลางอำนาจทำให้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนของทั้งหมด 

แนวคิดภูมิศาสตร์มนุษยนิยมได้เสนอมโนทัศน์ อันเป็นหนทางต่อการทำความเข้าใจของมนุษย์ กับสถานที่ (Place) ซึ่งถูกใช้ในความหมายของการผสมผสานระหว่างประสบการณ์ ความทรงจำ และปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ในชีวิต ซึ่งหมายรวมถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อพื้นที่ (Space) ในทัศนะของ ทิม เครสเวล  (Tim Cresswell b. 1965-) ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือพื้นที่ คือสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความสำคัญโดยตรงแก่ตัวมัน พูดอีกอย่างก็คือจิตวิญญาณของสถานที่เกิดจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์นั้นเอง โดยมีโครงสร้างทางสังคม ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด

ในกรณีเช่นนี้ ยี ฟู ตวน (Yi Fu Tuan b. 1930-) ได้เสนอนิยามเรื่องสถานที่และพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจสองนัยยะ กล่าวคือ สถานที่แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัย ส่วนพื้นที่แสดงออกถึงเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ พื้นที่อคติ พื้นที่และสถานที่แห่งมายาคติ เวลาในพื้นที่แห่งประสบการณ์ หรือความเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมที่มีต่อพื้นที่ ซึ่ง ตวน มองว่ามนุษย์จะยึดโยงตนเองในด้านหนึ่งและถวิลหาอีกด้านหนึ่งเสมอ  มันแสดงออกถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่ต้องการการปกป้องจากรัฐ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ยังต้องการอิสรภาพในการสื่อสารและแสดงออก 

หากพิจารณาประเด็นภูมิศาสตร์ตามแนวทางดังกล่าว จะเห็นว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่ออัตลักษณ์อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ในทางสังคมวัฒนธรรมอัตลักษณ์ถือเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งสืบทอดจากบรรพบุรุษและมักถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมกระแสหลักของผู้มีอำนาจสูงกว่า ปัจจุบันแนวคิดท้องถิ่นภิวัฒน์ได้พัฒนาความสัมพันธ์และเปลี่ยนผ่านความเป็นโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดนจึงต้องอาศัยท้องถิ่นหรือพื้นที่เฉพาะเท่านั้นที่เป็นที่อยู่และที่ยืนให้กับกระแสโลก ดังนั้นท้อง ถิ่นนิยมกับโลกาภิวัตน์นิยมจึงควรได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นองค์รวมในลักษณะ Glocalization[1] 

กระแสท้องถิ่นภิวัฒน์จึงไม่ใช่การโหยหาวันวานหรือการกลับคืนสู่อดีต เสรี พงศ์พิศ อธิบายปรากฏการณ์เช่นนี้ว่า คือกระบวนการต่อรองและตอบโต้อคติของรัฐที่มองข้ามศักยภาพของชุมชนท้อง ถิ่น เป็นการวิเคราะห์วาทกรรมและแนวคิดเรื่องของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และการเมืองเรื่องพื้นที่ (สมหมาย ชินนาค, 2546: 1) โดยการสืบสาวค้นหาความหมายอันบูรณาการอยู่ในวิถีชุมชน นำมาปรับประยุกต์เพื่อสืบทอดคุณค่าเหล่านั้นอย่างเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่แตกต่างไปจากอดีต (เสรี พงศ์พิศ, 2547: 16) 

___________________________

[1] Glocalization เป็นคำสมาสระหว่าง Globalization และ localization  ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 80 ในวารสาร  Harvard Business Review หัวข้อในการประชุมสัมมนา ในปี 1997 เรื่อง โลกาภิวัฒน์และวัฒนธรรมชนพื้นเมือง นักสังคมศาสตร์ อย่าง Roland Robertson ระบุว่า Glocalization หมายถึงการซ้อนกันในเวลาเดียวกัน การมีสถานะที่ปรากฏร่วมกันทั้งในเชิงการทำให้เป็นสากลและการจำเพาะเจาะจง (ดูรายละเอียดใน https://en.wikipedia.org/wiki/Glocalization)


แผนที่ indochine ที่มาภาพ: http://www.payer.de/thailandchronik/chronik1941.htm
 

วาทกรรม (Discourse) เรื่องความเป็นลาว (being Loa) และการสร้างความเป็นอื่น (Being other) ถูกประดิษฐ์สร้างและผลิตซ้ำในสังคมไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในฐานะถูกดูแคลน   ชุด

นิยามภายใต้วาทกรรมนี้มีอยู่อย่างกำกวม สามัญทัศน์และจินตภาพที่มีต่อชาติพันธุ์ไทย-ลาว เป็นส่วนเสี้ยวของชุดวาทกรรมที่ไม่มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ละชุดของวาทกรรมมีความแตกต่างและหลากหลาย ตามทัศนะของ Michel Foucault ได้อธิบายถึงประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามในการศึกษาวาทกรรมประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของวาทกรรมกับอำนาจ เขามองว่าวาทกรรมคืออำนาจที่จะต้องถูกยึดกุม แต่วาทกรรมก็มิใช่ตัวอำนาจโดยตรง 

วาทกรรมเป็นรอยต่อระหว่างอำนาจกับความรู้ วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สังคมสร้างขึ้น ให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง (Valorize) และกลายสภาพเป็นวาทกรรมหลักของสังคม (Dominant Discourse) ขณะเดียวกันวาทกรรมยังทำหน้าที่เก็บกด ปิดกั้นมิให้เอกลักษณ์ความหมายบางอย่างปรากฏ (Subjugate) หรือไม่ก็ทำให้เอกลักษณ์และความหมายบางสิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนในสังคมเลือนหายไปได้พร้อมๆ กัน (Displace) วาทกรรมจึงเป็นมากกว่าเรื่องของภาษาหรือเพียงคำพูด แต่มีภาคปฏิบัติการ (Discursive Practice) ที่ทรงพลังและขยายตัว วาทกรรมคือระบบและกระบวนการในการผลิต/สร้าง (Constitute) เอกลักษณ์ (Identity) และความหมาย (Significance) ให้กับสรรพสิ่งต่าง ๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง (ออมสิน บุญเลิศ, 2552: 110)

หมอลําโสภา พลตรี กบฏผู้มีบุญอีสาน บ้านสาวะถี
ที่มาภาพ https://annop.me/7210/

วาทกรรมว่าด้วย “ความเป็นลาว” คือจินตภาพที่ถูกประกอบสร้างขึ้นใหม่จากรัฐไทย เป็นสนามของการต่อรองตอบโต้ด้วยอำนาจในฐานะตัวแสดงหรือผู้กระทำ (Agency) ตลอดช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern State) รัฐไทยไม่สามารถควบคุมผู้คนและสำนึกความเป็นลาวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากกรณีศึกษากบฏผู้มีบุญในภาคอีสานหลายครั้ง นับแต่กบฏบุญกว้าง ปี พ.ศ. 2242 ในรัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ถึงกบฏศิลา วงศ์สิน ปี พ.ศ. 2502  ได้เกิดกบฏผู้มีบุญขึ้นในภาคอีสานถึง 9 ครั้งได้แก่กบฏเชียงแก้ว พ.ศ. 2334 ในสมัยรัชกาลที่ 1 กบฏสาเกียดโง้ง พ.ศ. 2360 ในสมัยรัชกาลที่ 2 กบฏสามโบก ประมาณ พ.ศ. 2442-44 กบฏผู้มีบุญอีสาน พ.ศ. 2444-45 ในสมัยรัชกาลที่ 5  กบฏหนองหมากแก้ว พ.ศ. 2467 ในสมัยรัชกาลที่ 6 กบฏหมอลำน้อยชาดา พ.ศ. 2479 กบฏหมอลำโสภา พลตรี พ.ศ. 2483 ในสมัยรัชกาลที่ 8 กบฏศิลา วงศ์สิน พ.ศ. 2502 ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เรื่อยมาจนถึงกบฏผู้มีบุญในปี พ.ศ. 2557 กับบทบาทแกนนำการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจากภาคอีสานในกรุงเทพฯ

เราพบว่ามีความพยายามในต่อรองอำนาจศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ตลอดรัชสมัยแห่งการปฏิรูปจักรี การขับเคลื่อนเรียกร้องความเสมอภาคจากการถูกเอารัดเอาเปรียบมิได้เกิดในภูมิภาคอีสานเท่านั้น แต่กระจายไปในหลาย ๆ ภูมิภาคเช่น กบฏสาเกียดโง้ง ปีพ.ศ. 2358 กบฏพญาปราบ ปีพ.ศ. 2432 กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ปีพ.ศ. 2445 และกบฏผู้มีบุญภาคใต้ ปีพ.ศ. 2452-2454 และตัวอย่างการก่อการกบฏเฉพาะในภาคอีสานระหว่างปี พ.ศ. 2444-2445 เพียงปีเดียวมีผู้ตั้งตัวเป็น “ผู้มีบุญ” ถึง 60 คน กระจายอยู่ถึง 13 จังหวัดในภาคอีศาน ได้แก่ อุบลราชธานี 14 คน ศรีสะเกษ 12 คน มหาสารคาม 10 คน นครราชสีมา 5 คน กาฬสินธุ์ สุรินทร์ จังหวัดละ 4 คน ร้อยเอ็ด สกลนคร จังหวัดละ 3 คน ขอนแก่น นครพนม อุดรธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 คน 

หลังกบฏปี พ.ศ. 2444 เป็นต้นมาส่งผลให้รัชกาลที่ 5  และรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กรุงเทพฯ มุ่งความสนใจในการควบคุมราษฎรโดยเฉพาะภาคอีสานมากยิ่งขึ้น ด้วยการก่อตั้งสถานีตำรวจภูธรแห่งแรกในประเทศไทย สร้างนโยบายด้วยปฏิรูปการศึกษาให้มีหลักสูตรเดียวกันกับกรุงเทพฯ ลบเลือนประวัติศาสตร์และคติชนวิทยารวมถึงขนบความเชื่อต่าง ๆ และการออกพระราชบัญญัติห้ามมิให้ใช้คำว่า ไท-ลาว รวมถึงคำว่าไท-มาลายู อีกต่อไป 

ด้วยเหตุนี้สามัญทัศน์และจินตภาพเรื่องชาติพันธุ์ไท-ลาว ต่ออำนาจศูนย์กลางในกรุงเทพฯ จึงปรากฏในลักษณะชั่วครั้งชั่วคราวไม่ปะติดปะต่อเป็นเส้นตรง ด้วยพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ซึ่งถูกอธิบายภายใต้กลไกของกรอบความคิดแบบรัฐประชาชาติ (Nation-State) ซึ่ง ธงชัย วินิจจะกุล เรียกว่าประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม (Royal-nation history) ที่สืบทอดมาจวบจนปัจจุบันคนหนุ่มคนสาวได้ปักหมุดหมายทวงถามความหมายของชาติว่าคืออะไร และทำไมผู้เห็นต่างจากรัฐจึงถูกมองว่ามีความเป็นไทยบกพร่อง ความพยายามของชนชั้นนำและผู้ครองอำนาจที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาพยายามฉุดรั้งโครงสร้างหรือเรือนร่างอันผุกร่อนของเรือผี เพียงเพื่อรักษาความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าบ้านเมืองร่มเย็นได้เพราะพระบริบาล

กบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน เป็นต้นแบบของการเรียกร้องอัตลักษณ์ความแตกต่างที่เท่าเทียม ด้วยความเห็นที่ว่าชาติคือประชาชนซึ่งไม่จำเป็นต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน คิดเหมือนกัน มีอะไร ๆ เหมือน ๆ กัน หากมีบางเรื่องที่ทำให้คนมาอยู่รวมกันปฏิสัมพันธ์กัน โดยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกันและมีบางเรื่องที่แตกต่างกัน ในความหมายของนักหลากหลายนิยมตามทัศนะของ ควาเม่ แอนโธนี อัปไปอาห์ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือความบีบคั้นให้จงรักภักดีต่ออัตลักษณ์ ภายใต้คำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐเกี่ยวกับความเป็นThainess นั้นมีความสุ่มเสี่ยงให้เกิดความขัดแย้งเป็นอันตรายเพราะไม่สามารถยืดหยุ่นได้

มันเป็นเพียงเครื่องมือหลักในการควบคุมคนในสังคม ให้มีความปรารถนาไปในทิศทางที่ชนชั้นนำและรัฐกำหนดเพื่อประโยชน์ต่อการปกครอง ความน่าสนใจในประเด็นนี้อยู่ที่ว่าแม้จะมีการเปลี่ยน แปลงการปกครองจากระบอบสมบรูณาญาสิทธ์ราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วเกือบ 100 ปี แต่ความปรารถนาของชนชั้นนำในสังคมไทยกลับไม่เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับคนชั้นกลาง(ล่าง)และคนรากหญ้า แถมยังถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำความปรารถนาแบบเก่าๆ ที่ดำรงอยู่และไม่พยายามเรียนรู้เพื่อชำระประวัติศาสตร์ โดยปล่อยให้อัตลักษณ์ที่แตกต่างเกิดความทัดเทียมเสมอกัน

                  จากปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มคนสาวได้ปักหมุดหมายทวงถามความหมายของชาติว่าคืออะไร และต้องการเพิ่มเพดานให้สูงขึ้น หลายต่อหลายคนอ้างอิงผู้มีบุญอีสาน ผีบุญเสื้อแดง หรือดวงวิญญาณ 99 ศพที่วัดปทุมวนาราม เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในชื่อเรียกอีกมากมายเพื่อการรวมตัวกันปฏิบัติการเรียกร้องความยุติธรรมความเสมอภาคความเท่าเทียม และต้องเป็นประชาธิปไตย เราจะเห็นได้ว่าคนหนุ่มคนสาวหลายต่อหลายคนออกมาประกาศยื่นข้างคนเสื้อแดงแสดงความเห็นอกเห็นใจ ออกมาขอโทษคนเสื้อแดงที่เคยเข้าใจผิดพวกเขา และอีกหลายคนออกมาสานต่ออุดมการณ์ของผีบุญ เช่นผีบุญยกเลิก112 ผีบุญแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผีบุญขอนแก่นพอกันที ผีบุญนักเรียนเลว ฯลฯ

วาทกรรม ‘ความเป็นไทย’ หรือธงแห่งความเป็นคนดี ของอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาซึ่งถูกชูด้วยกลุ่มชนที่ได้เปรียบเพื่อใช้กดเหยียดชนชั้นล่าง ๆ ในประเทศ เคยก่อให้เกิดการเข่นฆ่านองเลือดในการต่อต้านกระบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายใน 6 ตุลาคม 2519 และสงครามประชาชน(ผกค.)ที่ลุกลามอยู่ในพื้นที่มากกว่า 50 จังหวัด ตราบใดที่การรวมตัวกันของผีบุญไม่สิ้นสุด ตราบใดที่การเน้นย้ำความ’ด้อยกว่า’ ของคนชั้นกลาง(ล่าง) และคนรากหญ้าจำนวนมหาศาลยังคงอยู่ ความที่คนไม่เท่ากันคือชุดความคิดหรือระเบิดเวลาที่จะนำมาซึ่งหายนะมากกว่าความเจริญของประเทศชาติในที่สุด

OOO ความจริงในวัตถุ: กรณีศึกษา Friction Current: Magic Mountain Asian Art Biennial 2019 (part III)

บทความโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

OOO: III

ผลงาน Friction Current: Magic Mountain Project 2019 จัดแสดงที่ห้องนิทรรศการหมายเลข 102 ในห้องขนาดประมาณ 8 x 10 เมตร ตู้กระจกควบคุมความเย็นขนาดใหญ่ 120 x 120 สูง 200 ซม. ตั้งอยู่ใกล้กึ่งกลางห้องภายในบรรจุอ่างน้ำพุหินหมุนฮวงจุ้ยอย่างเป็นมงคล

ความตระหง่านโดดเด่น และประกายมันวาวบนผิวหยกที่สะท้อนแสงไฟจากเพดานตู้ด้านบน ขับเน้นให้ลูกบอลหยกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว หมุนลอยวนเป็นงูกินหาง ด้วยแรงดันและแรงเสียดทานของสารคัดหลั่งหรือน้ำปัสสาวะที่ปนเปลื้อนเมตแอมเฟตามีนผ่านเครื่องปั๊มขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ภายในอ่างน้ำพุหินอ่อนสีขาว

Friction Current: Magic Mountain Project 2019

อุณหภูมิภายในตู้กระจกจะถูกควบคุมไว้ที่ 8-15 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรักษาพยาธิสภาพของปัสสาวะ และค่าครึ่งชีวิตของเมตแอมเฟตามีนให้สามารถคงสภาพอยู่ได้ตลอดระยะเวลา 5 เดือน ภายในอ่างน้ำหินอ่อน ศิลปินติดตั้ง immersion sturgeon waterproof contact microphone ต่อเชื่อมไปที่ USB audio interface และ controller เพื่อให้เสียงกระจายไปยังลำโพงซึ่งถูกติดตั้งไว้บนผนังรอบห้องจำนวน 6 ตัว

ผู้ชมภายในห้องจัดแสดงนิทรรศการฯ จะได้ยินเสียงครางสั่นร้องของเครื่องกลไฟฟ้าที่กำลังทำงานอยู่ใต้ผิวน้ำปัสสาวะในอ่างหินอ่อนเป็นเสียงหึ่งๆระงมกำธรไปทั่วห้อง โอกาสและความเป็นไปได้ของเสียงที่เกิดจากน้ำปัสสาวะซึ่งผุดล้นออกจากขอบ หยดและตกลงกระทบผิวน้ำปัสสาวะในอ่างบริเวณที่ microphone ถูกติดตั้งจะส่งเสียงที่แหลมใสหรือทุ้มต่ำเป็นไปตามจังหวะความเป็นไปได้ที่ควบคุมไม่ได้

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Refrigerated cabinet 120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump,)

ศิลปินอาศัย controller เพื่อช่วยในการควบคุมกำหนดเวลา และจังหวะให้เสียงค่อยๆเริ่มจากเบาไปหาหนักและค่อยๆกลับไปสู่เบา ระยะเวลา 3 นาที โปรแกรมจะรีเซทตัวเองอีกครั้งทุกๆ 3 นาทีพัก 3 นาทีต่อเนื่องกันไปเป็นลูป คล้ายแอมเบียนต์ของเสียงในโรงงานที่ใดที่หนึ่ง

ลูกบอลหยกแห่งโชคลาภ และผลประโยชน์นั้นคือหินที่สวรรค์ประทานตามความเชื่อกำลังหมุนลอยอยู่บนฐานน้ำพุตลอดวันและคืน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือนตลอดระยะการแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สารประกอบ C10H15N ภายในปัสสาวะจะแทรกซึมผ่านเข้าไปสู่อนุภาคของสารประกอบ NaAISi2O6 ภายในเนื้อหยก แม้เส้นด้ายชนิดพิเศษตามตำนานเล่าขานในภูเขามหัศจรรย์แห่ง Zomia จะประกอบด้วยซิลิกาที่มีความแข็งคล้ายผลึกแก้วก็ตาม แต่ภายในตัวมันประกอบด้วยออกซิเจนถึง 6 หน่วย

คำถามเชิงอุปมาต่อกระบวนการเล่นแร่แปรธาตุที่ศิลปินทำการทดลองนำสารประกอบ C10H15N เสียดสีแทรกซึมและฝังตัวอยู่ภายในเนื้อหยกเพื่อส่งสัญญาณให้เห็นถึงปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ผนังสี่ด้านของห้องนิทรรศการถูกติดตั้ง archive และ documents ในรูปแบบต่างๆเช่น ภาพเหมือน silhouette บุคคลสำคัญที่เชื่อมโยงกันระหว่างธรณีวิทยาและชีววิทยาในงานวิจัยฯ ถูกวาดลงบนผนังขนาดประมาณ 3 x 7 เมตร บุคคลเหล่านั้นประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักธุรกิจข้ามชาติ นักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ผู้นำกองทัพ นักเคมียุทธภัณฑ์ ผู้ค้ายาเสพติด ฯลฯเกาะเกี่ยวกันเป็นรหัสคล้ายตัวอักษรปรากฏขึ้นอย่างลับๆ ล่อๆ ศิลปินอำพรางการมองเห็นของผู้ชมให้ลางเลือนไม่แน่ชัด จนยากจะบอกได้ว่าใครเป็นใครหากผู้ชมไม่รู้จักบุคคลนั้นมาก่อน ด้วยการทาสีเดิมของผนังทับลงไปบนภาพวาดบางๆหลายๆชั้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามหากผู้ชมเคยเห็นหรือรู้จักบุคคลนั้นๆ เขาจะสามารถบอกได้ว่าภาพ silhouette บุคคลนั้นคือใคร

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Mural paint)

Zomia พื้นที่ซึ่งอำนาจรัฐไต่ขึ้นไปไม่ถึงในมุมมองของ James C. Scott แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐชาติที่มีพรมแดนติดกับ Zomia จะปฏิเสธความเป็นพื้นที่ไร้รัฐและผลประโยชน์ของ Zomia อย่างหลับหูหลับตา ในทางกลับกันมีเอกสารหลายฉบับที่แสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำของรัฐรอบๆ Zomia แม้แต่อเมริกาอังกฤษหรือพรรค KMT ของไต้หวันได้กลายเป็นตัวละครที่มีภารกิจและปฏิบัติการพิเศษที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้นำของไทยและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ Zomia อย่างมีนัยสำคัญ

ใกล้กันที่มุมห้องมีจอมอนิเตอร์ขนาด 49 นิ้ว ติดตั้งอยู่บนผนังเป็นผลงานภาพยนตร์เงียบขาวดำความยาวประมาณ 20 นาที กำลังฉายกระบวนการขั้นตอนตัดและโกนเพื่อทำให้หินขนาดใหญ่เป็นทรงกลม

ภาพเครื่องจักรและใบเลื่อยขนาดใหญ่ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กำลังเฉือนเข้าไปในเนื้อหินอย่างเชื่องช้าโดยไร้ซึ่งเสียงเครื่องจักรหรือเสียงการเสียดสีใดๆทั้งสิ้นจากกิจกรรมภายในภาพเคลื่อนไหวนั้น

Friction Current: Magic Mountain Project 2019 (Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop)

ภาพยนตร์หรืออาจเรียกว่าภาพเคลื่อนไหวน่าจะตรงกว่าเพราะมันไม่ได้เล่าเรื่อง เพียงลำดับขั้นตอนให้เห็นถึงรายละเอียดระยะใกล้ๆ ขณะใบเลื่อยหมุนเสียดเข้าไปในเนื้อหิน ตัดสลับด้วย 3D animation แทนสายตาของผู้ชมให้เคลื่อนเข้าไปในโมเลกุลของหินหยก ผ่านความรู้สึกของแรงเสียดทานอันมหาศาลระหว่างเครื่องจักรกับหิน ระหว่างเทคโนโลยีและธรรมชาติ

ผนังอีกด้านหนึ่งศิลปินได้แสดงชุดเอกสารรับรองขนาด A4 ของผลตรวจสอบทางธรณีวิทยาและชีววิทยาจากหน่วยงานราชการฯ และภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6

ใกล้กันคือกองผงสารประกอบ NaAISi2O6 ปริมาณ 10g พร้อมธนบัตรราคา 100 หยวนที่ผลิตในปี 1990 เป็นธนบัตรรุ่นแรกๆที่มิได้ใช้ภาพประธานเหมา และอาคารมหาศาลาประชาคมของพรรคคอมมิวนิสต์บนหน้าและหลังของธนบัตร

สารประกอบ NaAISi2O6 และธนบัตรราคา 100 หยวน ผลตรวจทางธรณีวิทยาและชีววิทยา ภาพประกอบลักษณะโมเลกุลของสารประกอบ C10H15N และ NaAISi2O6

ด้วยแนวทางการออกแบบด้านหน้าและหลังธนบัตร ปรากฏภาพใบหน้าคนชาติพันธ์ุและภูเขาสูงชันอันสลับซับซ้อนใน Zomia ชุดนี้มีนัยตามนโยบายยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลจีนได้เปิดตลาดการค้าการลงทุนในเขตปกครองตนเองทางตอนใต้ ภายใต้ยุทธศาสตร์จีนเดียว ซึ่งร้อยละ 90% ของประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุจำนวนมาก มันเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายอิทธิผลทางเศรษฐกิจและการลงทุนจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ Zomia อย่างเป็นระบบ

ศิลปินได้ประทับตราอักษรจีนด้วยหมึกดำด้านหลังธนบัตรเพื่อตอกย้ำจักรวาลวิทยา กับความเชื่อใหม่ในเงินตราปกรณัม ความว่า “ภูเขาคือแผ่นดินที่ยับย่น และสอยเอาไว้ด้วยด้ายชนิดพิเศษ”


OOO: IV

บทสรุปท้ายเรื่องอาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้บันทึก หรืออาจเป็นการใช้หน้ากระดาษดิจิตอลเพื่อยั่วยุสุนทรียะในตัวทฤษฏี Object Oriented Ontology (OOO) การตีความและถกเถียงในตัวบทถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นของนักการศึกษาทางทัศน์ศิลป์อีกด้วย

เช่นทักษะและความสามารถของศิลปินในการจัดการกับความล้นเกินทางข้อมูลในบิ๊กเดต้าเบส ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพที่ได้ในผลงานวิจัยเชิงทัศนศิลป์ของศิลปิน Hsu Chia-Wei และ Ho Tzu-Nyen ภัณฑารักษ์ใน 2019 Asian Biennial: The Strangers from Beyond the Mountain and the Sea ครั้งนี้

ทฤษฏี OOO อาจเป็นส่วนหนึ่งของการกลายไปสู่ (becoming) หรือเป็นเพียงพัฒนาการของชุดความรู้และทฤษฏีที่กำลังสร้างความยุ่งยากกวนใจต่อความรู้แจ้งทางปัญญา ด้วยเป้าหมายในการสืบค้นตามหาความจริงในวัตถุและอื่นๆ

การย้อนกลับไปสู่แนวคิดบรรพกาลตามความเชื่อแห่งพ่อมดหมอผี การเล่นแร่แปรธาตุหรือความสามารถในการสื่อสารต่างมิติไปจากโลกเชิงประจักษ์ยังเป็นปัญหาเชิงอภิปรัชญาในตัวทฤษฏีที่รอให้ไขความ


OOO: XXX

OOO ได้อิทธิพลแนวคิดจากสำนัก Heidegger ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกในแวดวงวิชาการปีค.ศ. 1999 โดย Graham Harman(1968-) แนวคิดและพลวัตรของ OOO ส่งแรงกระเพื่อมยังแวดวงศิลปะ อักษรศาสตร์ การเมืองและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

“ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ”

ในฐานะสัตตะเครื่องมือ (Tool-Being) ที่ช่วยทำความเข้าใจสิ่งต่างๆตั้งแต่พระอภัยมณี บั้งไฟพญานาค และวีดีโอเกมส์ ไปยันพระราชบัญญัติ และหลวงวิจิตรวาทการ ฯลฯ มันสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ และเป็นความท้าทายสำหรับวงการศิลปะกระแสหลักในประเทศไทย

เมื่อนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดภัณฑารักษ์ในนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ภายในประเทศ
กับนิทรรศการศิลปเบียนนาเล่ต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จะสังเกตเห็นว่าสนามทางทัศนศิลป์ในนิทรรศการศิลปะเบียนนาเล่ของภูมิภาคฯ ต่างแข่งขันกันด้วยบทภัณฑารักษ์ที่ท้าทาย และการตั้งคำถามอันแหลมคมต่อปัญหาสังคมร่วมสมัยในประเทศนั้นๆ หรือของภูมิภาคฯก็ตามที

ภาพสะท้อนทางวัฒธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยรสนิยมของรัฐและการทำงานเชิงรุก โดยให้ภัณฑารักษ์
ออกแบบจัดวางศิลปะไว้ให้มีประโยชน์ใช้สอย และเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาทางสังคม ด้วยการตั้งคำถามการวิพากษ์วิจารณ์และการทำงานความร่วมมือ เพื่อนำเสนอและถอดชุดความรู้จากสนามทางทัศนศิลป์ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ

“ทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของ Charles F. Keyes (1937-)
ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล …. จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่ ?”

มันคือหน้าที่หลักของภัณฑารักษ์ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมในวงกว้าง มิใช้การหลีกลี้
ไปสู่ความสุขอันน่าสะพรั่งสะพรึงกลัว คล้ายกับการหลอกตนเองของชนชั้นนำและนักวิชาการเหรียญทอง

หรือหากภัณฑารักษ์ จะศึกษาและทำความเข้าใจโครงสร้างปัญหาของสังคมไทยตามทัศนะและข้อบงชี้ในงานวิจัยของCharles F. Keyes (1937-) ขบถผีบุญแห่งสำนักคอร์เนล (พ่อใหญ่ของนักมานุษยวิทยาไทย) จะได้ประโยชน์ต่อสังคมมากกว่าหรือไม่?

เบียนนาโล่-เบียนนาเล่ในเมืองหลวงไทยอะไรเนี่ย ก็เป็นเพียงกิจกรรมของพวกอีแล้ง-อีฤทธิ์(elite) ที่มีไว้เพื่อแยกตนเองออกจากชนชั้นอื่นๆในสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น…..ก็เท่านั้น

พี่วินหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ เย้ยหยันด้วยสายตาพรางหยิบหมวกกันน็อคยื่นส่งให้ผู้เขียนแล้วขึ้นสตาร์ทแมงกะไซด์คู่ชีพ (บรื้นๆ) ฮ่วย…..เบียนน่าโลดดดดดด


อ้างอิงผลงาน

Friction Current: Magic Mountain Project 2019
Mix media installation with Single-channel, Video full HD, Black and white, Silent, 20 min. 09 sec., Loop,
wooden shelf-Black acrylic 29.7 x 42 cm., 5g. NaAlSi2O6 Powder, C10H15N Human urine, Refrigerated cabinet 
120 x 120 x 200 cm., Jadeite Ø 12.7 cm., Marble sphere fountain Ø 60 cm. x 50 cm., Immersion sturgeon waterproof
contact microphone, USB audio interface, controller, 6 sound speakers, Water pump, Paint 29.7 x 42 cm.,
Documentation 21 x 29.7 cm. x 2, Stamp on 100 Yuan-1990 China Banknote, Mural paint.
 Artistic research project by jiandyin                                                                 
 Commissioned by 2019 Asian Art Biennial                                                                        
 Grip and Lighting Equipment Fund: VS Film Fund, Thailand
 Cinematographer: Liam Morgan 
 3d motion graphic: Sawitree Premkamon
 Sound engineer: Chang Huei Ming, Huang Wei
 Artist assistants: Awika Samukrsaman, Atsushi Boonmeewiset
 Geology advice: Thampaphon Sunpa-udom
 Friction Current: Magic Mountain Project 2019

ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [1/3]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

บทนำ

จุดเริ่มต้นของ Black Mountain College และโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ถือกำเนิดขึ้นในปีเดียวกัน แต่อยู่คนละฝากฝั่งมหาสมุทร อยู่เขาคนละลูก (ภูเขาสีดำกับเขาพระสุเมรุ )ปรัชญาการศึกษาคนละชุดที่คล้ายคลึงกันและขัดแย้งกันของ John Dewey และ Benedetto Croce คือเบื้องหลังความแตกต่างระหว่างกัน

ศิลปะ-การเมือง กรณีศึกษาภูเขาสีดำ มิใช่การศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อจะบ่งชี้ว่าสถานบันใดพ่อทุกสถาบันอย่างที่พ่นกันตามพนังรั้วกำแพง หรืออาจไม่มีข้อสรุปใดๆให้สรุป หากเป็นเพียงการทดลองสืบค้นลงไปในชั้นข้อมูล บันทึกและจดหมายเหตุ จากบทสัมภาษณ์ และบทสนทนาของเหตุการณ์แวดล้อมละคนสร้าง ต่างกรรมต่างวาระ ต่างเทศะต่างเวลา ต่างศรัทธาความเชื่อเท่านั้น

Chapter: I

จากผลของการประดิษฐ์สร้างความหวาดกลัว จริตวิตกต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ในประเทศสหรัฐอเมริกาช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลแสดงบทผู้ปกป้องและขยายการดำเนินภารกิจแทรกแซงในรูปแบบสงครามเย็น ลงไปในหลายพื้นที่ทั่วภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Propaganda หรือวาทกรรมสร้างความหวาดกลัวต่อภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ที่แพร่ระบาดไปในสังคมอเมริกันช่วงเวลานั้น ดูจะไม่ต่างจากจริตความหวาดกลัวที่คนไทยมีต่อภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิว นิสต์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

แม้ในปัจจุบันวาทกรรมดังกล่าวยังคงดำรงอยู่และพัฒนาไปสู่การต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิชังชาติโดยหน่วยปฏิบัติการ กอรมน. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ในปี ค.ศ. 1956 Black Mountain College ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันในสังคมจากนโยบายต่อต้านภัยคุกคามอันเป็นคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลกลาง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ Black Mountain College อาจไม่รุนแรงหรือป่าเถื่อนเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ล้อมปราบและเข่นฆ่านักศึกษาในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


แต่ถึงอย่างไรสถาบันศิลปะเล็ก ๆ ในภูเขาสีดำอย่าง Black Mountain College ก็ได้รับผลกระทบที่รุนแรงและต้องปิดตัวไปในที่สุด

Experimental education: Black Mountain College

Black Mountain College ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1933 ปีเดียวกับการก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยหลวงวิจิตรวาทการ (b.1898- 1962) พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (b.1895- 1950) และศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci; b.1892–1962) ชาวอิตาลีซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอาจารย์ผู้สอนหลัก


โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943 เป็นสถาบันศิลปะเล็ก ๆ หน้าพระลานใกล้กับภูเขาพระสุเมรุ (Mount Meru) มีภูมิรัฐศาสตร์ร่วมในพื้นที่ตั้งบริเวณเดียวกันกับมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ ย่อมได้รับผลกระทบในบริบททางการเมืองไม่มากก็น้อย อาจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ (1935-2008) เล่าบรรยากาศอึมครึมในช่วงเวลาดังกล่าวว่า


คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มีทัศนะไม่เห็นด้วยและได้ห้ามปรามอาจารย์ในคณะฯ ที่เข้าไปมีพฤติกรรมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวการชุมนุมของบรรดานักศึกษาและอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ


คณบดีฯในเวลานั้นอาจมีความเห็นว่า ศิลปะชั้นเลิศอันจะนำไปสู่การรู้แจ้งทางปัญญาของมนุษยชาติ ย่อมอยู่เหนือพ้นไปจากเรื่องทางการเมือง หรืออาจตอบสนองนโยบายภายใต้การกำกับดูแลของภาครัฐเพียงเท่านั้นก็เป็นได้ พูดให้แคบก็คือ ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แม้การเมืองจะยุ่งเกี่ยวกับศิลปะก็ตาม

  • ข้อสังเกตถัดมาในประเด็นนี้ก็คือ แรงจูงในอะไรที่ทำให้ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง?

โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ค.ศ. 1943

บทเพลงประจำมหาวิทยาลัยอาจเป็นหนึ่งในปฐมบทของคนหนุ่มสาวหลายคน บทเพลงคือจุดเริ่มต้นของวาทกรรมอันทรงพลังชนิดหนึ่งดำรงคงอยู่นอกพื้นที่ทางโสตสัมผัสวิทยา (Audiology) ไปจนชั่วอายุไข ไม่ว่าเราจะร้องมันออกมาหรือไม่ เนื้อร้องและทำนองได้ฝังเข้าไปในช่องหรือร่องหยักของส่วนทรงจำเสียแล้ว


หากเราพิจารณาเพลงศิลปากรนิยมในฐานะตัวบท ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นกุญแจดอกที่หนึ่งทดลองไขประตูบานใหญ่ออก ไปสู่ความเป็นจริงทางสังคมและการค้นพบใหม่ ๆ ไม่แน่ว่ากุญแจดอกนี้อาจเป็นกุญแจผีที่สามารถสะเดาะประตูได้หลายบาน


เพลงศิลปากรนิยมนั้นไม่ปรากฏผู้ประพันธ์คำร้องและไม่ได้ระบุช่วงเวลาในการแต่งคำร้อง เฉพาะทำนองเพลงนั้นนำมาจากเพลง Santa Lucia ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า ในต้นฉบับภาษาอิตาลีโดย เตโอโดโร กอตตราอู (Teodoro Cottrau; 1827–1879) เนื้อร้องตอนหนึ่งมีความว่า “ศิลปินอยู่เพื่ออะไร ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่งไหน”


จะเห็นได้ว่าตัวบทของเนื้อร้องท่อนนี้แสดงความฮึกเหิมท้าทาย และให้ความสำคัญต่ออาชีพนักศิลปะเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทิ้งท้ายคำถามเชิงอภิปรัชญา (Metaphysic) จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า
จากนั้นเนื้อร้องท่อนต่อมามีความว่า

“แต่ศิลปินกลับภาคภูมิในใจที่ได้สร้างเพื่อ มนุษยธรรม”


จะสังเกตเห็นว่าตัวบทที่ปรากฏในเนื้อร้อง 2 ท่อนดูจะย้อนแย้งกันอยู่ไม่มากก็น้อยในแง่ตัวบท เนื้อร้องท่อนที่ 2 ได้แสดง แถลงการณ์ (manifesto) ในฐานะศิลปินด้วยความเชื่อที่ว่านี่เป็นอาชีพที่เสียสละ และเป็นไปเพื่อคุณธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยปฏิเสธที่จะตอบคำถามในท่อนที่ 1 ด้วยความมั่นใจ


รูปและความหมายสัญญะที่ปรากฏในคำร้อง ให้จินตภาพเทียบเคียงกับผลงานปรัชญานิพนธ์เชิงสุนทรียศาสตร์จากหนังสือ The Essence of Aesthetics โดย Benedetto Croce (b.1866 – 1952) นักปราชญ์ชาวอิตาเลียนผู้นิยามศิลปะว่าคือญาณทัศน์ (intuition) ไม่เกี่ยวกับความคิดเชิงเหตุและผล


ปรัชญาสุนทรียศาตร์ของ Croce ได้ถูกพัฒนาต่อมาโดยนักการศึกษาและนักปรัชญาอีกหลายท่านอาทิ R. G. Collingwood (1889 1943) และ Corrado Feroci (1892 –1962) นิยามศิลปะเช่นนี้ได้กลายเป็น กรอบคิดอย่างมั่นคงในกลุ่มศิลปินสำนักหน้าพระลานฯ


อาจเป็นความจริงที่ว่าเนื้อเพลงศิลปากรนิยมไม่ได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามในใจของผู้แต่ง แต่อย่างไรก็ตามบทเพลงนี้ได้ ถูกผลิตซ้ำและตอกย้ำคำถามใหม่ ๆ ที่ว่า “ทุกวันนี้เรามีศิลปินไว้เพื่ออะไรและศิลปะควรมีประโยชน์ใช้สอยอย่างไรในทางสังคม”

ที่มาภาพ: SU page

ในตอนท้ายของเพลงศิลปากรนิยม ศิลปินได้ตัดพ้อมวลมนุษย์เล็กน้อยด้วยความปรารถนาที่จะมีชีวิตศิวิไล จากนั้นพวกเขาก็ชวนกันเริงรื่น เนื้อเพลงความว่า “มนุษย์เราหากรักศิลป์ สิ่งซึ่งงามวิไล มวลมนุษย์คงสดชื่น รื่นเริงศิวิไล มะมา เรามารื่นเริง มะมา เรามาบันเทิง มะมา เรามารื่นเริง เชิงชื่นรื่นสำราญ”


จากการวิเคราะห์ตัวบทแน่นอนว่าบทเพลงศิลปากรนิยมมิได้มีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองตามทัศนะที่ว่า ศิลปะไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นั้นอาจอนุมานได้หรือไม่ว่าบทเพลงศิลปากรนิยมบ่งชี้สภาวะการ ‘หวนกลับ’ หรือจมดิ่งสู่โลกความจริงภายในของศิลปินซึ่งเป็นโลกความจริงอีกชุดหนึ่งตามที่ Croce กล่าวอ้าง

แต่ก็ใช่ว่านิยามศิลปะในแนวทางเช่นนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กรณีศึกษาเหตุการณ์การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ของมวลมหาประชาชนกลุ่ม กปปส. ในปีค.ศ. 2014 อธิการบดีและคณบดีคณะจิตรกรรมฯในเวลานั้นได้นำคณาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว


ยังส่งผลให้รูปแบบกิจกรรมและรูปลักษณ์ของมวลชนและรูปแบบการชุมนุมมีความแปลกใหม่ด้วยความคิดสร้างสรรค์นานาประการ อาทิ กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok เป็นต้น


ถึงแม้การเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ของมหาวิทยาลัยศิลปากรครั้งนั้นจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อยแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในขบวนการของกลุ่ม กปปส. ซึ่งก่อให้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารโดยกองทัพ

กิจกรรม Art Lane และ Shutdown Bangkok

เวลา 20 นาฬิกา 29 นาทีของวันที่ 26 มกราคม ปี ค.ศ. 2014


ผมไม่ได้เรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัตินะครับ แต่ผมเรียกร้องให้ทหารออกมาคุ้มครองประชาชน…” เสียงปราศรัยบนเวทีเงียบงันไปชั่วครู่ กล้องแพนกลับไปที่กำนันสุเทพยังยืนนิ่งอยู่บนเวที ริมฝีปากที่แห้งผากทำให้เขาต้องเม้มมันเข้าไป ใช้น้ำลายจากปลายลิ้นลูบไล้ให้ชุ่มชื้น สายตาเศร้าสร้อยระคนผิดหวังของเขากำลังกวาดมองลงไปสู่มวลชนที่แน่นขนัดเบื้องล่าง


ทันใดนั้นเสียงร้องก็เริ่มสอดประสาน ค่อย ๆ ดังขึ้น ๆๆๆๆๆ มวลชนที่รวมตัวอยู่เต็มถนนบริเวณสี่แยกปทุมวันหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่างพากันร้องตะโกน “ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา…ทหารออกมา………..”


เสียงที่ดังจากโทรทัศน์ปกคลุมความเงียบ คนที่โต๊ะอาหารนั่งมองหน้ากัน “เราจะปฏิรูปประเทศโดยไม่ไปเลือกตั้งกันใช่ไหมครับ” เด็กหนุ่มผมยาวเอ่ยถามผู้เป็นพ่อที่นั่งตรงข้าม ตาจ้องกันแต่ไม่มีคำตอบ ผู้เป็นแม่รวบช้อนส้อมบนจานและลุกออกจากหัวโต๊ะ หยิบรีโมทปิดโทรทัศน์แล้วเลี่ยงหนีเข้าครัว ความเงียบงันกลับเข้าปกคลุมบรรยากาศมื้อค่ำในบ้านหลังนี้อีกเช่นเคย


ประเด็นเรื่องศิลปะกับการเมือง เป็นประเด็นปัญหาและข้อถกเถียงกันมานานจากอดีตจนปัจจุบัน จากเรเนซองส์ถึงนีโอคลาสสิค จากโรแมนติกถึงดาดา จาก Antifa ถึง flashmob ไม่ว่าเราจะเชิดชูศิลปะเพื่อศิลปะโดยปฏิเสธการเมือง อย่างไรเสียการเมืองก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศิลปะไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี


Chapter: II


กรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก Black Mountain College พื้นที่ทดลองการศึกษาเล็ก ๆ ในหุบเขาสีดำเป็นกรณีการเมืองแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางการศึกษาอย่างรุนแรงและได้ทำลายโรงเรียนศิลปะในฝันหรือโรงเรียนต้นแบบของใครหลายคน


Black Mountain College ปิดตัวลงเมื่อปี ค.ศ. 1957 หลังเปิดทำการเรียนการสอนเป็นเวลา 24 ปี และเป็น 24 ปีแห่งความเข้มข้นของการค้นคว้าทดลองเชิงปฏิบัติการ ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติและความมุ่งมั่นในการศึกษาสหวิทยาการ (interdisciplinary)


ประกอบกับความลุ่มลึกในหลักการและปรัชญาการศึกษาแบบก้าวหน้าของ John Dewey (1859 –1952) แนวคิดที่เปิดให้กระบวนการทางศิลปะเป็นแก่นกลางของประสบการณ์การเรียนรู้ทั้งหลาย


ที่วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์ย้อนกลับไปต้นทศวรรษที่ 1970 ที่หมวดวิชาทัศนศิลป์ คณะอักษรศาสตร์เมื่อครั้งที่อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา


หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโททัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ภายใต้ทุนการศึกษาจากมูลนิธิ J.D. Rockefeller 3rd Fund Fellowship และเข้าเป็นอาจารย์ประจำ

คณะอักษรศาสตร์และศาลาแปดเหลี่ยมบริเวณสระแก้ว มหาลัยศิลปากร วิทยาลัยเขตพระราชวังสนามจันทร์


การเรียนการสอนทัศนศิลป์ที่คณะอักษรฯ ได้กลายเป็นพื้นที่ทดลองการศึกษาทัศนศิลป์ที่แตกต่างไปจากการศึกษากระแสหลักที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศทางอคาเดมิก อาจารย์ดำรงพัฒนาแนวทางการศึกษาของ Dewey โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและนิเวศทางการศึกษาของคณะฯในเวลานั้น


หากจินตนาการกายภาพทางภูมิศาสตร์ของคณะอักษรฯ ในบริบทเชิงพื้นที่ช่วงทศวรรษที่ 1970 ภาพทะเลสาบหน้าคณะฯ อาคารโมเดิร์นและโคโลนี่อยู่ไม่ไกลกันนัก


ป่ารกชัฏและความไม่ชัดเจนของอาณาบริเวณห้องเรียนเวลานั้นคือพื้นที่การเรียนรู้ของบรรดานักศึกษาวัยทะโมนที่มาใช้ชีวิตร่วมกันในแบบโรงเรียนกินนอนที่ต่างจังหวัด


พื้นที่หรือสถานที่คือตัวแปรหนึ่งของการสร้างบรรยากาศการทดลองด้านการศึกษา พื้นที่ที่คลุมเครือหรือไม่ชัดเจนกลับส่งผลให้เกิดการทดลองใหม่ ๆ ทางการศึกษาได้น่าสนใจ


แนวทางของหลักสูตรซึ่งสลายกรอบโครงสร้างการศึกษา ที่มุ่งเน้นอคาเดมิกภายใต้นิเวศการศึกษาของคณะจิตรกรรมฯ เวลานั้น มีนัยสำคัญอย่างไรและเป็นสิ่งที่ควรแก่การศึกษาถอดความรู้ต่อไป

ภาพ มล.ปิ่นมาลากุล เปิดวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และภาพสระแก้วบริเวณหน้าคณะอักษรฯ

วารสารภูเขาสีดำพื้นที่ทดลองการศึกษา (Black Mountain: Experimental College) คือ เอกสารชุดความรู้ที่ถอดออกจากกิจกรรมการดำเนินการเรียนการสอน แม้แต่ในด้านการบริหารจัดการของBlack Mountain Collegeที่มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยอื่น ๆ โดยทั่วไปในสหรัฐ อเมริกา


Black Mountain Collage บริหารและจัดการกันเองโดยไม่มีอธิการบดี ไม่มีคณบดีฯ มีแต่ผู้สอน ผู้ช่วยสอน และนักศึกษา สมาชิกทุกคนในชุมชนแห่งนี้มีส่วนร่วมในการจัดการและบริหารด้านต่าง ๆ เช่น ผู้เรียนและผู้สอนออกแบบรายวิชาร่วมกัน ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดว่าจะเรียนอะไรและกำหนดเองว่าจะจบการศึกษาเมื่อไร


นอกจากนั้นพวกเขาร่วมสร้างกิจกรรมเช่น การทำงานที่แปลงผักสวนครัว โครงการออกแบบและก่อสร้างอาคาร และบังกะโลที่พัก สร้างอุปกรณ์ต่างๆในการเรียนการสอนร่วมกัน Black Mountain College คือ โรงเรียนที่ไม่มีหน่วยกิตและไม่ต้องเสียค่าเทอม ฯลฯ

Black Mountain College learning activity

แม้แต่งานในครัวพวกเขาก็แบ่งหน้าที่กันดูแลและรับผิดชอบ Black Mountain College คือโรงเรียนแบบกินนอนและมันได้กลายเป็นคอมมูทางด้านสหวิทยาการสมัยใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้น


นักเรียนและผู้สอน(student and faculty) กินนอนอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน ในวันหยุดนักศึกษามักไม่ค่อยกลับบ้านหลังอาหารค่ำพวกเขาเต้นรำและจัดการแสดงสดต่างๆ เสมอ


ผู้สอนและนักศีกษาแสดงละครร่วมกัน โดยนำผลงานของแต่ละคนค้นหาความเป็นไปได้ของการนำเสนอศิลปะความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทางสังคม (Collaborative and participatory arts) สร้างสรรค์อุปรากรร่วมสมัย


ยังผลให้เกิดการค้นพบใหม่ ๆ ด้วยประสบการณ์ทางศิลปะในชีวิตประจำวันของทั้งผู้เรียนและผู้สอนไปพร้อม ๆ กัน

Black Mountain college learning activity

หลายทศวรรษต่อมาพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในสหรัฐอเมริกา และยุโรปได้จัดแสดงนิทรรศการถอดความรู้เกี่ยวกับ Black Mountain College ซึ่งแน่นอนว่าบทภัณฑารักษ์ของนิทรรศการหลายครั้งเน้นย้ำไปที่การเรียนรู้เชิงสหวิทยาการซึ่ง Black Mountain College ได้พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50-60


การทดลองมากมายในช่วงเวลานั้นได้ส่งต่ออิทธิพลไปสู่สังคมในวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ไม่เฉพาะแต่แวดวงศิลปะทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม สื่อผสม นิวมีเดียเท่านั้น หากยังแทรกซึมเข้าไปสู่สังคมการเมืองและวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาและของโลกอีกด้วย

วารสารชุดความรู้ของ Black Mountain College


Chapter: III

มีรายงานข่าวลือสะพัดเมื่อ FBI ยืนขอต่ออัยการเมืองแชลอดวิว นัยเพื่อตอบข้อกังขาของชาวบ้านที่สงสัยในมนต์ดำแห่งภูเขาสีดำ


“เขาว่ากันว่าภูเขาสีดำเป็นที่สุมหัวกันของพวกนอกศาสนา พวกรักร่วมเพศ และพวกขี้ยา”


เดฟพูดพรางเคาะบุหรี่ใส่ฝีปาก กาแฟดำกรุ่นหอมบนโต๊ะเรียกร้องให้ซิปมันเข้าไปผสมกับควันบุหรี่ที่พึ่งซื้ดให้โล่งในลำคอ


ชิตท์” พีเทอร์ กังวานสบถเหมือนมีขี้ติดอยู่ริมฝีปาก (สำนวนแบบรงค์) เขาหยิบไม้ม๊อปหลังเคาน์เตอร์บิดน้ำแล้วเดินถูไปบนพื้นจากด้านในมาหยุดที่เดฟตรงประตู


เดฟคุณไม่รู้ใช่ไหม มีพวกคอมมิวนิสต์สอนอยู่ที่นั่นด้วย” พีเทอร์ยื่นมือหยิบที่เขี่ยบุหรี่จากโต๊ะของเดฟแล้วเดินกลับไปหลังเคาน์เทอร์เหวี่ยงไม้ม๊อปเข้าเก็บในที่ของมันแล้วกวาดก้นบุหรี่จากที่เขี่ยลงถังทิ้ง


กอธแดมอิตท์ ยังมีนิคเกอร์เรียนที่นั่นอีกด้วย” พีเทอร์พูดจบกระแทกที่เขี่ยบุหรี่ซึ่งเช็ดจนสะอ้านลงโครมใหญ่และขยับมันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยบนเคาน์เทอร์นั้น


เดฟกระดกกาแฟที่ขอดถ้วยลงคอสายตาจับจ้องออกไปยังความว่างเปล่าบนท้องถนนแล้วลุกขึ้น ผมสาบบาน…พีเทอร์ ถ้าผมเอาพวกมันขึ้นศาลไม่ได้ผมยอมลาออก พวกมันทำลายความสงบของเมืองนี้และนี้เป็นหน้าที่ของผมเดฟเน้นเสียงหล่อแล้วเดินไปที่รถ Asheville PD ของเขาซึ่งจอดอยู่หน้าร้าน บดขยี้ก้นบุหรี่ด้วยรองเท้าหนังมันวาวกับพื้นถนนแล้วขึ้นรถบึ่งออกไป

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือ FBI ได้ออกคำสั่งให้ทำการสืบสวนในทางลับที่ Black Mountain College โดยเปิดเผยมูลเหตุเอกสารในการสืบสวนยื่นต่อ Carolina Public Press ผ่านข้อกฎหมายเรื่องสิทธิและเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้


เอกสารดังกล่าวอธิบายถึงมูลเหตุจูงใจขบวนการและขั้นตอนของปฏิบัติการในการสืบสวนครั้งนั้น ในเอกสารระบุวันที่ 3 เมษายน ปี 1956 Cecil Pate อัยการสูงสุดและองค์การทหารผ่านศึกแห่งเมือง Winston-Salem ได้เรียกประชุมร่วมกับ FBI และหน่วยงานอื่น ๆ


มีรายงานว่าองค์การทหารผ่านศึกได้จัดการและควบคุมปฏิบัติการตรวจสอบ Black Mountain College และได้แสดงความกังวลที่องค์การฯเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยการมอบทุนการศึกษา G.I. bill ในลักษณะทุนให้เปล่าประจำปี แก่ Black Mountain College


ในรายงานอ้างว่านักศึกษาที่นี่ไม่เข้าเรียนหรือไม่มีการสอนในห้องเรียนแบบปกติ มีหลักฐานแสดงว่าสถาบันแห่งนี้ไม่มีบันทึกการวัดผลการเรียนของนักศึกษา องค์การทหารผ่านศึกจึงได้ให้คำปรึกษาแก่ FBI เพื่อเข้าสืบสวนลงลึกในรายละเอียดของกิจวัตรประจำวันภายในสถาบันฯ

บรรยากาศการเรียนการสอนที่ Black Mountain College

หลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่องค์การทหารผ่านศึก พวกเขาได้ยื่นรายงานสรุปให้คณะกรรมการด้านการศึกษาแห่งรัฐ North Carolina เพื่อถอนใบอนุญาตรวมถึงการยกเลิกงบประมาณที่บริจาคให้แก่สถาบัน


นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 1950 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษาที่ลงทะเบียนเริ่มลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าในปี ค.ศ. 1956 มีนักศึกษาจำนวน 9 คน จาก 23 คน อยู่ในความดูแลด้านการเงินโดยองค์การทหาร ผ่านศึก (VA)


ขณะที่ทุนรอนในการจัดการศึกษาได้มาถึงจุดเสื่อมโทรม นักศึกษาและทางคณะประกาศขายเปียโน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อช่วยเยี่ยวยาสภาพคล่องทางการเงินของ Black Mountain College


นักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างลงความเห็นว่าการขยับขององค์การทหารผ่านศึกครั้งนั้นคือหายนะ และมรณ กรรมทางการศึกษา ไม่ใช่เพียงการระงับความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สถาบันฯในฐานะผู้มอบทุนสนับ สนุนการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน VA ได้กลายเป็นเจ้าภาพในการจัดการและทำลายความก้าวหน้าทางการศึกษาเสียเอง

นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน …

บันทึกการสอบสวนของ FBI ระบุว่า “การจัดการเรียนการสอนของ Black Mountain College มีลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาทั่วไปตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่นี่ไม่ทำอะไรเลยทั้งวัน (Do nothing all day) พวกเขาอาจรวมตัวกันที่ทะเลสาบหรือหน้าอาคาร”

Lake Eden, Black Mountain: The Art of Doing Nothing

…บ้างแช่น้ำ อาบแดด เล่นกีต้าร์ บางพวกกระโดดไปมาตามต้นไม้ที่เชิงเขา แต่พอตกดึกในเวลาค่ำมืดนักศึกษาอารมณ์ศิลป์ขึ้นมา และต้องการที่จะวาดรูปหรือเขียนกวีสักบท เขาจะเดินไปเรียกอาจารย์ผู้สอนที่บ้านพักเดี๋ยวนั้นเพื่อให้อาจารย์ผู้สอนให้คำปรึกษาแนะนำได้โดยการส่วนตัว”

บรรยากาศแห่งเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของ Black Mountain College ได้ดึงดูดความสนใจใคร่รู้จากสาธารณะชนมากยิ่งขึ้นและนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยที่ว่า Black Mountain College ได้รับการอุปถัมภ์โดยพวกคอมมิวนิสต์ที่ปฏิบัติการแทรกซึมอยู่ในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นจริงหรือไม่?

Campus map: The Service House #9, เชิงเขา Rocky Mount ใกล้กับทะเลสาบอีเดน


โปรดติดตามตอน 2

เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchen

ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [2/3]

baannoorg Publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

Chapter: IV

“…การกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษารบกวน และทำ ลายบรรยากาศสร้างสรรค์อันสานติภายในแคมพัสอย่างสิ้นเชิง…”

นักศึกษาและคณะผู้สอน ได้กล่าวถึงความปัญญาอ่อนและปัญหาที่ตามมาเมื่อพวกเขาเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ในชุดคลุมที่มีตราสัญลักษณ์ FBI กำลังด้อม ๆ มอง ๆ อยู่รอบ ๆ แคมพัส

“มันเป็นช่วงเวลาแห่งความหายนะ” 

Robert Creeley (1926 – 2005) นักศึกษา กวี และผู้ช่วยสอนที่ภาควิชาอักษรศาสตร์(literature)กล่าว

“พวกนักศึกษาไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ระหว่างการสืบสวนของ FBI พวกเขาไม่ตอบคำถามและไม่ถามหาคำตอบ” 

Creeley ยักไหล่ขับเน้นเสียงให้แจ่มชัด ตาซ้ายที่บอดมืดของเขาไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อบทกว

Black Mountain Poets: Charles Olson, Robert Creeley, Robert Duncan and Denise Levertov, Josef Albers, John Cage, M. C. Richards and Hilda Morley.

ส่วน Dorothea Rockburne (1932-) นักศึกษาจิตรกรรมอีกคน เธอเป็นคนสร้างความงุนงงแก่ FBI ด้วยเล่ห์กลหลายวิธี เช่นการแสดงความขบถต่อเจ้าหน้าที่


เธอเล่าว่า “พวก FBI เข้ามาทุกวัน ดูเหมือนอะไรบางอย่างที่คุณเคยเห็นในหนังเกรดบีหรือเกรดซี พวกนั้นจะสวมเสื้อชุดปฏิบัติการที่คุณสามารถมองเห็นได้จากระยะมากกว่าหนึ่งไมล์…. แน่นอนพวกเราทำการแสดงสดให้พวกเขาดู


พวกเรานัดกันไม่สวมรองเท้าเดินเปลือยตีน(สำนวนแบบรงค์)ในช่วงกลางฤดูหนาว และมักจะจุดไม้ขีดบนฝ่าตีนที่เปลือยเปล่าเพื่อจุดบุหรี่สูบต่อหน้าพวกเขา มันเป็นการยืนยันความรู้สึกนึกคิดของพวกเราถึงความเลวร้ายที่สุดที่มีต่อภาครัฐ “

แน่นอนว่าพวกเราไม่เคยตอบคำถามพวก FBI สักคำถามเดียว เพราะการกระทำของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิทางการศึกษา รบกวนและทำลายบรรยากาศสร้างสรรค์อันสานติภายในแคมพัสอย่างสิ้นเชิง ฉันคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง


Rockburne อธิบายภาพเหตุการณ์ให้เราฟังเหมือนมันเพิ่งผ่านไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เธอคือนักศึกษาเพียงไม่กี่คนที่ได้ลงเรียนปรัชญาและประวัติศาตร์คณิตศาสตร์ ในวิชา Geometry for Artists กับ Max Dehn นักคณิตศาสตร์ นักเลขาคณิต และนักปริภูมิคณิตศาสตร์ทฤษฏี ที่ Black Mountain College


มันเป็นวิชาคณิตศาสตร์ที่ไม่ได้สอนคณิตศาสตร์ แต่เป็นวิชาที่สอนให้ศิลปินคิดอย่างเป็นคณิตศาสตร์ “ Rockburne พูดถึง Dehn ในฐานะ Turning point

Dorothea Rockburne, an installation view Dia: Beacon NY

Paul Radin (1883 – 1959) นักมานุษยวิทยาและผู้สอนที่สถาบัน เป็นผู้หนึ่งที่ถูก FBI ติดตามความเคลื่อนไหวมากเป็นพิเศษ รายงานฉบับนี้ระบุว่า Radin เป็นฝ่ายซ้ายด้วยสนับสนุนแนวคิดความเสมอภาคและภารดรภาพระหว่างผิวสี และถูกป้ายสีให้กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อรัฐ


หลังจากที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน Paul Radin เดินทางหลบหนีไปอยู่ Switzerland ในปีค.ศ. 1952 และทำงานให้กับ Bollingen Foundation ร่วมกับ C. G. Jung ที่มูลนิธิเพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาวิจัยและงานหนังสือวารสารของมหาวิทยาลัย


Radin เดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในปี 1956 โดยเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัย Brandeis และถือเป็นนักมานุษยวิทยารุ่นแรก ๆ ที่ทำการศึกษาชาติพันธุ์วิทยาชนเผ่าอินเดียแดงตั้งแต่ปี 1908 เป็นต้นมา และเป็นผู้รวบรวมคำด่าในตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองในหลายทวีป

สื่อต่อต้าน Red Scare ภัยคุมคามคอมมิวนิสต์ในสหรัฐอเมริกา

ต่อมาในวันที่ 21 กฏาคม 1956 อัยการกลาง James M. Baley ได้เข้าพบพนักงาน FBI ซึ่งเกี่ยวข้องในการลงพื้นที่สืบสวนจากเมือง Charlotte และยืนยันการสืบสวนอย่างเป็นทางการว่าพยานหลักฐานที่จะเอาผิดทางกฏหมายต่อ Black Mountain College ยังไม่เพียงพอในการส่งฟ้องต่อศาล

เขาได้กล่าวในท้ายที่สุดว่าจะไม่มีการดำเนินการสืบสวนเพิ่มเติมอีกต่อไปและให้หยุดปฏิบัติการสืบสวนทันที FBI จึงยุติการปฏิบัติหน้าที่สืบค้นพยานหลักฐานภายใน Black Mountain College พวกเขาใช้เวลาประมาณพียงเดือนเศษ ภูเขาสีดำได้ถูกปกคลุมไปด้วยความสิ้นหวัง


การเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด และปิดตัวลงด้วยขาดทุนรอนสนับสนุนในการจัดการศึกษาจนอีกหลายทศวรรษ Black Mountain College ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในสถาบันทดลองด้านการศึกษาที่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกเช่นเดียวกับสถาบันเบาเฮาส์ซึ่งถูกนาซีสั่งปิด


Chapter: V


หลังจากที่ John Andrew Rice (1888 – 1968) นักสังคมศาสตร์-นักการศึกษาหัวก้าวหน้า Theodors Dreier (-1997) วิศวกร-นักการศึกษา เพื่อน ๆ และนักศึกษาบางส่วนถูกขับไล่จาก Rollins College เมือง Winter Park รัฐฟลอริดา เนื่องจากพวกเขาประท้วงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการศึกษา


Rice และ Dreier ร่วมกันก่อตั้ง Black Mountain College ขึ้นในปี ค.ศ. 1933 โดยได้ริเริ่มวางรากฐานแนวทางการศึกษาสหศาสตร์ด้วยดุลยภาพในความเป็นมนุษย์ การลงมือกระทำ และศิลปะในฐานะศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และเปิดเสรีการศึกษา

ภาพ: BMC Left: Studies Building, Designed in 1940 by A. Lawrence Kocher, the building was completed in 1941. An image in 2007

John Andrew Rice ได้ทะลายกำแพงชนชั้นระหว่างผู้สอนกับผู้ศึกษา และสร้างชุมชนการศึกษาหัวก้าวหน้าด้วยการทดลองต่าง ๆ ในเชิงสหวิทยาการตามหลักปรัชญาการศึกษาของ John Dewey ซึ่งเชื่อว่าการศึกษานั้นจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการกระทำ (Learn by doing) และอาศัยมือของเราเองเป็นผู้สอน


หลักปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism) ตามทัศนะของ Dewey นั้นเชื่อว่าประสบการณ์ตรงตามที่เป็นจริงจากการลงมือปฏิบัติของมนุษย์จะนำไปสู่ความรู้และความจริง


แนวทางปฏิรูปการศึกษาของ Dewey ระบุว่าไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นผู้เรียน แต่ความสำคัญของหลักการศึกษาแบบก้าวหน้าจำเป็นต้องอาศัยการมีประสบการณ์ร่วมกันของผู้เรียนและผู้สอนเป็นสำคัญ


โดยเน้นให้ผู้สอนทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลพื้นฐาน จากนั้นต้องส่งเสริมให้นักศึกษาทำงานเป็นกลุ่มซึ่งนั่นคือกลไกที่ทำให้นักศึกษาเกิดการปะทะสื่อสารพูดคุยหรือแม้แต่การโต้แย้งถกเถียง

Dewey มองว่านี่คือคุณค่าในความร่วมมือกันของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ผู้สอนจำเป็นต้องเฝ้าสังเกตต่อความสนใจและเป้าหมายของนักศึกษา และช่วยนักศึกษาพัฒนาแนวทางและทักษะในการแก้ปัญหา


แน่นอนว่าปรัชญาการศึกษาของ John Dewey (1859-1952) คือขั้วตรงข้ามกับปรัชญาแนวคิดของ Benedetto Croce (1866-1952) ซึ่งเชื่อในจิตนิยม และเชื่อว่าการสำแดงออกของอารมณ์ความรู้สึกนั้นคือเนื้อตัวของศิลปะมิใช่ความคิดเชิงเหตุผล


ศิลปะเป็นมโนคติอันบริสุทธิ์ของศิลปิน” คำกล่าวของ Croce แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการเข้าถึงมโนทัศน์ของผู้สร้างผลงานศิลปะไม่มากก็น้อย ในกรณีนี้ปรัชญาสุนทรียศาสตร์ตามแนวคิดจิตนิยมสัมบูรณ์ของ Croce ได้ส่งผลให้ความจริงแท้กลายเป็นโลกภายในที่คู่ขนานไปกับปรากฏการณ์ของโลกภายนอก


การสำแดงอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกศิลปินจึงกลายเป็นช่องทางที่ทรงพลัง ในการเชื่อมโยงโลกความจริงทั้งสองด้านเข้าหากัน ศิลปะในทัศนะของ Croce จึงเป็นญาณทัศน์ที่นำพาศิลปินเข้าถึงโลกความจริงภายในตนเองซึ่งเป็นโลกที่ บริสุทธิ์กว่าโลกความจริงภายนอก


ญาณทัศน์หรือจินตภาพการหยั่งเห็นภายในใจนั้นเป็นสิ่งทางทฤษฏี มิใช่สิ่งที่เน้นไปในทางปฏิบัติเนื่อง จากศิลปะที่แท้จริงเป็นขบวนการที่สำเร็จเสร็จสิ้นสมบรูณ์ภายในหัวของศิลปิน


ในขณะที่ศูนย์กลางการเรียนรู้ตามแนวทางการศึกษาของ Dewey เชื่อว่าศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือพื้นฐานในการสร้างประสบการณ์ทำให้มนุษย์เรียนรู้ความจริงตามที่มันเป็นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

The Essence of Aesthetics: Benedetto Croce / Art as Experience: John Dewey

แน่นอนว่าปรัชญาสุนทรียศาสตร์ของ Dewey ซึ่งมีความย้อนแย้งในตัวเองได้ถูกโจมตีโดย Croce เช่นกัน ถึงขนาดมีการกล่าวหาว่า Dewey ขโมยแนวคิดและผลงานของตนพร้อมข้อหักล้างที่ว่าแนวคิดของDewey นั้นมิได้วางอยู่บน รากฐานของปรัชญาแนวปฏิบัตินิยม


โดยเฉพาะหนังสือ Art as Experience นั้นถูกโจมตีว่าเป็นงานนิพนธ์ที่ใช้หลักปรัชญาของHegelไม่ต่างอะไรจากแนวคิดของ Croce ซึ่งประกาศตนว่าเป็นเฮเกลเลียนศึกษาและสนับสนุนความเป็นอภิมนุษย์ของศิลปิน


นิพาดา เทวกุล ระบุในงานวิจัยเรื่องความคิดทางสุนทรียศาสตร์ของ Croce เกี่ยวกับความหมายของศิลปะอธิบายว่า Croce มีทัศนคติต่อศิลปินว่าแตกต่างไปจากช่างไม้ช่างทอง ฯลฯ อย่างสิ้นเชิง เพราะใคร ๆ ก็เป็นช่างไม้ที่มีความสามารถได้เมื่อทำการฝึกฝนอย่างยาวนาน แต่ศิลปินที่แท้นั้นไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ ถึงแม้คนนั้นจะรู้วิธีลงสีหรือวิธีการแกะสลักก็ตาม เขาเชื่อว่าศิลปินที่แท้ไม่สามารถสร้างหรือฝึกหัดกันได้ ศิลปินจึงเป็นบุคคลพิเศษที่สามารถใช้ภาษาที่มิใช่ภาษาดังเดิมของมนุษย์ (Primitive languages)

มุมมองของ Croce ต่อศิลปินว่าคือผู้ที่สามารถมองเห็นความงามในสิ่งต่าง ๆ ได้มากมายกว่าคนธรรมดา ๆ จึงหมายความว่า คนธรรมดาไม่มีญาณทัศน์ (Intuition) อย่างที่ศิลปินมี


ปัญหาเชิงทฤษฏีระหว่าง Croce และ Dewey ในความเห็นของผู้เขียนมองว่า หากพิจารณาปัญหาเชิงปรัชญาจะพบว่าทั้งสองชุดแชร์พื้นที่แนวคิดจิตนิยมของเฮเกลร่วมกัน ความแตกต่างที่สังเกตชัดระหว่างทั้งสองคือการที่ Dewey ผสานแนวคิดจิตนิยมเข้ากับแนวคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน


ยังผลให้ปรัชญาแนวคิดของ Dewey ปฏิเสธความเป็นอภิมนุษย์ โดยตอกย้ำแนวคิดปฏิบัตินิยมที่ถือว่าความรู้ทุกชนิด เกิดจากประสบการณ์ตรงทางประสาทสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย


เมื่อกล่าวถึงทัศนะแห่งความเป็นจริง ปฏิบัตินิยมจะเน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ใช้สอยมากกว่าอภิปรัชญา และเป็นไปได้ว่าปรัชญาของ Dewey มีฐานความคิดเชิงประจักษ์นิยมแบบ Kant และจิตนิยมแบบเฮเกล แต่เขามิได้ปฏิเสธปรัชญาเหตุผลนิยม


รายละเอียดของประเด็นปัญหาอาจช่วยให้เราทำความเข้าใจถึงจุดแตกหักหรือความแตกต่างระหว่าง Croce และ Dewey ได้อย่างมีนัยสำคัญ


โปรดติดตามตอน 3

เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchenia