ศิลปะ-การเมือง : กรณีศึกษาภูเขาสีดำ [3/3]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

Chapter: VI

“ความเคารพคือสิ่งคู่ขนานระหว่างศิลปะ ชีวิต และการศึกษา”

เมื่อปรัชญาของ Dewey นำมาพัฒนาต่อที่ Black Mountain College พื้นที่ทดลองการศึกษาซึ่ง Rice เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเป็นศิลปินได้วางรากฐานไว้อย่างดี จากนั้นเขาได้ติดต่อประสานงานเพื่อเชิญ Josef Albers ซึ่งต้องลี้ภัยทางการเมืองจากเบาเฮาส์ ประเทศเยอรมนี มาพำนักเป็นศิลปินและผู้สอนประจำ ตลอดจนวางรากฐานหลักสูตรศิลปะและการออกแบบคนแรกของสถาบันแห่งนี้


Josef Albers (1888–1976) จบการศึกษาจากสถาบันเบาเฮาส์ในปี ค.ศ. 1923 และเป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอนจากนั้นมา จนในปี ค.ศ. 1925 Walter Gropius มอบวิทยฐานะแก่ Albers ในฐานะมาสเตอร์รุ่นใหม่ของเบาเฮาส์และในปีเดียวกันนั้นเขาแต่งงานกับ Anneliese (Anni) Fleischmann (1899–1994) นักศึกษาที่เบาเฮาส์


ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1933 Josef Albers และภรรยาของเขา Anni Albers เดินทางโดยเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกสู่ Black Mountain College เมือง Asheville รัฐ North Carolina ซึ่งทั้งสองได้กลายเป็นกำลังหลักในงานสอนของสถาบันจนถึงปี ค.ศ. 1949

Josef Albers & Anni Albers at BMC

เมื่อ Albers เดินทางมาถึง Black Mountain College นักศึกษาที่รอต้อนรับถามขึ้นว่า “คุณจะสอนอะไรพวกเรา” Albers ตอบว่า ” Albers ตอบว่า “ทูโอเพ่นอายส์” (to open eyes)” นี้คือเป้าหมายความเป็นครูของเขา และหัวใจการเรียนการสอนของ Albers อยู่ที่ การสอนในการรับรู้ (teaching of perception) โดยเฉพาะการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุทัศนะต่าง ๆ ในสนามทัศน์ (visual field)


ในวิชาออกแบบพื้นฐาน Albers มักจะเน้นย้ำแก่นักศึกษาให้ระมัดระวังถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในทัศนะความเป็นจริง เขากล่าวว่า เส้น รูปทรง สี และวัสดุ ไม่ควรเกิดขึ้นโดยตัวมันเองลอย ๆ สิ่งเหล่านั้นควรเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือกันและกัน และไปด้วยกันได้ดี เขาย้ำเสมอว่ามันต้องสนับสนุนกันและไม่ฆ่ากัน

Albers มองธาตุทัศน์ต่าง ๆ ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในธรรมชาติ มนุษย์ และสังคม โดยการเชื่อมปฏิสัมพันธ์ของธาตุทัศน์กับมนุษย์ได้พัฒนาไปสู่มโนทัศน์ที่ว่าด้วย “การเคารพ” (respect)”

Josef Albers class at BMC


เขากล่าวว่าเราต้องเคารพวัตถุอื่น ๆ หรือสี หรือแม้แต่เพื่อนบ้าน รวมถึงให้ความเคารพต่อคนที่คุณไม่สนใจ นักศึกษาคนหนึ่ง ได้บันทึกในชั้นเรียนของ Albers ไว้ว่า


ความเคารพคือสิ่งคู่ขนานระหว่างศิลปะ ชีวิต และการศึกษา


ในปี ค.ศ. 1948 ทาง Black Mountain College ตกลงติดต่อประสานให้ Bertrand Goldberg สถาปนิกจากชิคาโกรับหน้าที่ผู้สอนในภาคเรียนฤดูร้อนแต่ถูกยกเลิกกะทันหัน Goldberg แจ้งให้ทางสถาบันทราบว่าเขาได้หาคนสอนแทนไว้แล้ว นั่นคือ Buckminster Fuller


ในเวลานั้น Albers ดูจะรู้สึกเป็นกังวลไม่ใช่น้อยที่ทางสถาบันต้องทำหนังสือเชิญบุคคลที่ไม่รู้จักมาสอนในนาทีสุดท้าย เขาจึงชะลอจดหมายเชิญออกไป และในที่สุด Buckminster Fuller ก็เดินทางมาถึง Black Mountain College หลังจากเปิดภาคเรียนไปแล้วสองสัปดาห์


จากนั้นเพียงสองวัน Albers ได้เขียนจดหมายถึง Goldberg เพื่อขอบคุณที่ส่ง Fuller ผู้ที่ทำการบรรยายได้ถึงสามสี่ชั่งโมงทุกคืน และทางสถาบันหวังว่า Fuller จะกลับมาอีกในภาคเรียนฤดูร้อนปีถัดไป


ส่วนช่วงฤดูหนาวนั้น Bucky Fuller สอนและบรรยายที่ Institute of Design ที่ชิคาโกซึ่งเขาพำนักและร่วมงานกับนักศึกษาจาก Black Mountain College สองคนได้แก่ Warren Outten Mary และ Phelan Outten ที่ติดตามไป

Buckminster Fuller at BMC


ในปี ค.ศ. 1948 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ Buckminster Fuller เมื่อเริ่มการสอนภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College จะเห็นได้ว่าทฤษฏีแนวคิด Dymaxion ของ Bucky ยังพัฒนาไปไม่ถึงจุดของการผลิตใช้จริง ผลงานมากมายที่คิดค้นขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในรูปของโมเดลต้นแบบเช่น วิจิตตา เฮ้าส์ (Dymaxion Dwelling Unit) บ้านพักอาศัยทุนต่ำสำหรับวิกฤตหลังสงคราม


การศึกษาภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College เปิดโอกาส Bucky Fuller ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ครั้งแรกในชีวิต เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ขับเคลื่อนวิชาชีพของเขาในเวลาต่อมา และทำให้มีเวลาย้อนกลับไปพัฒนาฉากทัศน์ของโลกกับเทคโนโลยีด้วยโครงสร้างทางคณิตศาสตร์ของ geodesics หลังจากประสบความสำเร็จในการทำแผ่นคลี่แผนที่โลก หรือที่เรียกว่า Dymaxion World Map ในปี ค.ศ. 1946

ในวิชาของ Bucky Fuller มักมีผู้เข้าร่วมล้นชั้นเรียน ทั้งที่นักศึกษาลงทะเบียนเพียง 4 คนเท่านั้น และต่อมานักศึกษาทั้ง 4 ได้เป็นสถาปนิกและนักออกแบบและก่อสร้างที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Albert Lanier, Lu Lubroth, Warren Outten และ Paul Williams ส่วน Kenneth Snelson (1927 –2016) เด็กหนุ่มจาก Oregon นักศึกษาอีกคนที่ติดตาม Bucky แต่ไม่ได้ลงทะเบียนวิชาสถาปัตย์ เขากลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในเวลาต่อมาเช่นกัน

Public sculpture: Kenneth Snelson


ไม่เฉพาะนักศึกษาจากวิชาอื่น ๆ เท่านั้นที่ชอบเข้าฟังบรรยายของ Bucky Fuller บรรดาผู้สอนและผู้ช่วยสอนก็ยังเข้าร่วมชั้นด้วย โครงการภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการเชื้อเชิญศิลปิน นักคิด นักดนตรี หลากหลายเข้ามาทำโครงการร่วมกับนักศึกษา


ครั้งหนึ่ง Bucky Fuller ได้ร่วมแสดงละครเรื่อง Baron Medusa โดย Arthur Penn (1922 –2010) นักศึกษาในเวลานั้นเป็นผู้กำกับ นอกจาก Bucky Fuller แล้วหลักสูตรภาคฤดูร้อนยังได้ John Cage (1912–1992) นักประพันธ์เพลง นักทฤษฏีทางดนตรีและศิลปินผู้มาก่อนกาล ผู้บุกเบิกเปิดพื้นที่และการตีความในดนตรี


Merce Cunningham (1919 –2009) นักเต้นผู้ชื่นชอบการทำงานร่วมกับศิลปินและการข้ามศาสตร์ร่วมกับ John Cage, David Tudor, Brian Eno, Robert Rauschenberg, Bruce Nauman, Andy Warhol, Roy Lichtenstein, Frank Stella, and Jasper Johns และเป็นผู้ก่อตั้ง Merce Cunningham Dance Company ในปี ค.ศ. 1953


Edgar Kaufmann Jr., (1910 –1989) ผู้อำนวยการแผนกออกแบบอุตสาหกรรมที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MOMA) นิวยอร์คเวลานั้น และโปรเฟสเซอร์ด้านสถาปัตย์และประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย


Willem de Kooning (1904 –1997) ศิลปินจาก New York ผู้ได้ชื่อว่าศิลปินแนวหน้าใน Abstract Expressionist มีช่วงเวลาที่พิเศษสุดในการพัฒนาผลงานของตนระหว่างพำนักและสอนอยู่ที่ Black Mountain College และผลงานชิ้นนั้นได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ(Turning point) ของKooning

ผลงานชิ้นที่ Willem de Kooning สร้างขึ้นระหว่างพำนักที่ Black Mountain College ปีค.ศ. 1948.

ในเวลาต่อมา Beaumont Newhall (1908 –1993) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ภัณฑารักษ์ นักเขียน และศิลปินถ่ายภาพคนสำคัญ ได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนให้ Bucky Fuller ในวิชาสถาปัตยกรรมอีกด้วย

ในโครงการภาคฤดูร้อนปีต่อมา (1949) Bucky Fuller ได้ชวนเพื่อนอาจารย์จากชิคาโก ได้แก่ Emerson และ Diana Woelffer, John และ Jano Walley มาร่วมโครงการฯ และนาฏศิลปินจากอินเดียสองคนคือ Vashi และ Praveena ผู้เป็นภรรยา ซึ่งได้รับทุนศึกษาวิจัยที่มหาวิยาลัยชิคาโก มาสอนในวิชาเต้นรำภาคฤดูร้อนที่ Black Mountain College อีกด้วย

John Cage, Merce Cunningham, Elaine de Kooning, Robert Rosenberg at BMC

มิตรภาพความสัมพันธ์ของเหล่าคณาจารย์ผู้สอนและนักศึกษาในช่วงฤดูร้อนปี ค.ศ. 1949 มีส่วนร่วมสำคัญในการพัฒนา โครงการจีโอเดสิกโดม ของ Bucky Fuller จนประสบผลสำเร็จในที่สุด หลายคนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น John Cage, Merce Cunningham, Ruth Asawa, Theodore และภรรยา Barbara Dreier และ Josef กับ Anni Albers ร่วมกับภาควิชาฯ


Chapter: VII


ปัจจุบันแนวทางการศึกษาแบบก้าวหน้าของ Black Mountain College ได้กลายเป็นต้นแบบความคิดที่ท้าทายระบบการศึกษาทัศนศิลป์แบบประเพณีนิยม ซึ่งพัฒนาขึ้นหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สอง (post war education) แม้ทุกวันนี้ข้อเรียกร้องต่อแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของไทยยังไปไม่ถึงไหน


ศิลปะ-การเมือง กรณีศึกษาภูเขาสีดำ อาจไม่ใช่เพียงการพิจารณาประวัติศาสตร์การทดลองการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ แนวคิดจิตนิยมกับปฏิบัตินิยมของ Benedetto Croce และ John Dewey เท่านั้น แต่เป็นการพิจารณาถึงความเป็นไปได้และทางเลือกอื่น ๆ ในแนวทางการศึกษาแบบก้าวหน้าของโรงเรียนประณีตศิลป์หรือมหาวิทยาลัยศิลปากร ปฐมบทและมูลฐานของระบบการศึกษาทัศนศิลป์ในประเทศไทยที่ส่งอิทธิพลถึงปัจจุบัน


หากพิจารณาคำกล่าวของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งบันทึกโดยศิษย์ในฐานะคำพูดซึ่งเป็นชุดความจริงชนิดหนึ่งก็จะพบว่า ท่านแสดงทัศนะที่สอดคล้องกับแนวคิดของ Benedetto Croce เมื่อกล่าวว่า “พวกเธอต้องเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน…แล้วจึงเรียนศิลปะ” และสอดคล้องกับแนวคิดของ John Dewey เมื่อกล่าวว่า “ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น…แต่สอนให้เธอรู้จักใช้ชีวิต


ศิลปะคือญาณทัศน์ หรือ ศิลปะคือประสบการณ์ คำพูดเชิงอุปไมยของศาสตร์จารย์ ศิลป์ พีระศรี ยังคงผลิตซ้ำและตอกย้ำความจริงบางประการในเป้าหมายทางการศึกษาและข้อโต้แย้งในแวดวงทัศน์ศิลป์ของไทยต่อไป เป็นไปได้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วความเชื่อที่ว่าศิลปะคือญาณทัศน์หรือศิลปะคือประสบการณ์ ได้กลายเป็นเรื่องการเมืองไปในที่สุด


ไม่ว่าศิลปะจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ถึงอย่างไรการเมืองแม่งก็เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับศิลปะวันยันค่ำ…พี่เชื่อไหม…ผมเคยเอานกหวีดพ่อที่แขวนบนผนังห้องรับแขกไปทิ้ง” เด็กหนุ่มผมยาวคนนั้น วันนี้ตัดผมสั้นทรงสมัยพูดพรางเดินออกไปจากศาลาแปดเหลี่ยม ตรงไปที่ตลิ่งล่วงพันลำที่เตรียมไว้ พร้อมกลัดไม้ขีดออกจากกระเป๋า ขีดไฟให้ลุกละเลียดจนได้ควันและกลิ่นที่โรยปกคุมศาลา เขารีบดีดเสี้ยวไม้ขีดที่มอดไหม้ใกล้ถึงปลายนิ้ว เห็นวูบไฟจุดเล็ก ๆ กระเด็นออกไปในสระน้ำ หายไปในความมืดของคืนหม่นในช่วงปิดภาคฤดูโควิด 19


เอกสารอ้างอิง

ส่วนหนึ่งจากบทความ: การสืบสวนสอบสวนของ FBI ที่วิทยาลัยศิลปะ Black Mountain โดย: Carmelo Pampillonio & Chava Krivchenia

บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.1

baannoorg publication

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

  • จะเกิดอะไรขึ้นกับเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี ค.ศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จ และป้อมบางกอกสร้างเสร็จตามวัตถุประสงค์ได้เปิดใช้งาน

  • ช่วงเวลาแห่งปฐมบทเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ฝั่งตะวันออกกำลังจะเริ่มต้นขึ้นแต่ก็ต้องเลื่อนออกไปอีกเกือบร้อยปีจนถึงเมื่อต้นราชวงศ์จักรีในปีค.ศ. 1782

  • ภาพสะท้อนเมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯ ที่ทุกคนรู้จักอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งมันเชื่อมโยงไปสู่การเมืองการปกครองของผู้มีอำนาจนำ สำหรับคนที่ถูกกล่าวหาว่าชังชาติหรือแม้แต่พวกคลั่งชาติด้วยเช่นกัน

ลองจินตนาการดูกันว่า ต้องใช้กระจกเงากี่บานนับไม่ถ้วนเพื่อจะสะท้อนภูมิเมือง (topography) ของกรุงเทพมหานครฯ ให้ได้เพียงภาพเดียว ถึงแม้กระจกเงาจะมีความสามารถในการสะท้อนภาพได้ชัดคม แต่มันก็เป็นวัสดุที่เปราะบางเกินกว่าขนาดของมันที่ต้องมีความใหญ่โตมโหฬารมากพอ จึงจะสะท้อนภาพมหานครอย่างกรุงเทพฯในฐานะองค์ประธานได้ในภาพคราวเดียว


ด้วยเหตุที่บริบททางประวัติศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครองของเมืองอย่างกรุงเทพมหานครฯ มีรายละเอียดของเนื้อหาขนาดมหึมา ยากต่อการศึกษาทำความเข้าใจด้วยระบบวิธีวิทยาของศาสตร์ความรู้แขนงใดแขนงหนึ่งโดยเฉพาะ


ยังผลให้ผู้สนใจศึกษาจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล และโดยการทำให้พื้นที่ศึกษากลายเป็นชายขอบ เพื่อให้ความสงสัยใคร่รู้ของบุคคลไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกรอบความรู้เดิม และทำให้ข้อกังขาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ด้วยเหตุที่ภาพสะท้อนจากกระจกเงาซึ่งปรากฏแก่เราก็มิใช่ตัวความจริงของสิ่งที่ถูกสะท้อนเสียทีเดียว ดังนั้นสนามทางสหวิทยาการศิลป์จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจในประเด็นศึกษา กรณีศึกษาภาพสะท้อนกรุงเทพมหานครฯ โดยมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดจินตนาภาพและเปิดพื้นที่โต้แย้งอย่างสร้างสรรค์


บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ ชื่อนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Topography of Mirror Cities บริหารและดำเนินโครงการฯโดย Sandy Hsiu-chih Lo ภัณฑารักษ์กลาง (Chief Curator) จากประเทศไต้หวัน โดยทุนสนับสนุนจาก National Culture and Arts Foundation กระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลไต้หวัน


Lo ได้เชื้อเชิญภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศร่วมนำเสนอภาพสะท้อนของสถานที่ในแต่ละเมืองสำคัญในภูมิภาค ให้กลายเป็นพื้นที่ของการศึกษาผ่านสนามทางทัศนศิลป์และรูปแบบนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย โดยมีภัณฑารักษ์จาก 6 ประเทศนำเสนอภาพสะท้อนในบริบทที่แตกต่างกันไปตามแต่ละนคร


ภัณฑารักษ์ทั้ง 6 ประกอบ ด้วย Lian Heng Yoehประเทศมาเลเชีย นำเสนอโครงการ History-Community-Identityที่กรุงกัวลาลัมเปอร์Vuth Lyno, Pen Sereypagnaประเทศกัมพูชา นำเสนอโครงการ Geo-bodyที่กรุงพนมเปญ Ade Darmawanประเทศอินโดนีเชีย นำเสนอโครงการ Mass Rapid Mobilityที่กรุงจาการ์ตา, Mahbubur Rahmanประเทศบังกลาเทศ นำเสนอโครงการ City of the Bookที่กรุงธากาและManray Hsuสาธารณรัฐไต้หวัน นำเสนอโครงการ Herbal Urbanismที่กรุงไทเป และ Jiandyin ประเทศไทย นำเสนอโครงการบางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers)ที่กรุงเทพฯ


นิทรรศการศิลปะร่วมสมัย บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers: Contemporary Art Exhibition)จัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครฯ ดำเนินการโดยบ้านนอกความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม ภัณฑารักษ์ Jiandyinได้เชื้อเชิญศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาโดยรวมเอาสหวิทยาการ เช่น นักอักษรศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ นักโบราณคดี นักดาราศาสตร์ นักนิรุกติศาสตร์การออกแบบ นักออกแบบกราฟิกสถาปัตย์ และศิลปินเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานได้แก่ หงจัง หลิน(PhD.), อวิกา สมัครสมาน, เซบาสเตียง ทายัค(PhD.),อนุพงศ์ เจริญมิตร, แก่นสาร รัตนสมฤกษ์นารีมัส เจะและ(PhD.),จิรวรรณ เกียรติโพธาสุพจน์ คุณานุคุณราชันย์ กล่อมเกลี้ยงวราวุธ ศรีโสภาคพชร ไชยเรืองกิตติ และ สาวิตรี เปรมกมล เพื่อแสดงออกถึงพลวัตรในภาพสะท้อนเมืองหลวงของไทย

Bangkok Layers publication

  • บางกอกหลอกชั้น : แนวคิดวิธีวิทยาภัณฑารักษ์

กรอบความรู้หรือโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย คือ กรอบที่กำกับวิธีคิด ความเชื่อ และวิธีเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ของมนุษย์เรา แหล่งอ้างอิงเช่น บันทึกจดหมายเหตุ ข้อเขียนบทความ หรือแม้แต่คำพูดทั้งหลายได้ไหลเวียนเผยแพร่ออกไปในสังคมของแต่ละยุคสมัย

เป็นแหล่งอ้างอิงที่ทรงพลังสำหรับใช้ขุดค้นเพื่อหาความหมายและให้คุณค่าแก่สรรพสิ่ง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault 1926-1984) เรียกมันว่า “วาทกรรม หรือ Discourse” หากแต่วาทกรรมเช่นนี้มิได้หมายถึงตัวภาษาโดยตรงแต่เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วในสังคมด้วยอาศัยภาษาซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญะ


วาทกรรมดังกล่าวสามารถชี้นำให้เราเข้าถึงชุดความหมายนั้นๆได้[1] ฟูโกต์ได้ขยายความแนวคิดเรื่องนี้อย่างละเอียดในหนังสือ The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences (ถ้อยคำกับสรรพสิ่ง: โบราณคดีแห่งศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษย์) ซึ่งนำเสนอแนวคิดในการขุดค้นและสำรวจลึกลงไปในเอกสารชั้นต่างๆ

The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences

เพื่อค้นหาโครงสร้างทางความคิดของแต่ละยุคสมัย โครงสร้างที่ว่านี้ คือ กรอบความรู้ซึ่งเป็นเสมือนขอบฟ้าทางความคิดที่ครอบผู้คนในยุคนั้นๆ เอาไว้ จะเห็นได้ว่าสังคมแต่ละยุคสมัยล้วนอุปโลกน์ชุดความรู้ของตนเองขึ้นเป็นสัจธรรม [2] ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 14-16 อ้างอิงถึงความคล้ายคลึงกันของสรรพสิ่ง


ต่อมาในยุคการปฏิวัติทางปัญญาระหว่างศตวรรษที่ 17-18 กรอบความรู้ได้หันเหไปเน้นการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่งโดยการชั่ง ตวง วัด และจัดประเภทสิ่งต่างๆ ตามคุณสมบัติเฉพาะอัตลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างโปร่งใสด้วยภาษา

กรุงเทพก็ม้าอ๋า, พชร ไชยเรืองกิตติ, วีดิโอ, สี, 3.10 min., 2 หูฟัง, วน

เมื่อถึงยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กรอบความรู้ได้เปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อสาเหตุของสรรพสิ่งที่ว่าอะไรกำหนดให้เกิดอะไร ด้วยพัฒนาการของกรอบความรู้ดังกล่าวส่งผลให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นกรอบแม่บทของความรู้ทั้งปวงในฐานะคำอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุ[3] คือต้นตอหรือที่มาของกรอบความรู้ที่สัมพันธ์กับเราในปัจจุบันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


เมื่อเรานำ “ประวัติศาสตร์ความคิด” จากข้อเสนอของฟูโกต์มาวิเคราะห์สิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมของปัจเจกบุคคลที่คิด ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจข้อจำกัดการคิดของคนเรา ซึ่งข้อจำกัดเช่นนี้ย่อมเกิดขึ้นกับผู้เขียนประวัติศาสตร์เช่นกัน

ความสนใจต่อโครงสร้างที่เป็นบริบทการคิดของคนเราว่าอะไรที่ทำให้คิดและเป็นเช่นนั้น คือที่มาของการทำให้องค์ประธานเป็นชายขอบนั้นเอง [4]


เหตุที่กรอบความรู้เช่นนี้มิได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ ในความคิดหรือสำนึกของมนุษย์ มันได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นและมีอำนาจกำหนดหรือมีอิทธิผลต่อพฤติกรรมชีวิตของมนุษย์เราในแง่มุมต่างๆ ตัวอย่างเช่น กรอบความรู้ที่ว่า “ชาติเกิดจากการที่บรรพบุรุษแต่โบราณได้สร้างและเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษา


ส่งผลต่อแนวคิดและการแสดงออกของผู้ที่เชื่อในกรอบความรู้เรื่องนี้ผ่านภาษา และรูปแบบวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความเชื่อในกรอบความรู้นั้น [5] หากจะพิจารณาระบบการสร้าง กรอบความรู้หรือวาทกรรมในแบบเปิด (openness) ที่ไม่หยุดนิ่งตายตัวเป็นมายาภาพตัวแทน

ศูนย์กาล, นารีมัส เจะและ (PhD.), วีดิโอ, สี, 56 sec., วน

ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนหรือถูกแทนด้วยกรอบความรู้ใหม่ผ่านกระบวนการรื้อสร้างตัวแทนตามทัศนะของ ฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida ค.ศ. 1930-2004) เป็นไปได้หรือไม่ที่ภาพตัวแทนเหล่านั้นจะสามารถสร้างกรอบความรู้กรอบหนึ่งภายนอกตัวของมันเอง


การค้นหาร่องรอยของแบบแผนภายใต้กรอบความรู้และการเชื่อมโยงบรรดาข้อความต่างๆ ตามหนังสือตำราวิชาการ งานวรรณคดี และวรรณกรรมพื้นบ้าน บันทึกเรื่องเล่า แผนผัง ภาพวาด ภาพถ่าย ฯลฯ เอกสารหรือจดหมายเหตุเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นหลักฐานพยานแห่งวาทกรรมในมิติของการใคร่ครวญเชิงทฤษฎีและการวิเคราะห์ตัวบท (theoretical speculation and textual analysis)


โดยให้ความสำคัญแก่การขุดค้นและทำความเข้าใจต่อบริบททางประวัติศาสตร์แบบจำเฉพาะ (history as a single collective narrative) จะสามารถเชื่อมโยงตัวเราจากอดีตสู่กรอบความรู้ของปัจจุบันได้หรือไม่

แสดงสดขับร้องเพลงปรบไก่(ฉบับพิเศษ) บางกอกหลอกชั้น ประพันธ์คำร้อง-ขับร้องโดย อาจารย์ จินตนา กล้ายประยงค์

บางกอกหลอกชั้น (Bangkok Layers) คือ บทภัณฑารักษ์ที่อาศัยการสืบค้นข้อมูลข้ามกาลเทศะและประวัติศาสตร์ ด้วยแนวทางการนำเสนอนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่แสดงออกเชิงสัมพันธภาพทางตรงระหว่างข้อมูลกับบุคคล โดยอาศัยการถอดรหัสตีความและการตั้งคำถามปลายเปิดต่อข้อเท็จจริงในข้อมูลต่างๆ หลายระดับชั้น

เพื่อเผยส่วนที่ซุกซ่อนหรือปกปิดไว้ภายใต้ผืนพรมขนาดใหญ่ที่สังคมถักทอขึ้น และกดทับบางส่วนบางตอนไว้ไม่ให้ปรากฏเพื่อเป้าหมายบางประการทางสังคมการเมือง ผลงานหลากหลายสื่อทัศนศิลป์ของศิลปินและผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาในนิทรรศการ ต่างให้ความสนใจต่อการตีความที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างศิลปะร่วมสมัย สังคม การเมืองและประวัติศาสตร์


โดยการประเมินคุณค่าพื้นฐานทางทัศนศิลป์จากแนวคิดและพลวัตรในการนำเสนอกระบวนการสร้างสรรค์นิทรรศการ เป็นการเชื่อมโยงบุคคลกับกรอบความรู้ทางสังคมด้วยการ ให้คุณค่าและความหมายกับสมมติสถาน-การสืบค้นประวัติความเป็นมาของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด


แม้แต่เทศะเชิงประวัติศาสตร์ซึ่งได้ถูกทำลายไปแล้ว แนววิธีวิทยาเช่นนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนรู้และทำความเข้าใจของปัจเจกชนที่มีต่อปรากฏการณ์วิทยาและสังคมแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ


ตัวนิทรรศการฯมุ่งพิจารณาและตีความข้ามกรอบความรู้ทางปรากฏการณ์วิทยาด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวโยงกับกาล-เทศะและประวัติศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งมีความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์อนาคต ผ่านการปฏิบัติและสนามทางศิลปะร่วมสมัยในรูปแบบของการศึกษาค้นคว้า


เพื่อสะท้อนแนวทางการสร้างกรอบความรู้ใหม่ขึ้นมาแทนที่กรอบความรู้เดิม ด้วยการสร้างบทสนทนาในนิทรรศการฯผ่านการตั้งคำถามตามหรือคำถามแย้ง ที่ท้าทายความคาดหวังทั้งจากผู้ชมและศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญที่สร้างผลงาน นำเสนอทัศนะและทัศนียภาพองค์รวมที่มีความหลากหลายในรูปแบบและวิธีวิทยาตามประเด็นที่กำหนด


เพื่อสร้างประสบการณ์การรับรู้ การส่องสว่าง และเปิดช่องที่ซ้อนทับกันหลายเชิงชั้นของความหมายในกรอบความรู้กระแสหลักและเป้าหมายในการแสวงหาโครงสร้างความคิดในระดับจุลภาคของสังคม ด้วยการสร้างนิยามใหม่ในพื้นที่ทางทัศนศิลป์เชิงสหวิทยาการประสานเข้ากับศาสตร์ความรู้อื่นๆ ในฐานะของงานสร้างสรรค์[6]

บางกอก-ป้อมปราการฝั่งตะวันออก ,สาวิตรี เปรมกมล,วีดิโอ, สี, เงียบ, 4.9 min., วน/ แบบร่างป้อมบางกอกโดยโดย สิเยอร์ เดอ ลามาร์


และตัวเร่งปฏิกิริยาที่ยังผลให้เกิดการตีความทางสังคม[7] อันเป็นกรอบความรู้ที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงแปรรูปไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ซึ่งมีพัฒนาการแบบไม่ต่อเนื่องต่างจากสายโซ่ที่ร้อยต่อเชื่อมกันโดยไม่ขาดห้วง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ในปรากฏการณ์จึงมีคุณค่าอย่างมากสำหรับการศึกษา


โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของแรงกระทำซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจตรรกะที่ดำรงอยู่ในปรากฏการณ์นั้นได้โดยตรง[8] การสนับสนุนและสร้างความเข้าใจที่เปิดกว้างนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพต่อการตีความ ซึ่งบ่อยครั้งเปิดโอกาสให้ศิลปิน/ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชมมีส่วนร่วมกันสร้างแบบแผนการบรรเทาความคลาดเคลื่อน ที่มักเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษาด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาแบบโครงสร้างนิยมซึ่งยึดถือกรอบความรู้ที่แข็งขืนลดทอนและปฏิเสธความเป็นอื่น

  • บางกอก: สถานที่-เทศะ (Bangkok: place-space)

Place today is taken to mean a combination of experiences, memories and other living interactions that include humans relative to spaces – Tim Cresswell

จากบทภัณฑารักษ์กลาง Sandy Hsiu-chih Lo (Chief Curator) ได้ยกตัวอย่างจุดยืนหรือมุมมองที่น่าสนใจผ่านการเฝ้ามองภาพผลงานจิตรกรรมประเพณีนิยมแนวภูมิทัศน์ โดยอ้างถึงแนวคิดของ Fredric Jameson (b. 1934-) ในฐานะเป็นกำลังเสริมซึ่งทำให้บุคคลทำความเข้าใจแนวคิดใหม่เกี่ยวกับสถานที่หรือเทศะ (place-space) ได้อย่างน่าสนใจ


ด้วยการนำเสนอความสัมพันธ์ของจินตนาการระหว่างบุคคลและสถานการณ์จริง ยังผลให้จุดกำเนิดหรือจุดเริ่มต้นกลายมาเป็นจุดยืนหรือมุมมองที่มีต่อสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด ที่แสดงถึงตำแหน่งแห่งหนของเมืองหลวงอันเป็นเนื้อหาหลักในโครงการฯ


โดยมีรากฐานความจริงประกอบสร้างขึ้น และด้วยแนวคิดดังกล่าว Lo ให้ข้อสรุปถึงความสำคัญของสถานที่ในฐานะเป็นหนทางในการมองเห็น การสร้างความรู้และการทำความเข้าใจต่อโลกที่แวดล้อมเราอยู่


หากพิจารณาสถานที่หรือเทศะในลักษณะสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ที่มีส่วนทำให้มนุษย์สามารถสื่อสารถึงกันและบ่งบอกว่าตนเองเป็นใคร ซึ่ง Casey D. Allen และ John Agnew ระบุในหนังสือเรื่อง Humanistic Geography และ Space and Place โดยอธิบายว่า “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มนุษย์ต่างมีชีวิตในแบบของตัวเองที่สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่นั้น” [9]


โดยแนวคิดทางภูมิศาสตร์แนวมนุษยนิยม (Humanistic geography)[10] การศึกษาประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพฯ เมืองมหานครซึ่งมีขอบเขตหรือขนาดพื้นที่เปิดรับประชากรและกลุ่มชาติพันธุ์วรรณนา เศรษฐกิจ สังคม -วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ฯลฯ


อาจเป็นเรื่องที่มีเนื้อหากว้างใหญ่เกินจากกรอบระยะเวลาและพื้นที่ที่กำหนดในนิทรรศการฯครั้งนี้ ด้วยเหตุที่สถานที่หรือเทศะอย่างกรุงเทพมหานครฯเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่มีการทับซ้อนขยายตัวและเป็นแม่เหล็กดูดดึงผู้คนจากทั่วสารทิศ ให้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยทำมาหากินมานานนับจากอดีต และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปในอนาคต

กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มา: https://twitter.com/playground_9/status/1126156625813708800?lang=sv https://taejai.com/en/d/phathnaachumchnkhlngetydwybrikaarthngethiiywyangyuuen/


ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีประชากรทั้งหมด 5,605,672 คน เมื่อรวมเข้ากับพื้นที่เขตปริมณฑล 4 จังหวัดจะมีประชากรสูงถึง 10,765,226 คน หากคิดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครฯเป็นพื้นที่ต่อคนต่อตารางกิโลเมตร จะพบว่าในทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตรมีคนอยู่จำนวน 3,616.64 คน


แนวคิดเรื่องการศึกษาภาพตัวแทนหรือการศึกษาแบบจำลองของสถานที่หรือเทศะหนึ่งใด จึงอาจเป็นทางเลือกที่นำพาผู้ชมให้เข้าถึงข้อมูลหลักฐาน เอกสาร จดหมาย แผนที่ แผนผัง วัตถุสิ่งของ ฯลฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมข้อเท็จจริงแห่งประเด็นศึกษา โดยเปิดพื้นที่ในรูปแบบกิจกรรมที่ให้ความสำคัญกับอำนาจของผู้กระทำการที่สามารถยึดครองเทศะ จัดการเทศะ


การสร้างสรรค์สถานที่ด้วยวิสัยทัศน์และโครงการจำเพาะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ภายใต้กรอบบริบทซึ่งอยู่ในสภาวะของสิ่งที่กำลังจะมาถึง (becoming) มากกว่าจะเป็นบางสิ่งที่ ”ตายตัว” เช่น แม่น้ำลำคลอง การตีความ จินตนาการ และทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ของการกลายเป็นสถานที่สำคัญอย่างเมืองหลวงแห่งนี้ ผ่านโครงสร้างความคิดระบบระเบียบทางสังคมที่เราสังกัดอยู่


รวมทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นล้วนมีที่มาจากความเป็นจริงเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น กระแสของปรัชญาปรากฏการณ์(Phenomenology) ได้ตอกย้ำถึงการที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่แวดล้อมอย่างแยกไม่ออก แนวคิดนี้ให้ความสนใจเริ่มต้นการศึกษาจากจุดเล็กๆ ธรรมดาที่เป็นจริง แล้วค่อยๆ ขบคิดปัญหาต่อๆ ไปด้วยการสำนึกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่หรือเทศะ


กรณีศึกษาจากการเฝ้าสังเกตสิ่งธรรมดาสามัญ อาทิเช่นเสาไฟฟ้าริมถนนหรือคนขายปลาที่ท่าเรือ[12] ธรรมดาแห่งปรากฏการณ์วิทยาของ Maurice Merleau Ponty (b.1908-1961) ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเทศะกับตัวเราอย่างตั้งใจในฐานะที่ “ตัวฉันเข้าใจได้มากกว่าที่ฉันคิด


ด้วยเหตุที่เทศะทางร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนและสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กล่าวโดยสรุปก็คือร่างกายของเรามิได้เพียงตั้งอยู่ภายในเทศะหรือสถานที่ หากแต่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ภายในนั้น[13]


สถานที่หรือเทศะ” ในทัศนะของ Tim Cresswell จึงมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากมีบทบาทในลักษณะเป็นกรอบพื้นฐานหรือธรรมนูญทางสังคม-วัฒนธรรม[14] การให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับความนึกคิดของผู้คน สิ่งต่างๆ และการกระทำของบุคคลผู้เกี่ยวข้องและมีผลต่อสถานที่หรือพื้นที่หนึ่งใดนั้น ยอมเผยให้เห็นสิ่งตรงข้ามกันเสมอ

Bangkok Layer exhibition overview, photo by Anupong Charoenmitr


หากเรามองประเด็นนี้ในเชิงตรรกะอาจพูดได้ว่า การล่วงละเมิดสภาวะอันเป็นปกติของสถานที่หรือเทศะนั้น โดยมากจะถูกระบุให้เกิดขึ้นจากความเป็นอื่นคนอื่นสิ่งอื่นและการกระทำอื่นๆ ที่อยู่นอกขอบเขตตัวมัน Cresswell เสนอว่า “ประสบการณ์ของมนุษย์ที่มีต่อสถานที่หรือเทศะ คือสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความสำคัญโดยตรงให้แก่ตัวมัน”[15]

พูดอีกอย่างก็คือ จิตวิญญาณของสถานที่เกิดจากพฤติกรรมและการปฏิบัติของมนุษย์เรานั่นเอง อะไรคือหนทางที่ทำให้ผู้คนสัมผัสและคิดเกี่ยวกับเทศะได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ว่ารูปแบบของเทศะนั้นคือบ้าน ชุมชน หรือความเป็นชาติ มนุษย์เรามีความรู้สึกต่อสถานที่และเทศะซึ่งสะท้อนผ่านกาลได้อย่างไร


ในกรณีเช่นนี้ Yi-Fu Tuan (b.1930-) ได้เสนอนิยามเรื่องสถานที่และเทศะไว้น่าสนใจในสองลักษณะ กล่าวคือสถานที่ (Place) แสดงออกถึงความมั่นคงปลอดภัย และเทศะ (Space) แสดงออกถึงเสรีภาพ ไม่ว่ามนุษย์จะคำนึงถึงพื้นที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และอคติ เทศะหรือสถานที่แห่งมายาคติ เวลาในพื้นที่แห่งประสบการณ์ หรือความเกี่ยวโยงทางวัฒนธรรมที่มีต่อเทศะ Tuan มองว่ามนุษย์เราจะยึดโยงตนเองเข้ากับสิ่งหนึ่งและถวิลหาอีกสิ่งหนึ่งเสมอ


ติดตามตอนต่อไป

เอกสารอ้างอิง

 1 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, บรรณาธิการ, ข้ามขอบฟ้าความคิด (เชียงใหม่: ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 43.
 2 Fredric Jameson (b. 1934-) ให้ทัศนะเรื่องมโนทัศน์เกี่ยวกับสัจธรรมความจริงแท้อันเป็นสากลนั้นไม่มี ความจริงที่ว่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของอภิปรัชญา ซึ่งแนวคิดหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) ได้ค้นหาหนทางละทิ้งเสีย ดูรายละเอียดใน: Charles Harrison & Paul Wood, editor, Art in Theory 1900-2000: An Anthology of Changing Ideas (UK: Blackwell Publishing, 2003), 1049.
 3 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2547), 10.
 4 ฟูโกต์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่งเฮาส์, 2558), 65.
 5 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ, ข้ามขอบฟ้าความคิด, 44. สายพิณ ศุพุทธมงคล แปล, ฟูโกต์
 6 ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เสนอว่าการสร้างสรรค์คือการสร้างและระดมศักยภาพของความคิดและการสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตสร้างความรู้แบบใหม่ที่ทำให้ผู้รับรู้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการมองโลก ดังนั้นการสร้างสรรค์จึงเป็นการท้าทายความคิดและความรู้เดิมเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่หรือความรู้ใหม่ให้กับคนในสังคม ดูรายละเอียดใน: โพ้นพรมแดนความรู้ (เชียงใหม่:ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560), 56.
 7 Arnd Schneider and Christopher Wright, editor, Between Art and Anthropology: Contemporary Ethnographic Practice, (UK: Berg, 2010), 114.
 8 นพพร ประชากุล, บรรณาธิการ, ร่างกายภายใต้บงการ, 21.
 9 http://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/69
 10 Yi-Fu Tuan (b.1930-) ให้เหตุผลว่าร่างกายมนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยตรง พื้นที่ปรากฏและอยู่ร่วมไปพร้อมๆ กับสติภายในร่างกายของมนุษย์เรา ความสัมพันธ์แบบดั้งเดิมเช่นนี้ปรากฏแสดงผ่านระบบการทำงานในตัวเรา ก่อนที่จะสนองตอบเราในฐานะเป็นเครื่องมือของจิตสำนึกทางการเลือกสรรและการมุ่งหมายในทัศนะการรับรู้, สัมผัส, การเคลื่อนไหวและการหลอมรวมทางความคิดซึ่งสร้างการรับรู้คุณลักษณะของพื้นที่ขึ้นมา (https://tcatf.hypotheses.org/177)
 11 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 30.
 12 ธีรยุทธ บุญมี, การปฏิวัติสัญศาสตร์ของโซซูร์: เส้นทางสู่โพสต์โมเดอร์นิสม์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2551), 28.
 13 https://plato.stanford.edu/entries/merleau-ponty/
 14 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html
 15 https://pure.royalholloway.ac.uk/portal/en/persons/tim-cresswell(7d41a2c8-6df1-413f-9b67-892b73b00697).html 

ไกว ไกว (乖乖): สัญญะ/ขนม [คนรุ่นเก่า/ใหม่]

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

เป็นที่น่าแปลกใจและออกจะขบขันอยู่ไม่น้อย เมื่อแรกสังเกตเห็นถุงขนมกรุบกรอบยี่ห้อหนึ่งที่วางอยู่กับชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังทำการอันแพคในบริเวณที่ผู้เขียนกำลังติดตั้งผลงานซึ่งมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้าเช่นกัน ภายใน National Taiwan Museum of Fine Art พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะร่วมสมัยแห่งชาติที่มีชื่อเสียงและทันสมัยแห่งหนึ่งในไต้หวัน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นคือชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ที่สำคัญสำหรับใช้ในการประกอบติดตั้งผลงาน New Media ของศิลปินไทย กรกฤต อรุณานนท์ชัย ผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติพำนักและทำงานอยู่ที่นิวยอร์กและกรุงเทพฯ ผลงานชุดที่ว่านี้เป็นผลงานที่ขนส่งทางเครื่องบินตรงมาจากนิวยอร์ก โดยที่ตัวศิลปินติดภารกิจไม่สามารถมาติดตั้งผลงานได้ด้วยตนเอง

ความติดขัดล่าช้าของการขนส่งทำให้ผลงานเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์ฯ ในวันเดียวก่อนวันสุดท้ายซึ่งจะมีพิธีเปิดให้ผู้สื่อข่าวเข้าชมในตอนเย็น ส่งผลให้ทีมงานติดตั้งชาวไทยที่เดินทางมาถึงก่อนหน้าแล้ว ต้องรออยู่หลายวันโดยไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ในเวลาเดียวกันกับทีมติดตั้งมีกำหนดการต้องเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้นก่อนที่ผู้สื่อข่าวมาถึง

นั่นย่อมหมายความว่าการติดตั้งชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ตามเอกสารแผนการประกอบการติดตั้งแผงวงจรและไมโครคอนโทรลเลอร์ หลายหน้ากระดาษขนาด A4 เล่มหนาๆ ที่วางอยู่บนแผงอิเล็กทรอนิกส์นั้น ต้องประกอบร่างให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก่อนกำหนดเปิดนิทรรศการรอบสื่อมวลชนที่จะเริ่มขึ้นในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้

กล่องบรรจุอุปกรณ์ขนาดไม่เล็กจากนิวยอร์กส่งมาถึงห้องจัดแสดงในช่วงสายๆ หนึ่งวันก่อนเปิดนิทรรศการฯ ทีมงานชาวไทยสองคนและผู้ประสานงานของพิพิธภัณฑ์ฯ หลายคนช่วยกันอันแพคและถ่ายรูปบันทึกในทุกขั้นตอนระหว่างการนำชิ้นส่วนต่างๆ ออกมาวางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยตามระบบจัดการของพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อยืนยันขั้นตอนและตรวจสอบชุดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดหรือเสียหายในขั้นตอนนี้

ผู้เขียนมิได้สังเกตเห็นว่าทีมประสานงานของพิพิธภัณฑ์ฯ นำถุงขนมกรุบกรอบ 2 ถุงมาวางไว้บนแผงอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์และอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งขณะนั้นถูกวางเรียงรายกันอย่างเรียบร้อยบริเวณหน้าห้องจัดแสดงตั้งแต่เมื่อไหร่และด้วยเหตุผลอันใด ตลอดทั้งช่วงบ่ายทีมงานติดตั้งผลงานของ กรกฤต จัดการกับชุดอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างมืออาชีพ พวกเขาแก้ไขอุปสรรคทางเทคนิคหลายประการอย่างกระชั้น

ผู้เขียนได้ยินว่าทีมติดตั้งต้องสาละวนอยู่กับอุปกรณ์ยิงเลเซอร์ การขนดินและกิ่งไม้แห้งเข้าจัดวางภาพในห้องจัดแสดงตามแบบที่ศิลปินแนบมา อีกทั้งการแก้ปัญหาหน้างานหลายประการ แต่ในที่สุดช่วงบ่ายของวันนั้นผลงานของ กรกฤต ก็ติดตั้งแล้วเสร็จ เหลือเพียงการปรับแก้ไขไฟล์ภาพเคลื่อนไหวที่พบการกระตกระหว่าง play เล็กน้อย ซึ่งต้องให้ผู้ช่วยศิลปินที่นิวยอร์กเป็นผู้แก้ไขแล้วรีบทรานเฟอร์ส่งมาให้ในคืนนั้น

เช้าวันรุ่งขึ้นทีมติดตั้งกลับเข้ามาที่ห้องนิทรรศการอีกครั้งเพื่อตรวจสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ทั่วหมด และนำไฟล์ที่ส่งมาเปิดเช็คดูความเรียบร้อย หลังอาหารกลางวันพวกเขาเข้ามาดูความเรียบร้อยเป็นครั้งสุดท้ายก่อนออกเดินทางจากพิพิธภัณฑ์ฯ เพื่อไปสนามบินที่กรุงไทเป เราล่ำลากันตามประสาเพื่อนมิตรภาพและสวัสดิภาพในการเดินทาง

ผลงาน กรกฤต อรุณานนท์ชัย โดยมีขนมไกวไกว (乖乖) ว่างไว้บริเวณทางเข้า

จากนั้นผู้เขียนกลับมาสาละวนกับผลงานของตนเองที่ยังติดตั้งไม่แล้วเสร็จ ในขณะเดียวกันก็เหลือบไปเห็นถุงขนมกรุบกรอบ 2 ถุงนั้น ซึ่งเวลานี้ได้ถูกนำกลับออกมาวางที่ตัวตุ๊กตาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของ กรกฤต ตรงบริเวณทางเข้าหน้าห้องจัดแสดงอีกครั้ง นั่นทำให้ผู้เขียนสะดุดคิดว่าถุงขนมทั้งสองถุงนั้นไม่ใช่เพื่อการบริโภคอย่างแน่นอนและมันใช้เพื่อประโยชน์อะไรกันแน่

ผู้ประสานงานของพิพิธภัณฑ์ได้ไขข้อปริศนานี้ระหว่างช่วยทีมงานติดตั้งของ กรกฤต เก็บของก่อนเดินทางไปสนามบิน เธอบอกกับผู้เขียนว่า “มันคือถุงขนมแห่งการว่านอนสอนง่าย” และด้วยรูปลักษณ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ทำให้เข้าใจได้ว่ามันคือขนมกรุบกรอบของเด็กๆ และรวมถึงผู้ใหญ่ที่ชื่นชอบขนมขบเคี้ยวอีกด้วย ด้วยชื่อของมัน ”ไกวไกว” มีความหมายว่า ให้เชื่อฟังและอย่าดื้อ

ในบริบททางภาษาคำว่า ไกวไกว (乖乖) มักใช้เมื่อต้องการให้สิ่งที่พูดถึงไม่ดื้อหรือว่านอนสอนง่าย เช่น “ไกว ไกว อย่าดื้อนะลูก” อะไรประมาณนั้น เด็กๆที่ชื่นชอบขนมกรุบกรอบชนิดนี้ได้ซึมซับความหมายสัญญะของภาษาและการบริโภคไว้ในเวลาเดียวกัน โซซูร์ได้ชี้ว่าความหมายของสรรพสิ่งมิได้ดำรงอยู่ในตัวของสิ่งนั้นแต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆ ภายใต้ระบบเดียวกัน

อาจกล่าวได้ว่าขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) คือสัญลักษณ์ (Symbol) ซึ่งเป็นสัญญะในแบบที่ไม่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงอันใดเลยระหว่างตัวสัญญะกับวัตถุจริง หากแต่ความหมายเกิดจากการตกลงร่วมกันในหมู่ผู้ใช้สัญญะ เช่น ตัวอักษร หรือโลโก้ต่างๆที่สร้างขึ้น การถอดรหัสจึงจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้ร่วมกันของผู้ใช้สัญญะ

ไกว ไกว (乖乖) มีให้เลือก 3 สี 3 รส

ส่วนสีของบรรจุภัณฑ์นั้นก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) มีให้เลือก 3 สี 3 รส ซึ่งแต่ละสีสื่อความหมายโดยนัย (Connotative Meaning) โดยอ้อมเพื่อให้เกิดการตีความหมายอีกชั้นหนึ่ง สีเขียว สีเหลืองและสีแดง ย่อมให้ความหมายที่แตกต่างกัน ห่อบรรจุสีเขียวนั้นเป็นสีที่ตรงกับสีซิกนอลของสัญณาณจราจรและสัญญาณชีพของเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยทั่วไป

สีเหลืองให้ชะลอและแดงคือต้องหยุดในสัญญาณจราจรที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญบนหน้าซองบรรจุภัณฑ์ขนมกรุบกรอบ ไกว ไกว (乖乖) ยังมีช่องว่างให้กรอกชื่อผู้รับหรือชื่อชิ้นงานที่เราต้องการมอบความว่านอนสอนง่ายลงไป และที่สำคัญบนซองบรรจุมีคำอวยพรเขียนว่าซุ่น (順) ที่แปลว่าคล่อง โล่ง ปราศจากอุปสรรค เน้นย้ำลงไปอีกด้วย

ไกวไกว กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์

ขนมกรุบกรอบยี่ห้อนี้ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1968 จัดว่าเป็นขนมที่ทุกคนนิยมชมชอบหรือขนมประจำชาติของคนไต้หวันเลยก็ว่าได้ เรียกว่าไม่มีใครไม่รู้จักขนมกรุบกรอบยี่ห้อนี้ลูกเล็กเด็กแดงเห็นชอบซื้อทานกันทั้งบ้านทั้งเมือง สิ่งที่น่าสนใจคือขนมยี่ห้อนี้ผลิตขึ้นมาไม่เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้นแต่อุปโภคด้วย มันไม่ได้เป็นไปเพื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแต่ทั้งสองอย่าง มันจึงเป็นขนมที่ตราตรึงอยู่ในดวงใจของคนไต้หวันเมื่อครั้งวัยเยาว์จวบจนปัจจุบัน

เมื่อเด็กๆเติบโตขึ้นพวกเขามีตำแหน่งการงานในหลากหลายวิชาชีพ เจ้าไกวไกว (乖乖) ได้ติดตามควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของพวกเขาเหล่านั้น สังเกตจากฝ่ายประสานงานของประสานงานของพิพิธภัณฑ์ผู้ดูแลผลงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกคนอาศัยเจ้าไกวไกว (乖乖) นี่แหละ มาวางไว้ในห้องหรือในจุดที่กำลังปฏิบัติงานเพื่อให้งานที่รับผิดชอบไม่ติดขัดและรอดพ้นอุปสรรคนานับประการ

ไกวไกว Easy Card

ล่าสุดอีซี่การ์ด (Easy Card) บัตรชำระแทนเงินสดสำหรับจ่ายค่าโดยสารรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ และจ่ายเงินซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อและร้านค้าต่างๆ ร่วมกับบริษัทขนมอบกรอบไกวไกว (乖乖) จัดทำบัตรอีซี่การ์ดเป็นพวงกุญแจนำโชคเป็นรูปถุงขนมไกวไกว ขนาดย่อส่วน 7×5 ซม. เป็นที่พออกพอใจทั้งแก่คนรุ่นเก่ารุ่นใหม่อย่างมาก เนื่องจากมันหมายถึงสภาพคล่องทางการเงินของผู้มีไว้ครอบครองชนิดที่เรียกได้ว่ารูดปรื้ดๆ ไม่ติดขัดกันเลยทีเดียว

Gen X และ Gen Y-Z ต่างมีความเชื่อที่ต่างกันในด้านรูปแบบและเนื้อหา ส่งผลให้เครื่องยึดเหนี่ยวที่เสริมส่งกำลังใจของ Gen Y-Z ต่างไปจากรุ่น Gen X โดยสิ้นเชิง แม้พวกคน Gen X หัวเก่าอนุรักษ์นิยมจะรังเกลียดชิงชังคนรุ่นใหม่อย่างไร แต่นั้นก็มิได้หมายความว่าพวกเขาล้มล้างความเชื่อดั้งเดิมหรือปฏิเสธความหมายเชิงวัฒนธรรมให้โง่เง่าล้าหลัง

ในทางกลับกันพวกเขาได้พัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรม ตามเหตุปัจจัยของยุคสมัยที่ความเร่งรีบกลายเป็นข้อจำกัดในระบบการแข่งขันเสรี เพราะพวกเขาเติบโตในช่วงเวลาที่โลกรอบตัวเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนในอดีตและการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ยิ่งทวีความรวดเร็วยิ่งขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าขนมกรุบกรอบ ไกวไกว (乖乖) จะช่วยให้การปฏิบัติงานของพวกเขาราบรื่นหรือไม่ก็ตามที

หากแต่รากเหง้าความเชื่อทางวัฒนธรรมที่เสริมส่งให้เกิดผลสำเร็จในการงาน ผลสำเร็จมวลรวมในเชิงมหภาค ซึ่งรับช่วงมาจากรุ่นสู่รุ่นยังคงดำรงอยู่สืบต่อไป ความคาดหวังของเราที่มีต่ออนาคตลูกหลานจึงไม่ใช่การพร่ำเพ้อถึงแต่น้ำร้อนที่เคยอาบ และก่นด่าว่าพวกเขาควรทำหรือไม่ควรทำอะไร

เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็คือเสาหลักของอนาคตอยู่ดี คนรุ่นเก่าคนรุ่น X อย่างเราๆ ต่างหากควรกลับมามองตัวเองเสียทีว่าสิ่งที่ทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้มีคุณค่าอะไรที่พวกเขาต้องเก็บรักษามันไว้ ถ้าไม่ ไม่เพียงพวกเขาจะโยนมันทิ้ง แต่พวกเขาไม่ต้องเคารพหรือแม้ยกมือไหว้พวกเราด้วยซ้ำ

ผลงาน jiandyin โดยมีขนมไกวไกว (乖乖) ว่างไว้บริเวณอุปกรณ์-ตู้ทำความเย็น

ว่าแล้วผู้เขียนได้แจ้งกับผู้ประสานงานพิพิธภัณฑ์ฯ ขอ ไกวไกวสีเขียว 2 ถุง เพื่อนำมาวางที่ชิ้นงานระหว่างรอแก้ไขปัญหาการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการวางระบบความดันกระแสไฟฟ้าที่ต้องสอดคล้องกับชิ้นงาน-อุปกรณ์ทำความเย็นซึ่งผลิตจากเมืองไทยแล้วส่งมาทางเรือถึงไต้หวัน เป็นปัญหาติดขัดด้วยความดันกระแสไฟฟ้าที่ประเทศไต้หวันแตกต่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตในไทยเพียง 10 hz แต่กลับส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ทั้งระบบอย่างคาดไม่ถึง

เหลือเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงพิธีเปิดนิทรรศการในรอบสื่อมวลชนกำลังจะเริ่มขึ้น ศิลปินกำลังตระเตรียมทุกสิ่งอย่างในห้องนิทรรศการให้พร้อมโดยไม่ขาดตกบกพร่อง และใจจดใจจ่อรอเครื่องแปลงไฟกำลังดันขนาด 220wx60hz ที่พิพิธภัณฑ์ฯสั่งซื้อไปเมื่อสามวันก่อนกำลังเดินทางมาถึง เพื่อเปิดจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ตู้กระจกทำความเย็นที่ติดตั้งโดดเด่นอยู่กลางห้องก่อนบรรดานักข่าวจะเดินมาถึงเพียงไม่กี่นาที

ถุงไกวไกว 2 ถุงที่เห็นถูกซ่อนไว้ใต้ตู้ทำความเย็นตลอดสี่เดือนในการแสดงนิทรรศการครั้งนั้น จวบจนวันนี้ผู้เขียนก็ยังไม่ได้ลิ้มรองรสชาติเจ้าไกวไกวซะที แม้ยังไม่ได้รับผลด้านโภชนาการแต่ก็ถือว่าได้รับผลอันปราศจากอุปสรรคนั้นไปแล้ว

ไกวไกว


บางกอกหลอกชั้น [Exhibition review] Part.2

baannoorg publication

[Interdisciplinary art]

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

บางกอกหลอกชั้น

ราว 5,000 ปีที่แล้วจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 10 ช่วงต้นของอาณาจักรทวารวดีเริ่มขึ้นในแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ตามบันทึกของหลวงจีนจี้ชิงที่เรียกอาณาจักรแถบนั้นว่าโต-โล-โป-ตี้ ในเวลานั้น กรุงเทพฯ ยังจมอยู่ใต้ทะเลโคลนตม โดยบางแห่งได้เริ่มแข็งตัวเป็นผืนแผ่นดินมากขึ้น มีป่าชายเลนไม้โกงกาง และเกิดแม่น้ำลำคลองน้อยใหญ่หลายสาขา เป็นเส้นทางคมนาคมออกสู่ทะเลอ่าวไทยขยายขึ้นเรื่อยๆ

ภาพแผนที่อ่าวไทยโบราณ ที่มา: http://paipibat.com/?p=3493

บางแห่งเป็นที่ดอนสูง มีผู้คนตั้งหลักแหล่งประปรายเป็นหย่อมๆ ห่างไกลกัน นักโบราณคดีได้ขุดพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยหินและโลหะตกค้างฝังดินและจมโคลนตมอยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้มีผู้คนยุคดึกดำบรรพ์เดินทางผ่านไปมาบ้างแล้ว [16]

ภูมิ-จินตนา, อวิกา สมัครสมาน, ทอผ้า 297×420/ 420×594 cm.,

ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 15 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรม ขึ้นขนานใหญ่ บ้านเมืองและรัฐรุ่นใหม่เติบโตขึ้นโดยรอบอ่าวไทย เช่น อโยธยาศรีรามเทพนคร พื้นที่บริเวณที่ราบลุ่มดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นทางน้ำกว้างใหญ่ไหลคดเคี้ยวเป็นรูปโค้งเกือกม้า (oxbow lake) ผ่านกรุงเทพฯ [17] ได้กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในฐานะเมืองทางผ่านและเป็นหน้าด่านสำคัญจวบจนเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนบ้านเรือนเก่าแก่ที่สุดในบริเวณนี้ปรากฏชื่ออยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรหรือกำสรวลศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นวรรณกรรมเก่าแก่มาแต่ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา

Cartography of Bangkok 1688-

เมืองบางกอกหรือกรุงเทพฯในปัจจุบัน เดิมทีหมายรวมดินแดนทั้งสองฟากแม่น้ำ (เจ้าพระยา) มิได้แยกเป็นฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี พื้นที่บริเวณนี้ปรากฏเป็นชุมชนบ้านเรือนขนาดย่อมที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำมาแต่อดีต เป็นจุดพักเรือนานาประเทศ

Something Like a Thing, Sometime Like Every Time, อนุพงศ์ เจริญมิตร, วีดิโอจัดวาง, สี, เสียง, วน

ผู้คนเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น จนเติบโตเป็นชุมชนเมืองขึ้นตามลำดับหลังการขุดคลองลัดบางกอก[18] สำเร็จในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2077-2089) ยังผลให้การค้าขายเติบโตมั่งคั่ง บรรดาพ่อค้าจากตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น จาม ชวา มาลายู และตะวันตก เช่น อินเดีย อาหรับ เปอร์เชีย อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส ฯลฯ

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

ต่างก็เดินทางเข้ามายังบางกอกและผ่านขึ้นเหนือสู่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก ครั้นสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091-2111) บางกอกก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมือง ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับกรุงหงสาวดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2112 [19]


เมืองบางกอกยังปรากฏบันทึกคำบอกเล่าในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต พ.ศ. 2182 (Chronicles of the Ayuthian Dynasty: Jeremias van Vliet, ผู้จัดการสถานีการค้าบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 2176-2199)

Jeremias van Vliet (1602–1663)

ปรากฏชื่อเมืองสำคัญตามความในพงศวดารฯตำนานเรื่องท้าวอู่ทองผู้สร้างเมืองต่างๆ เช่นเมืองลังกาสุกะ (Langhseca) เมืองสีคร (Lijgoor) เมืองกุย (Cuij) เมืองพริบพรี (Piprij) เมืองคองขุนเทียน (Chongh Cout Thiam) เมืองบางกอก (Banckocq) และเมืองอยุธยา (Ayuthian)


จะเห็นได้ว่าบางกอกมีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญ เป็นเมืองท่าหน้าด่านเข้าออกและเป็นสถานที่สำคัญที่สุดแห่งเดียวในราชอาณาจักรสยามที่มีป้อมปราการแข็งแรงป้องกันข้าศึกได้ ตามบันทึกจดหมายเหตุของราชทูตจากราชสำนักฝรั่งเศสนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise, 1663-1729)

เอกสารจากยุโรปหลายชิ้นเรียกป้อมปราการทั้ง 2 ฟากแม่น้ำนี้ว่า “ป้อมเมืองบางกอก” ในบันทึกของฟอร์บัง[20] กล่าวว่าที่ป้อมบางกอกทั้งสองฝั่งมีโซ่เหล็กขึงไว้ระหว่างป้อม เพื่อกันมิให้เรือใหญ่ผ่านไปมาได้ถ้าไม่ขออนุญาตเจ้าเมืองเสียก่อน [21]

กบฏมักกะสัน โดยสุพจน์ คุณานุคุณ, หนังสือการ์ตูน, 13x19cm. 1,000 เล่มๆละ 1 บาท

ครั้งเมืองกรุงเทพฯได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 โดยปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาราชธานีแห่งนี้ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา


จากนั้นในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนป้อมบางกอกฝั่งตะวันออกเสีย พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายชุมชนการค้าของชาวจีนและญวนในบริเวณนั้นให้ร่นไปอยู่ที่สำเพ็ง นางเลิ้งและท่าเตียน

บางกอกฝั่งตะวันออก สมัยต้นรัตนโกสินทร์

เพื่อก่อสร้างพระบรมมหาราชวังตลอดจนวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อพระนครและพระมหาปราสาทราชนิเวศน์สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2328 พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี แล้วพระราชทานนามพระนครใหม่นี้ว่า


กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์


นามพระนครที่ปรากฏในเอกสารหลายฉบับตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า กรุงเทพฯมีบรรพบุรุษเป็นทวาราวดีและศรีอยุธยาตามคติรามายณะ[22] ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนสร้อย “บวรทวารวดีศรีอยุธยา” เป็นอมรรัตนโกสินทร์

บางกอก, ราชันย์ กล่อมเกลี้ยง, พ่นพนัง, 10 x4 m.


จะเห็นได้ว่านามเมืองกรุงเทพฯนั้นหมายความถึงเมืองที่ท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้ เป็นเนรมิตกรรมอันยิ่งใหญ่เหนือความยิ่งใหญ่ทั้งปวง เป็นพระนครซึ่งเปรียบได้กับนครเทพวิมานของเหล่าทวยเทพ และเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครแห่งถวยเทพซึ่งมีความงดงามอันมั่นคงเจริญยิ่งและไม่มีผู้ใดรบชนะได้ มีความบริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการน่ารื่น รมย์อย่างยิ่ง และมีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมาสถิตสถาพร

หากลองพิจารณาภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ในฐานะสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเชิงนิรุกติศาสตร์ ภาพตัวแทนทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ช่วยให้เราทำความเข้าใจกรุงเทพฯได้อย่างไร? หนังสือบูรพานิยม (Orientalism, 1978) ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said, ค.ศ. 1935-2003) อธิบายอ้างอิงและสร้างความเข้าใจถึงแนวคิดเรื่องจิตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์

Bangkok Layer exhibition over view, photo by Anupong Charoenmitr

เนื่องจากสถานที่หรือเทศะของเมืองอย่างกรุงเทพฯ นั้นเคยและยังคงถูกจินตนาการไปพร้อมๆกับการเป็นภาพตัวแทนในงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น วรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์ ฯลฯ รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางของรัฐที่กำหนดทิศทางและนโยบายประเทศ ส่งผลให้จินตภาพแนวคิดและประสบการณ์ของปัจเจกที่เห็นต่างกลายเป็นปฏิปักษ์ ในมุมมองแบบศูนย์กลางที่พรรณนาถึงเมืองซึ่งมีความเป็นนิยัตินิยมทางสิ่งแวดล้อม (environmental determinism) และแนวโน้มของเมืองที่มีตัวแสดงและปัจจัยบางอย่างที่มีอิทธิพลมากเกินไป [23]


เมื่อการผลิตซ้ำจินตนาการทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองหลวงในลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้ แม้ในชีวิตประจำวันของปัจเจกบุคคล หรือแม้แต่การเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะที่มหาชนให้ความสนใจ การเปิดเผยสถาปัตยกรรมเชิงอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์อาจช่วยให้เรามองกรุงเทพฯ เมืองศูนย์กลางมหานครแห่งนี้ได้อย่างกว้างขว้างลึกซึ้งยิ่งขึ้นไม่น้อย

ประวัติศาสตร์หมายความ…, เซบาสเตียน ทายัค, บางกอกหลอกชั้นวารสาร ฉบับที่ 1/1 เมษายน, วีดิโอ, สี, เสียง, วน

อีกทั้งยังทำให้สิ่งที่เป็น ”สามัญสำนึก” ซึ่งเราคุ้นชินจนบางครั้งอาจทึกทักเอาว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ คล้ายกับเป็นธรรมชาติที่เชื่องชาว่าง่าย แต่สิ่งเหล่านี้อาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เรื่องธรรมดาที่ดูสามัญอาจกลายเป็นสิ่งที่น่าค้นหาไม่เพียงแค่ตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบเท่านั้น


การตีความและการสร้างความหมายใหม่ด้วยกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะชุดความจริงชุดหนึ่งที่นำมาใช้คลี่คลายชั้นตะกอนที่ทับถมกันกลายเป็นมหานครกรุงเทพฯที่เราคุ้นตาแต่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากเทศะเชิงประวัติศาสตร์ของมหานครแห่งนี้ซึ่งได้ถูกทำลายไปครั้งแล้วครั้งเล่า


การเรียนประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนคือพื้นฐานที่เป็นบัญญัติหวงห้ามมิให้ผู้ใดรื้อถอน หรือแม้แต่การตั้งคำถามก็ดูเป็นสิ่งไม่สมควรและเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษที่สร้างชาติโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงของชุมชนจินตกรรมตามทัศนะของ เบน แอนเดอร์สัน หลายครั้งอาจเลยเถิดไปว่าเป็นพวกชังชาติสำหรับพวกคลั่งชาติไปเลยก็มี

ภาพซ้าย ผู้ว่าการเมืองบางกอก Chevalier de Forbin (1656 – 1733) วราวุธ ศรีโสภาค 1685–1688, สีน้ำมัน, 70×60 cm. ภาพขวา Portrait of Claude de Forbin by Antoine Graincourt, 18th century

ลองขบกันคิดอีกครั้งว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพมหานครฯ ในปัจจุบันหากการปฏิวัติยึดอำนาจในปี คศ. 1688 ไม่เป็นผลสำเร็จและป้อมบางกอกสร้างเสร็จเปิดใช้งานตามวัตถุประสงค์ของมัน? เป็นไปได้ว่าป้อมแห่งนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาพื้นที่บางกอกฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็นพื้นที่ที่สำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์ พื้นที่เชิงเศรษฐกิจการค้าระดับนานาชาติทดแทนกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้


เพราะ [การไม่รู้ประวัติศาสตร์เท่ากับคุณตาบอดหนึ่งข้าง แต่การเชื่อประวัติศาสตร์อย่างไม่มีข้อกังขาเท่ากับคุณตาบอดทั้งสองข้าง] ตามที่อาจารย์ ญาณวิทย์ เกษตรศิริ กล่าว คุณว่าไหม?

ชีว-พจนานุกรม, หงจัง หลิน (PhD.), ระบายสีบนพนัง, ขนาดผันแปรตามพื้นที่, พจนานุกรมไทย-อังกฤษ, 420×297 cm.

เอกสารอ้างอิง

 16 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน? (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2548), 17.
 17 เรื่องเดียวกัน, 18.
 18 ในหนังสือเรื่องเก่าเล่าปัจจุบัน โดย โรม บุนนาค ระบุพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีมะโรง จุลศักราช 884 (พ.ศ. 2065) สมเด็จพระชัยราชาธิราช โปรดให้ขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกน้อยเวลานี้ ไปทะลุตรงปากคลองบางกอกใหญ่ คลองลัดบางกอกถูกน้ำกัดเซาะค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ... ดูรายละเอียดที่: https://www.thairath.co.th/content/124803
 19 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 41.
 20 เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2228 พร้อมกับคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแต่งตั้งเป็นราชทูตมาเจริญพระราชไมตรีกับพระนารายณ์มหาราช ฟอร์บัง ได้สมัครอยู่รับราชการเป็นผู้สร้างป้อมบางกอกและฝึกหัดทหารไทยตามยุทธวินัยฝรั่งเศส พระนารายณ์มหาราชได้ทรงตั้งให้เป็นนายพลผู้บัญชาการทัพเรือและทัพบก และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ออกพระศึกสงคราม ดูรายละเอียดใน: หม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล, ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 50 (ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 80) จดหมายเหตุฟอร์บัง (กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา, 2513), 5.
 21 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 50.
 22 สุจิตต์ วงษ์เทศ, กรุงเทพฯมาจากไหน?, 122.
 23 จิตติภัทร พูนขำ แปล, ภูมิรัฐศาสตร์: ความรู้ฉบับพกพา, (กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์, 2560), 32. 
29791162_1970179209965915_958286596208066560_o

เพียงแค่คำกล่าวอ้างบนฟางเส้นสุดท้าย

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

หากเรามองไปรอบๆพื้นที่ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม พื้นที่ที่ควรมีความหลากหลายทางความคิดภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเดียวกัน จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์ คนบางกลุ่มบางพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการของฝ่ายประชาธิปไตยมีอยู่ทั่วไป ทำไมการไม่ยอม รับความแตกต่างจึงใกล้ตัวเช่นนี้ และพวกเขากล่าวอ้างกันอย่างไร

อุดมการณ์ซ้าย-ขวานั้นเกิดขึ้นในโลกมานานแล้ว ฝ่ายขวาคือพวกนิยมเผด็จการ ต้องการความเป็นรัฏ ฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจสูงสุด อยู่ในกรอบระเบียบภายใต้คำสั่ง มีความสงบความมั่นคง เชิดชูอุดมการณ์ชาติ นิยม คลั่งชาติและมักมีทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เหยียดผิว เชิดชูเผ่าพันธุ์ชาติตัวเองสูงส่งกว่าใครอื่นเสมอ รวมทั้งมักยกย่องคนมีฐานะมีหน้ามีตาในสังคม โดยมองว่าคนยากคนจนคือพวกคนขี้เกียจ คนไร้การศึกษา น่าสงสาร-สมเพช โดยมากเป็นคนชั้นกลางที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมทางการเมือง อาทิกลุ่มที่ร่วมกันเป่านกหวีด ฯลฯ


ส่วนฝ่ายซ้าย หมายถึงพวกแหกกฎกติกา ที่เห็นว่าเป็นกรอบอันล้าหลัง และขาดซึ่งความเป็นเหตุเป็นผล เป็นนักเสรีนิยมที่ไม่ชอบการตีกรอบทางความคิด ให้ความสำคัญกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของคนยากคนจนและคนด้อยโอกาส โดยมองมนุษย์มีความเท่าเทียมกันและมองเห็นว่าความยากจนนั้นแท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากการถูกกีดกันให้คนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้โดยทัดเทียม เป็นผู้เรียกร้องการยอมรับความหลากหลายของเผ่าพันธุ์วรรณนา ปฏิเสธความคิดแบบชาตินิยม เพราะเชื่อว่ามนุษย์ในทุกสังคมมีที่มาจากความหลากหลายเชื้อชาติ


ในยามที่อุดมการณ์ขวาพิฆาตในสังคมไทยได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งโดยบุคคลสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนายทหารระดับสูง นักการเมืองสอบตกหรือสอบผ่าน ดารานักแสดงนักร้องหรือแม้แต่ศิลปินนักออกแบบผู้ปวารณาตนต่อกระบวนการชาตินิยม ฯลฯ

การให้ร้ายกระบวนการฝ่ายซ้ายให้ดูด้อยค่าด้อยราคา จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์การตอบโต้จากฝ่ายขาวชาตินิยมแบบสุดโต่ง ถูกนำกลับมาใช้อย่างมีนัยสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า คล้ายกับหนังม้วนเก่าที่กลุ่มคนบางประเภทพยายามนำมาฉายใหม่ หรือแม้แต่การผลิตซ้ำวาทกรรมเดิมๆ เพื่อหวังผลทางการเมืองและมุ่งให้เกิดความรุนแรง


วาทกรรมที่ว่านั้นหากสำริดผลขึ้นมาตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้ผลิตสร้าง มันสามารถขยายผลกลายเป็นเป็น ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังอูฐหรือผู้มีอำนาจและมีอิทธิพล เพื่อปลุกเร้ากระบวนการขวาพิฆาตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการต่อต้านและประชาทัณฑ์ผู้ที่เห็นต่างด้วยการประหัตประหารโดยเลือดเย็น และไม่เห็นแก่ความเป็นมนุษย์อีกต่อไป

ในทางกลับกันฟางเส้นสุดท้ายก็บังเกิดขึ้นกับกระบวนการฝ่ายซ้ายได้เช่นกัน เมื่อพวกเขาต้องแบกรับการกดขี่คุกคามจากฝ่ายขาวมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนบรรลุเป็นฉันทามติร่วมกันในการที่จะปลดแอกต่อสู่เพื่อความเป็นไทแก่ตนเองและเพื่อสังคมที่ดีกว่า

แน่นนอนว่าฟางเส้นสุดท้ายที่ว่านั้นมิได้มีเพียงเส้นเดียว เนื่องจากกลุ่มกระบวนการขวาและซ้ายมิได้มีเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ฟางเส้นนี้จึงเป็นฟางเส้นสำคัญเฉพาะแต่ละกลุ่ม แต่ต่างก็มีเป้าหมายร่วมกัน นั้นก็หมายความว่าฝ่ายขวาหรือผู้ครองอำนาจนำ ซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยมกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพื้นที่ครอบครองเชิงอำนาจของตนและพวกพ้องไว้อย่างเหนียวแน่น


ในขณะที่กระบวนการฝ่ายซ้ายจำเป็นต้องขยายพื้นที่ความเห็นชอบเชิงเหตุและผล และทำความเข้าใจต่อผู้เห็นต่างให้หันกลับมาเป็นแนวร่วมให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป้าหมายร่วมกันที่ว่าสังคมจะดีได้ด้วยการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ความมีเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ


จากกรณีศึกษาเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519 จะเห็นได้ชัดว่ากระบวนการขวาพิฆาต อ้างถึงฟางเส้นสุดท้ายหลายต่อหลายเส้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหมิ่นสถาบันฯ การทำลายพระพุทธศาสนา และการถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่การปกครองในลัทธิคอมมิวนิสต์ ดูมันเข้าอีหรอบพวกชังชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ในพ.ศ. นี้อย่างมีนัยสำคัญ

เพียงเพื่อสนองความเชื่อแบบสุดโต่งซึ่งนำไปสู่การกระทำอันไร้ซึ่งความเป็นมนุษย์ ที่กระทำต่อกระบวนการของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องถึงการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพวกเขามีฟางเส้นสุดท้ายเพียงเส้นเดียวคือ หลักการประชาธิปไตย


ตัวอย่างข้ออ้างของฟางแต่ละเส้นที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบเข่นฆ่า และประชาทัณฑ์บรรดานักเรียนนิสิตนักศึกษาอย่างบ้าคลั่งจากกระบวนการฝ่ายขวาพิฆาตในกรณี 6 ตุลาคม 2519


  • 1. หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา แต่ปรากฏว่าใบหน้าผู้แสดงของนักศึกษาคือ นายอภินันท์ บัวหภักดี เมื่อถ่ายภาพออกมาแล้ว มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชในเวลานั้นอย่างไม่คาดหมาย

  • 2. ต่อมาหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ได้เลือกเอารูปการแสดงละครของนายอภินันท์ที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุด เพื่อตีพิมพ์ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็วแล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งในแผนการของคอมมิวนิสต์
  • 3. สถานีวิทยุทหารทุกแห่งออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดมผู้รักชาติจำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล โดยอ้างเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง

  • 4. การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ กล่าวโดย กิตติวุฑโฒภิกขุ

  • 5. พระกิตติวุฒโฑ กล่าวว่านักศึกษาต้องการขับไล่พระถนอม ว่ามีแต่คอมมิวนิสต์เท่านั้นที่ไล่พระ จากนั้นสถานีวิทยุยานเกราะและ นสพ.ดาวสยาม ออกข่าวโจมตี ศนท. ไม่ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม

  • 6. กิตติวุฑโฒภิกขุ ย้ำว่าการบวชของพระถนอมครั้งนี้ได้กราบบังคมทูลขออนุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งการขอเข้ามาในเมืองไทยด้วย ดังนั้นพระถนอมจึงเป็นผู้บริสุทธิ์

  • 7. คุณหญิงเกษหลง สนิทวงศ์ นางสนองพระโอษฐ์ ได้แถลงว่า สมเด็จพระราชินีให้มาบอกว่าได้ทราบว่าจะมีคนใจร้ายจะมาเผาวัดบวรนิเวศ จึงทรงมีความห่วงใยอย่างมาก ขอให้ประชาชนช่วยกันดูแลป้องกันอย่าให้ผู้ใจร้ายมาทำลายวัด

  • 8. พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ จัดกำลังตำรวจเข้าอารักขาวัดบวรนิเวศฯ เนื่องจากเกรงว่ากลุ่มต่อต้านพระถนอมจะเผาวัด

  • 9. นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้แถลงว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จวัดบวรฯ กลางดึกแสดงให้เห็นว่าพระองค์ต้องการให้พระถนอมอยู่ในประเทศต่อไป

  • 10. นายส่งสุข ภัคเกษม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายขวา ได้ออกมาแถลงข่าวใส่ร้ายกลุ่มฝ่ายซ้ายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มของนายดำรงค์ ลัทธพิพัฒน์ และนายชวน หลีกภัย คือ ท่อน้ำเลี้ยงจ่ายเงินให้แก่ศูนย์นิสิต 8 แสนบาท

  • 11. ชมรมแม่บ้านเรียกร้องให้คงเรดาห์ของอเมริกาไว้ในประเทศไทย แทนที่จะเห็นว่าการตั้งเรดาห์ของสหรัฐเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศและรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน โดยชมรมแม่บ้านซึ่งก่อตั้งโดยทมยันตี

  • 12. กลุ่มแม่บ้าน เรียกร้องให้นาย สุรินทร์ มาศดิตถ์, นายชวน หลีกภัย และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี และให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคนโดยใช้กฎหมายป้องกันปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเด็ดขาด

  • 13. กิจการลูกเสือชาวบ้านนำโดย พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก” (คำให้การของสุรินทร์ มาศดิตถ์)

  • 14. ลูกเสือชาวบ้านเคลื่อนย้ายกำลังไปยังพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยอ้างว่าเพื่อถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเกรงว่าจะมีพวก” หนักแผ่นดิน” มาบุก
  • 15. พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ สั่งให้ประธานลูกเสือชาวบ้านแจ้งแก่บรรดา ลส.ชบ.ที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณพระบรมรูปทรงม้าว่า ให้ฟังสถานีวิทยุยานเกราะและชมรมวิทยุเสรีก่อนการเคลื่อนไหวโจมตี

  • 16. หนังสือพิมพ์ดาวสยามได้ประโคมข่าวเรื่องแผน 3 ขั้นตอนของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่จะยึดกรุงเทพฯ จากนั้นชมรมวิทยุเสรีก็รับเอาเรื่องนี้ไปประโคมในหมู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความหวาดวิตกว่าคอมมิวนิสต์จะยึดเมือง

  • 17. เกิดกระแสโจมตีการเคลื่อนไหวของ ศนท.อย่างรวดเร็ว โดยสถานีวิทยุยานเกราะเรียกร้องให้รัฐบาลฆ่าประชาชนสัก 30,000 คนเพื่อคนจำนวนสี่สิบสามล้านคน

  • 18. สมาชิกกลุ่มนวพลทั่วประเทศเดินทางเข้ามาที่วัดพระแก้ว และปฏิญาณตนต่อหน้าพระแก้วมรกตเพื่อปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์

  • 19. กลุ่มนวพลในนาม(ศูนย์ประสานงานเยาวชน) ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลจับกุมกรรมการ ศนท. ภายใน 72 ชั่วโมง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้นวพลจะดำเนินการขั้นเด็ดขาด

  • 20. นายเผด็จ ดวงดี ที่ปรึกษาของกลุ่มกระทิงแดง ได้เปิดเผยหลักการทำงานของกระทิงแดงว่า จำเป็นต้องใช้ระเบิดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้คงอยู่ในประเทศไทยต่อไป

  • 21. นายสุชาติ ประไพหอม ผู้นำกลุ่มกระทิงแดง ประกาศตั้งแนวร่วมต่อต้านจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์ และประกาศให้ไม่ให้ประชาชนใช้ถนนราชดำเนินซึ่งนักศึกษาใช้เดินขบวนถ้าไม่เชื่อจะไม่รับรองความปลอดภัย

  • 22. พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ บัญชาการให้ตำรวจตระเวนชายแดนที่ติดอาวุธหนักครบมือ เช่นปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง หรือ ปรส. และปืนครก บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงปืนดังรุนแรงตลอดเวลา ตำรวจประกาศให้นักศึกษายอมจำนน นักศึกษาหลายคนพยายามวิ่งออกมาข้างนอก จึงถูกประชาชนที่อยู่ภายนอกรุมประชาทัณฑ์


*หลังจากเหตุการณ์ นิสิตจุฬาฯ ประมาณ 3,000 คน ชุมนุมกันภายในบริเวณมหาวิทยาลัย โดยนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯในขณะนั้น ชี้แจงถึงเหตุการณ์จราจลที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 1. เรียกร้องให้นิสิตจุฬาฯ ออกชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด 3. ยืนยันว่าหากเกิดรัฐประหารพวกตนจะต่อสู้ถึงที่สุด 4. ยืนหยัดในการขับพระถนอมออกนอกประเทศ


เอกสารอ้างอิง

บันทึก 6 ตุลาDocumentation of Oct 6 https://doct6.com/learn-about/how/chapter-6

Parallel // ขนาน: จักรวาล คณิตศาสตร์ สังคมการเมืองและศิลปะ

baannoorg publication

บทความเรียบเรียงโดย ผิว มีมาลัย (จิระเดช มีมาลัย)

  • Parallel // ขนาน คือหัวข้อที่กล่าวถึงในครั้งนี้ แต่ก่อนที่เราจะไปถึงรายละเอียดต่างๆในหัวข้อนั้น เรามาทำความเข้าใจร่วมกันว่า บทความต่อไปนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดการทดลอง การแสวงหาความรู้และการสร้างกระบวน การเรียนรู้ข้ามศาสตร์สำหรับนักศึกษาทัศนศิลป์ และในวงเล็บสำหรับบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจพื้นที่คู่ขนานในสังคมร่วมสมัยอีกด้วย

โดยอาศัยวิธีวิทยาและแนวทางศึกษาจากผลงานของมิเซล ฟูโกต์ อันได้แก่ โบราณคดีแห่งความรู้ (The Archeology of Knowledge) และ วงศาวิทยา (Genealogy) เพื่อรื้อสร้าง เปิดโปง ลำดับชั้นทางความคิดที่ปรากฏอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และเผยให้เห็นกระบวนทัศน์เบื้องหลังการสถาปนาความจริง กรอบความคิดในลักษณะนี้ ต้องการอธิบายประวัติศาสตร์ของความคิด ความรู้ ว่าไม่ใช่การค้นพบความจริงเกี่ยวกับความรู้นั้นๆ หากเป็นเพียงการสะสมและการแตกหน่อ เป็นการแตกแขนงของชุดความรู้ที่ส่งต่อๆกันไปเหมือนการสืบสายทายาทวงศ์วาน ชุดความรู้หนึ่งจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานให้ชุดความรู้อีกชุดหนึ่งปรากฏเสมอ ความรู้จึงมิได้มีอยู่ด้วยตัวมันเองมันต้องอาศัยความรู้เดิมเป็นเชื้อเป็นหน่อให้มันเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์


ความรู้จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ปรากฏขึ้นและส่งต่อด้วยหลากหลายวิธี ฟูโกต์ชี้ว่าการทำความเข้าใจแนวคิดดังกล่าวส่งผลให้เรามองประวัติศาสตร์แตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นประวัติศาสตร์ของ ฟูโกต์จึงมิใช้หลักฐานของการมีอยู่ของความจริงซึ่งเป็นผลผลิตของยุคเหตุผล หรือยุคแห่งการรู้แจ้งทางปัญญา(Enlightenment) ที่อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสร้างทฤษฏีของความจริง ดังนั้นการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์จึงเป็นการวิเคราะห์อำนาจของวิทยาศาสตร์ที่บ่งการความจริงเท่านั้น และไม่มีความจริงใดๆ ที่ซ้อนอยู่ภายใต้ความรู้เนื่องจากความจริงเป็นเพียงผลผลิตของอำนาจที่ใช้สถาปนาความรู้ก็เท่านั้น และเป็นอำนาจที่พยายามทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นธรรมชาติอันแท้ทรู

Parallel // ขนาน

ความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน ขนาน ๑[ขะหฺนาน] น. หมู่ ลักษณะนามเรียกยาที่ปรุงขึ้น เช่น ยาขนานหนึ่ง ยา ๒ ขนาน.[ขะหฺนาน] ก. เรียงคู่กันไป เช่น เรือแล่นขนานกันไป วิ่งขนานกัน หรือเรียกเรือที่ผูกหรือตรึงติดเรียงคู่กันสำหรับข้ามฟาก ว่า เรือขนาน แพขนาน-ยนต์เรียก การตั้งชื่อ เช่น ขนานนาม ว่า ตั้งชื่อ. เช่นอิเหนาเมาหมัด น. เรียกเส้นตรงคู่ใด ๆ ซึ่งอยู่ห่างกันเป็นระยะเท่ากันโดยตลอด ว่า เส้นขนาน หรือเรียก ขฺนาน ว่า เทียบ

เมื่อพิจารณาคำว่า ขนาน ในเชิงภาษาจะพบว่า ขนาน บ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ ในคำคุณศัพท์ (adj) คำนาม (n.) และ กริยาที่ต้องการกรรม (Transitive Verbs) ขนานให้ความหมายว่า เท่าเทียมกัน เสมอกัน และการเปรียบเทียบ

  • parallel (adj.คุณศัพท์) ขนาน,เสมอ,เท่าเทียมกัน
  • parallel (n.นาม) เส้นขนาน,การเปรียบเทียบ
  • parallel (VT.กริยาต้องการกรรม) เสมอกัน,เปรียบเทียบ

คำว่า Parallel // ขนาน ถูกใช้อธิบายความรู้อย่างกว้างขวางในหลายสาขาวิชา นอกจากเพื่อขนานตัวมันเองแล้ว มันยังทำหน้าที่อธิบายจักรภพอีกเสียด้วย เช่น คำว่า parallel universe (จักรวาลขนาน) parallel universe นั้นถูกเรียกอีกอย่างว่า parallel dimension (มิติขนาน)


ในกรณีนี้ไม่ว่า dimension หรือ universe นั้นมีสิ่งขนานอยู่ไม่ว่าเราจะรับรู้มิติอื่นนอกเหนือการรับรู้ของมนุษย์หรือไม่ก็ตาม parallel universe (จักรวาลขนาน) ปรากฏในแนวคิดพุทธปรัชญาในมโนทัศน์เรื่องจักรวาลวิทยาจากคัมภีร์สุตตันตปิฎก มีการระบุถึงโลกธาตุอื่นๆ ว่ามีอยู่เป็นจำนวนมากในหมื่นจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงเกิดขึ้นในประเทศส่วนกลางแห่งชมพู-ทวีป ในจักรวาลนี้เท่านั้น (มหาโควินทสูตร : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ – 84000 พระธรรมขันธ์) คำกล่าวที่ว่า “มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น” ได้ก้าวข้ามตอบคำถามที่ว่ามีอยู่จริงหรือไม่ไปเรียบร้อยแล้ว

ภาพจักรวาลวิทยา ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความสนใจศึกษา parallel universe (จักรวาลขนาน) อย่างจริงจังท่านหนึ่งคือ Brian Greene (b.1963-) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ทฤษฏี (theoretical physicist) นักคณิตศาสตร์(mathematician)และ นักทฤษฎีสตริง(string theorist) แห่งมหาวิยาลัย Columbia University, New York


Greene ขนานลักษณะการซ้อมทับของโลกธาตุที่คลอบคุมทั้งหมดของ พื้นที่ เวลา สะสาร พลังงาน ข้อมูล(information) กฎฟิสิกส์และค่าคงที่รวมกันว่า multiverse (เป็นการสมาสคำ 2 คำคือ Multi (uni)verse) ซึ่งอธิบายความมีอยู่ของโลกธาตุอื่นๆ ด้วยฟิสิกส์ทฤษฏีการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

The Hidden Reality: Parallel Universes and the Deep Laws of the Cosmos

เมื่อพูดถึงนักฟิสิกส์ทฤษฏี โดยมากหลายๆคนรู้จักพวกเขาพอสมควร คือเมื่อเอ่ยชื่อขึ้นมาทุกคนต้องร้องอ๋อ… ตัวอย่าง 3 ท่าน เช่น Galileo Galilei (b.1564 – 1642) ใครชอบกินแอปเปิ้ลน่าจะรู้จักคนนี้ Isaac Newton (b.1643- 1727) และคนนี้สุดติ่งทุกคนรู้จักดีในภาพชายสูงวัยผมเผ้ากระเซิงและผูกเชือกรองเท้าไม่เป็น Albert Einstein (b.1879- 1955) ซึ่งลักษณะเช่นนี้พวกนักศึกษาศิลปะเรียกว่า “เซอร์

เราลองมาดูกันว่าทำไมนักฟิสิกส์ทฤษฏีจึงโหยหา Imagination กับคำกล่าวที่ว่า“จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” วลีทองของ Einstein ได้ถูกบิดเบือนตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาโดยเฉพาะกับระบบการศึกษาด้านทัศน์ศิลป์ในประเทศไทย


ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ของการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยบางแห่ง ผู้เขียนเคยประสบกับตัวเองที่นักศึกษาพูดขึ้นว่า”โถ…จารย์ไม่เห็นต้องอ่านเลยหนังสือ…จินตนาการสำคัญกว่าความรู้นะจารย์” ต้องเข้าใจว่านักฟิสิกส์ทฤษฏีทุกคนเป็นนักคณิตศาสตร์


Galileo (b. 1564- 1642) กล่าวไว้ว่า “พระเจ้าเป็นนักคณิตศาสตร์” ดังนั้นมนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติที่พระเจ้าสร้างได้ก็โดยใช้คณิตศาสตร์เท่านั้น เนื่องจากคณิตศาสตร์ใช้ตรรกศาสตร์สัญลักษณ์และสัญกรณ์คณิตศาสตร์ ซึ่งทำให้กิจกรรมทุกอย่างกระทำผ่านทางขั้นตอนและแบบจำลองที่ชัดเจนสัมบูรณ์(Absolute) โดยไม่จำเป็นต้องมีการอ้างถึงใดๆ จากโลกภายนอก นักคณิตศาสตร์หลายคนจึงทำงานเพื่อเป้าหมายเชิงสุนทรียภาพเท่านั้น G. H. Hardy (b.1877- 1947) แห่งวิทยาลัย Trinity มหาวิทยาลัย Cambridge มองว่าคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์เชิงศิลปะมากกว่าที่จะเป็นศาสตร์เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้


แรงผลักดันในการทำงานของนักคณิตศาสตร์มีลักษณะไม่ต่างไปจาก ศิลปิน กวีและนักปรัชญา แน่นอนว่าศิลปินย่อมขาดซึ่งจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานมิได้ ฟิสิกส์ทฤษฏีก็เช่นกันแม้พวกเขาจะมีความรู้ที่จะสามารถเข้าใจพระเจ้าได้ มันจะดูย้อนแย้งไปไหมหากให้เรามาลองจินตนาการดูว่า พวกนักฟิสิกส์ทฤษฏีปราศจากจินตนาการเสียแล้ว พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่าพระเจ้ามีหน้าตาเป็นอย่างไร หนังสือ A Mathematician’s Apology ของ Hardy แสดงให้เห็นถึงสุนทรีนยะภาพซึ่งคณิตศาสตร์ คือ ราชินีแห่งวิทยาศาสตร์และทฤษฏีจำนวน(Number theory) คือ ราชินีแห่งคณิตศาสตร์


หากใครอยากรู้จัก Hardy ให้ลองหาภาพยนตร์เรื่อง The Man Who Knew Infinity เรื่องราวของ Ramanujan (b. 1887-1920) หนุ่มชาวอินเดีย ผู้ไม่มีดีกรีการศึกษา ไม่มีฐานะร่ำรวย แต่เป็นผู้ชื่นชอบคณิตศาสตร์ ในช่วงปีค.ศ. 1914–18 ขณะทำงานวิจัยตีโจทษ์เกี่ยวกับทฤษฏีจำนวน และอนุกรมอนันต์(infinity) ที่มหาวิทยาลัย Cambridge มาดู

Ramanujan: Twelve Lectures on Subjects Suggested by his Life and Work ตีพิมพ์ในปี1940

ตอนนี้เรามาดู Parallel // ขนาน ในมิติทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ผ่านแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci, b.1891- 1937) มาร์กซิสสายวัฒนธรรมกัน (Cultural Marxism) จะพบว่าในผลงานของ กรัมชี่ ปรากฏการใช้คำที่ให้ความหมายในลักษณะเดียวกับ Parallel // ขนาน ด้วยเช่นกัน

โดยกรัมชี่เลือกใช้คำว่า pairs หรือคู่ แทนคำว่าขนานเพื่อบ่งชี้ถึงจำนวนที่มากกว่า 1 เสมอ เช่นเดียวกัน หากพิจารณาเชิงคุณศัพท์ pairs หรือคู่ที่ กรัมชี่ ใช้แสดงให้เห็นว่า pairs หรือคู่นั้นมีคุณลักษณ์เท่าเทียมกันเสมอกัน


กรัมชี่ มักใช้คำนี้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์เชื่อมกันตลอดเวลาระหว่างภาครัฐและประชาสังคม ตัวอย่างคำที่ใช้เป็น pairs หรือคู่ เช่น force-consent (การบังคับ-ยินยอมพร้อมใจ) authority-hegemony (อำนาจ-การครองอำนาจนำ) political society-civil society (สังคมการเมือง-การเมืองประชาสังคม) และอื่นๆ

กรัมชี่ เห็นว่าการปฏิวัติทางสังคมจะสำเร็จได้ต้องอาศัยแนวร่วมทางอุดมการณ์ที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ นี้แหละ การเลือกใช้คำในงานเขียนของ กรัมชี่มีความน่าสนใจและเผยให้เห็นด้วยว่า แทบไม่มีมาร์กซิสคนใดก่อนหน้ากรัมชี่ ให้ความสนใจศึกษามิติที่เชื่อมโยงกันอยู่ระหว่างการเมืองและวัฒนธรรมเลย


ประวัติศาสตร์ขนาน ในงาน กรัมชี่ศึกษา (Gramsci study) กับขบวนการนักศึกษาในอดีตมันก็ Parallel // ขนาน และเชื่อมโยงอยู่กับปัจจุบัน มีบันทึกว่าผลงาน กรัมชี่ศึกษา เข้ามาสู่สังคมไทยครั้งแรกในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปี 2516 ด้วยบทความเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ของ Gramsci เขียนโดย สุรพงษ์ ชัยนาม


จากนั้นขนวนการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา ที่มุ่งมั่นเดินทางลงพื้นที่ให้แสงสว่างกับคนชนบท และสนับสนุนให้เกิดการเรียกร้องกดดันให้รัฐแก้ความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายและปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมมาอย่างยาวนานหลังการรัฐประหาร (ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2516-2519) มีการรวมตัวกันประท้วงและเดินขบวนของกลุ่มคนชนบทและนักศึกษา


จนมาถึงฟางเส้นสุดท้ายที่นำไปสู่การล้อมปราบ และเข่นฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือข่าวแพร่สะพัดหรือสมัยนี้อาจเรียกว่า IO ว่า “มีคนใจร้ายจะเผาวัดบวรฯ” ขณะเดียวกับกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายขวาที่จัดตั้งแล้วเสร็จ เช่น กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนักเรียนช่าง และอื่นๆ รวมกันบุกเข้าต่อต้านขบวนการนักศึกษาจนเกิดการเผชิญหน้าทำร้ายนักศึกษาจนถึงขั้นเสียชีวิต และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งหลังจากที่นักศึกษาเข้าป่าการศึกษาพัฒนาทฤษฏีของ กรัมชี่ ได้ซบเซาตามไปด้วย


เหล่าปัญญาชนหัวก้าวหน้าไม่ได้ผลิตงานวิชาการที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ อย่างจริงจัง โดยส่วนมากจะให้สนใจมาร์กซิสในทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลินมากกว่า เมื่อสมัยก่อนสัก 30 ปีที่แล้วการต้องอ่านมาร์กซิสทฤษฎีของลัทธิเหมาและสตาลิน ดูจะเป็นเรื่องน่าเบื่ออยู่พอสมควรหรือบ้างอาจรู้สึกเป็นเรื่องไกลตัว


การที่กรัมชี่เชื่อมโยงการเมืองและวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน อธิบายให้เรามีความเข้าใจการเมืองได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมันถูกผลิตขึ้นซ้ำๆในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

ในช่วง สองทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีผลงานวิชาการไทยที่ใช้แนวคิด/กรอบการศึกษาของ กรัมชี่ มาประยุกต์ใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองและวัฒนธรรม มากมายหลายชิ้นและน่าสนใจ เช่น ปีพ.ศ. 2541 ธเนศ วงศ์ยานนาวา เสนอบทความวิชาการเกี่ยวกับ กรัมชี่ โดยการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์นิยมของกรัมชี่ในแบบที่มนุษย์อย่างเราๆทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์ประวัติศาสตร์ด้วยตนเองได้

ในปีพ.ศ. 2547 ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ เสนอผลงานวิทยานิพนธ์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำ” เพื่ออธิบายการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำของชนชั้นนำไทย


ในปีพ.ศ. 2548 ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา โดยใช้แนวคิดการพยายามสร้างภาวะการครองอำนาจนำ เป็นหลักในการอธิบายการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในขณะนั้น

Art/Life: One-year performance, 1983-1984

ส่วน Parallel // ขนาน ในผลงานทางทัศน์ศิลป์ที่น่าสนใจและหยิบยกขึ้นมาชิ้นหนึ่งคือผลงานที่ชื่อ Art/Life: One year performance, 1983-1984 ศิลปินผู้สร้างผลงานคือ Tehching Hsieh (b. 1950-) ศิลปินแสดงสดชาวไต้หวันที่เข้าเมืองและพำนักสร้างผลงานที่นิวยอร์กโดยผิดกฏหมาย ทำงานศิลปะความร่วมมือกับศิลปินหญิงคือ Linda Montano โดยวิธีการเปิดรับสมัคร


ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดในผลงานชิ้นนี้ เราลองมาทำความเข้าใจบริบทแวดล้อมของ Tehching Hsieh ในฐานะปรมจารย์ (master) ตัวจริงตามความหมายที่ Marina Abramovic ศิลปินแสดงสดผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะแสดงสดให้การยอมรับโดยดุษฏี Hsieh คือศิลปินผู้ที่กำหนดให้เส้นขนานระหว่างชีวิตและศิลปะมาบรรจบกัน ด้วยวิถีแนวทางและชีวิตประจำวันอย่างเราๆท่านๆ


Hsieh สร้างสรรค์ชุดผลงานอย่างต่อเนื่องปีต่อปีตั้งแต่งค.ศ. 1978-1999 ติดต่อกันเป็นการแสดงที่เล่นกับระยะเวลาอันยาวนาน (durational performance) และศิลปะที่แลกมาด้วยความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด (endurance art) ผลงานศิลปะแสดงสดของ Hsieh นั้นประกอบสร้างขึ้นจากองค์ประกอบอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมีวินัย การหมกมุ่น-ย้ำคิดย้ำทำ ดันทุรัง และความขบถทั้งในโลกศิลปะ โลกที่มีมนุษย์ผู้อื่นอาศัยอยู่และโลกจริงที่มีกฎหมายตีกรอบหวงห้ามเอาไว้ ผลงานการแสดงสดของเขาใช้ระยะเวลาในการแสดง 365 วันเต็มตลอดวันตลอดคืนแบบไม่มีการหยุดพัก และเขาได้สร้างสรรค์ผลงานต่อเนื่องเพียง 6 ชุดเท่านั้น ได้แก่

  • 1. One year performance 1978-79 (Cage Piece) การกักขัง 365 วัน
  • 2. One year performance 1980-81 (Time Clock Piece) การตอกบัตร 24 ชั่วโมง 365 วัน
  • 3. One year performance 1981-82 (Out Door Piece) การจรจัด 365 วัน
  • 4. Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) การตรึงและขนานกันไว้ 365 วัน
  • 5. One year performance 1985-86 (No Art Piece) การไม่ทำศิลป์ ไม่คุยศิลป์ ไม่ดูศิลป์ ไม่อ่านศิลป์ ไม่ไปงานแสดงศิลป์ 365 วัน
  • 6. Tehching Hsieh 1986-1999 ผลงานระยะยาว การกระทำศิลปะแต่ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเป็นเวลา 13 ปี

Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece)

ในผลงานชุดเชือก(Rope Piece) Tehching Hsieh และ Linda Montano ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจนเมื่อทั้งสองลงนามในเอกสารความเห็นชอบโครงการร่วมกัน จากนั้นชายหญิงคู่หนึ่งได้อาศัยชีวิตประจำวันและพื้นที่เกาะแมนแฮตตัน (Manhattan) มหานครนิวยอร์กเป็นแบบจำลองเชิงปฏิบัติการใช้ชีวิตร่วมกัน 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน


โดยมีเชือกความยาว 2.40 เมตร ผูกเอวทั้งสองไว้พร้อมข้อห้ามถูกเนื้อต้องตัว แน่นอนว่าผลงานชิ้นนี้ลุล่วงไปได้แม้ต้องพบอุปสรรคจากความแตกต่างระหว่างปัจเจก Hsieh ยอมรับว่าในฐานะผลงานศิลปะ Rope Piece ประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมยินดีอย่างมาก แต่มันกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในฐานะมนุษย์และความร่วมมือซึ่งมีความแตกต่างอย่างสุดขั้ว


Parallel // ขนาน ในผลงาน Art/Life One year performance 1983-84 (Rope Piece) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ผลงานชิ้นนี้สมาสพื้นที่ทางศิลปะและพื้นที่ชีวิตของเส้นขนานให้มาบรรจบกันที่ Vanishing Point


แม้ในความรู้สึกของเขาทั้งสองจะบอบช้ำเพียงใด หากเรามองในเชิงเทคนิคการบำเพ็ญเพียรหรือตบะอย่างเข้มข้นและวินัยแบบสุดติ่งบนข้อตกลงทางศิลปะร่วมกัน คือเครื่องมือและกระบวนการในการผลิตและสร้างสรรค์ผลงาน และชีวิตประจำวันก็คือวัสดุที่ศิลปินนำมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนั้นเอง


การขุดคุ้ยและสืบค้นประวัติศาสตร์ของความรู้เช่นนี้ได้เผยให้เห็นภาพของ Parallel // ขนาน ในหลากหลายมิติไม่มากก็น้อย จะเห็นได้ว่ากิจกรรมทางปัญญาของมนุษย์หลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทำให้เส้นหรือแม้แต่สิ่งที่ Parallel // ขนาน กันมาบรรจบกันได้

เอกสารอ้างอิง

(1) A Physicist Explains Why Parallel Universes May Exist https://www.npr.org/2011/01/24/132932268/a-physicist-explains-why-parallel-universes-may-exist
 (2) การศึกษาเชิงวิเคราะห์ความคิดเรื่อง จักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก, เพ็ญแข กิตติศักดิ์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บัณฑิตวิทยาลัย 2529
 http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/21509
 (3) ทำไมต้องฟิสิกส์ทฤษฏี สิขรินทร์ อยู่คง (Sikarin Yoo-Kong) 24 March 2016
 https://medium.com/@sikarinyookong/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%8F%E0%B8%B5-why-theoretical-physics-1707196a12db
 (4)อันโตนิโอ กรัมชี่ : มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรมกับการศึกษาโครงสร้างส่วนบน
 บทความวิชาการTagged การศึกษาโครงสร้างส่วนบน, มาร์กซิสเชิงวัฒนธรรม ผู้เขียน วรวิทย์ ไชยทอง, อันโตนิโอ กรัมชี่ 28 พฤศจิกายน 2013
 https://armworawit.wordpress.com/2013/11/28/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AD-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%88-%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81/
 (5)กรัมชีกับการเมืองไทย: อำนาจเก่ากำลังจะตาย อำนาจใหม่ยังไม่สถาปนา
 ประชาไท / ข่าว
 https://prachatai.com/journal/2014/06/54315
 (6)บทบาทและความสำคัญของคณิตศาสตร์ในวิทยาศาสตร์
 2 ธันวาคม 2554 ผู้เขียน สุทัศน์ ยกส้าน
 https://mgronline.com/science/detail/9540000149053
 (7)รามานุจัน’ อัจฉริยะเบื้องหลัง ‘อินฟินิตี้ มติชนรายวัน ผู้เขียน วจนา วรรลยางกูร, 17 พฤษภาคม 2559
 https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_139390
 (8)NYC-Based Artist Tehching Hsieh: When Life Becomes A Performance
 https://theculturetrip.com/north-america/usa/new-york/new-york-city/articles/tehching-hsieh-when-life-becomes-a-performance/
 (9)Tehching Hsieh
 https://www.tehchinghsieh.com/artlife-oneyearperformance1983-1984
 (10)ศิลปะบำเพ็ญทุกข์ขั้นสุดของ Tehching Hsieh ศิลปินไต้หวัน ผู้เป็นมาสเตอร์ของ Abramović
 4 January 2018 Wassachol Sirichanthanun, LIFEMATTERS
 https://thematter.co/life/tehching-hsieh-people-you-should-know/42892